
เอ็มโอยู43ชนวนเดือดไทย-กัมพูชา
สถานการณ์บริเวณแนวชายแดนไทย-กัมพูชายังตึงเครียด หลังจากที่เกิดการปะทะกันระหว่างทหารไทยกับทหารกัมพูชารุนแรงถึงขนาด "สงครามย่อย" เลยทีเดียว
และเมื่อพูดถึงการกระทบกระทั่งกันระหว่างไทย-กัมพูชา ก็หนีไม่พ้นที่จะกล่าวถึง "เอ็มโอยู 2543" เจ้าปัญหา ซึ่ง "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" คัดค้านและต้องการให้รัฐบาลยกเลิก
แล้วเจ้า "เอ็มโอยู 2543 " ที่ว่านี้ มันคืออะไรกันแน่
"เอ็มโอยู 2543" มีชื่อเต็มว่า "บันทึกลงนามความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชา" ลงนามที่กรุงพนมเปญ ระหว่าง "ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร" รมช.ต่างประเทศ ในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย และนายวาร์ คิม ฮง ที่ปรึกษาฝ่ายกิจการชายแดนของกัมพูชาเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2543 โดยมีสาระสำคัญว่าด้วยการสำรวจและการจัดทำหลักเขตแดนทางบก
แล้ว...มีอะไรบ้างใน "เอ็มโอยู 2543"
ไทยและกัมพูชาตกลงกันว่า วิธีการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนจะดำเนินการในแนวทางตามเอกสารสำคัญ คือ
1.อนุสัญญาระหว่างกรุงสยามและฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1904
2.สนธิสัญญาระหว่างพระเจ้าแผ่นดินแห่งกรุงสยามและประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ.1907
3.แผนที่ต่างๆ ซึ่งเป็นผลงานของคณะกรรมการปักปันผสม สยาม-ฝรั่งเศส (ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามหนังสือสัญญาทั้งสอง) ในการปักปันเขตแดนตลอดจนเอกสารอื่นๆ ซึ่งเกี่ยวโยงกับหนังสือสัญญาทั้งสอง
โดยไทยและกัมพูชาจะดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (Joint Boundary Commission : JBC) เพื่อรับผิดชอบการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกร่วมกัน
ทั้งนี้ไทยและกัมพูชาตกลงจะให้เจบีซีจัดตั้งคณะอนุกรรมการด้านเทคนิคเพื่อสำรวจแผนเขตแดนและเสนอตำแหน่งที่จะทำหลักเขตแดนไทยและกัมพูชา
และตกลงกันว่า ในขณะที่กำลังสำรวจเขตแดน จะต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในสภาพแวดล้อมของบริเวณพื้นที่เขตแดน
ซึ่งที่ผ่านมา "รัฐบาลอภิสิทธิ์" ยืนยันตลอดว่า "เอ็มโอยู 2543" มีประโยชน์หลายประการ ดังนี้
- มีการสำรวจเพื่อหาหลักเขตแดน ที่ได้จัดทำไปแล้ว 73 หลัก ปัจจุบันค้นพบ 48 หลัก เห็นตรงกันทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชาว่าอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง 33 หลัก และเห็นไม่ตรงกัน 15 หลัก
- แม้การสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนไทย-กัมพูชา จะคืบหน้าไปช้ามาก แต่เอ็มโอยู 2543 ก็เป็นหลักประกันให้ไทย-กัมพูชา ได้ดำเนินการต่อๆ ไป และเอ็มโอยูยังเป็นหลักประกันให้ไทยทักท้วงกัมพูชาได้ในกรณีที่มีการทำถนนและการสร้างสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหาร
- เอ็มโอยู 2543 เป็นหลักประกันให้ไทย-กัมพูชาร่วมมือกันดำเนินการโดยไม่ต้องมีประเทศอื่นๆ หรือองค์กรระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง แทรกแซง
- การดำเนินการของเจบีซีตามแนวทางเอ็มโอยู 2543 จะไม่นำไปสู่การปักหลักเขตแดนในทันทีแต่อย่างใด เพราะในเรื่องดังกล่าวต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา
ที่สำคัญเอ็มโอยู 2543 ฉบับนี้เป็นหลักประกันไม่ให้ไทยต้องสูญเสียดินแดนในพื้นที่ของปราสาทพระวิหารหรือพื้นที่อื่นๆ ซึ่งมีการอ้างสิทธิเหนือดินแดนจากกัมพูชา
แต่ในส่วนของ "พันธมิตร" กลับคัดค้านและต้องการให้ยกเลิกเอ็มโอยู 2543 โดยเหตุผล 5 ข้อหลักๆ คือ
1.เอ็มโอยู 2543 มีการระบุให้ไทย-กัมพูชา สำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกตามแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน ตลอดแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ทำให้ไทยต้องสุ่มเสี่ยงเสียดินแดนอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
2.งดเว้นดำเนินการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมพื้นที่ชายแดน โดยฝ่ายกัมพูชานอกจากจะรุกล้ำและยึดครองดินแดนเพิ่มเติมไทยแล้ว กัมพูชายังร้องเรียนกับไทยและนานาชาติกล่าวหาว่าไทยเป็นฝ่ายละเมิดเงื่อนไขนี้ตามแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน โดยที่ฝ่ายไทยไม่ได้โต้แย้งหลายครั้ง
3.ให้ระงับข้อพิพาทใดๆ ที่เกิดจากการตีความหรือการบังคับใช้เอ็มโอยู 2543 โดยสันติวิธีด้วยการปรึกษาหารือและการเจรจา ทำให้กัมพูชาเหิมเกริมรุกล้ำและยึดครองดินแดนไทยมากขึ้น
4.ไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาขัดต่อรัฐธรรมนูญ
5.เป็นเอกสารเริ่มต้นที่ทำให้เกิดเอกสารหลายชนิดที่มีข้อผูกพันแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน
ทั้งนี้ "พันธมิตร" ต้องการให้ยึดตามสนธิสัญญาระหว่างสยามกับฝรั่งเศส (ค.ศ.1904 และ ค.ศ.1907 ) และยึดสันปันน้ำเป็นเขตแดน และผลงานการสำรวจและปักปันระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ที่ยึดสันปันน้ำและหน้าผาเป็นเส้นเขตแดน
ส่วน "รัฐบาล"หรือ "พันธมิตร" ใครผิดใครถูก ต้องรอดูกัน
**โต๊ะข่าวการเมือง สำนักข่าวเนชั่น**