
จากยุทธนาวีซูสีไทเฮาสู่มังกรผงาดฟ้า(1)
อีกครั้งหนึ่งที่ดิฉันพร้อมด้วยคณะผู้แทนจากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยได้ไปเยี่ยมเยียนกึ่งดูงานสื่อแดนมังกรในมณฑลที่คนไทยไม่ค่อยได้ไปท่องเที่ยวมากนัก หลังจากเคยตะลอนชมเมืองโบราณตามเส้นทางสายแพรไหมหรือเส้นทางที่พระถังซำจั๋งจาริกจากเมืองซีอานหร
ระหว่างนั้น ดิฉันมีโอกาสได้ชมภูเขาเพลิงที่เขตปกครองตนเองอูยกูร์ มณฑลซินเกียง รวมทั้งได้ชมเมืองโบราณทูลู่ฟาน ซึ่งเคยรุ่งเรืองสุดๆ ในสมัยพระเจ้าถังไท่จงฮ่องเต้ มหาราชแห่งมหาราชแห่งอาณาจักรต้าถังเมื่อกว่าสองพันปีล่วงมาแล้ว
ที่สำคัญมีโอกาสตามรอยเส้นทางวรรณกรรมกำลังภายในของจีน จาก "นางพญาผมขาว", "ตำนานอักษรกระบี่" นิยายกำลังภายในเรื่องแรกของกิมย้ง "เหยี่ยวนรกทะเลทราย"ของโกวเล้ง จนถึง "มังกรคู่สู้สิบทิศ" ของหวงอี้ แปลโดย น.นพรัตน์ นักแปลหนังสือกำลังภายในมือหนึ่ง
ส่วนการเดินทางเยือนแดนมังกรคราวนี้ ดิฉันและคณะนักข่าวได้ตะลอนชม 6 เมืองใน 3 มณฑลทางตะวันออกเฉียงเหนือที่อยู่ติดทะเลเหลืองและทะเลป๋อไห่ ซึ่งเหมือนกับสวรรค์บันดาล เพราะบังเอิญเป็นเส้นทางโบราณนอกด่านที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานในช่วงราชวงศ์สุยและราชวงศ์ถัง ยุคไล่เลี่ยกับอาณาจักรโบราณซินเกียงที่ได้ไปเยือนเมื่อสองปีก่อนหน้า
อีกทั้งมณฑลซานตงหรือชานตุงและมณฑลเหลียวหนิง เคยเป็นสมรภูมิอันดุเดือดกลางทุ่งหญ้าอันกว้างใหญ่ของชนเผ่าต่างๆ รวมไปถึงชนเผ่าที่เป็นบรรพบุรุษของชาวแมนจู ดังปรากฏในหนังสือเรื่อง "มังกรคู่สู้สิบทิศ" และ "จอมคนแผ่นดินเดือด" ของหวงอี้ ก่อนจะกลายเป็นยุทธนาวีใหญ่ระหว่างรัสเซียกับญี่ปุ่นในสมัยศตวรรษที่ 19 เพื่อแย่งกันยึดครองพื้นที่ที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์แห่งนี้ ขณะที่พันธมิตร 8 ประเทศก็เข้ามายึดครองเมืองท่าสำคัญที่นี่ในฐานะดินแดนกึ่งอาณานิคม แต่เมื่อจีนฟื้นจากการเป็นยักษ์หลับกลายเป็นมังกรผงาดฟ้า ภูมิภาคนี้ก็กลายเป็นเมืองเศรษฐกิจใหญ่ของประเทศทันที
ดูเหมือนว่าการย้อนอดีตกลับไปยังสมรภูมิโบราณกลางทุ่งหญ้าอันกว้างใหญ่ไพศาลค่อนข้างจะสมจริงสมจังและมีจินตนาการอันบรรเจิดมากขึ้น เมื่อพวกเรามีคุณโจเซฟหรือโจ อดีตนักข่าวหนังสือพิมพ์กวงหมิงเป้าประจำออสเตรเลียนาน 5 ปี เป็นมัคคุเทศก์นำทาง ไหนจะชื่อแซ่ที่เข้ากับบรรยากาศเป็นที่สุด เพราะชื่อจริงของคุณโจก็คือ "จวิน" ที่แปลว่าทหาร แถมยังแซ่ไต้ที่แปลว่าสงบ แปลคร่าวๆ ก็คือวงศ์ทหาร เพราะพ่อเป็นทหารปลดแอกมาก่อน หนำซ้ำคุณโจยังมีรูปร่างสูงใหญ่ หน้าตาเหมือนลูกผสมมองโกลหรือพวกชนเผ่าโบราณ แต่เจ้าตัวยืนยันหนักแน่นว่าเป็นชาวฮั่น 100 เปอร์เซ็นต์
"ตามรอยเส้นทางโบราณ ชมฐานทัพ 2 หญิงเจ้าแผ่นดิน เสพย์อาหารฮ่องเต้ ขนมหวานของโปรดซูสีไทเฮา สัมผัสหมูพะโล้กวีเอกซัวตังปอและเหมาเจ๋อตง สุกี้เนื้อแพะของมองโกล"
นี่คือบทสรุปของการเยือน 6 เมือง 3 มณฑลครั้งนี้ ซึ่งแม้ธรรมชาติจะแสนสวยงาม แต่คนที่ชอบศึกษาประวัติศาสตร์จีนอย่างดิฉันแล้ว การไปสัมผัสดินแดนที่เคยเป็นเขตยึดครองของพันธมิตร 8 ประเทศ และญี่ปุ่น แต่ละแห่งล้วนตอกย้ำความหดหู่เมื่อนึกย้อนถึงประวัติศาสตร์ช่วงที่สะท้อนถึงความอ่อนแอของราชวงศ์ชิงสมัยพระนางซูสีไทเฮา
เมืองแรกที่พวกเรามีโอกาสเปิดหูเปิดตาก็คือเมืองชิงเต่า หรือ "เกาะสีเขียว" เมืองสารพัดฉายาอย่าง "ยุโรปแห่งเอเชีย", “ไข่มุกแห่งทะเลเหลือง” และ "สวิตเซอร์แลนด์แห่งเอเชียตะวันออก" เป็นเมืองท่ายุทธศาสตร์ใหญ่อันดับ 3 ของประเทศ ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของมณฑลซานตงหรือชานตุง ติดทะเลเหลือง ตรงข้ามกับเกาหลีใต้ คนไทยส่วนใหญ่ที่นิยมดูหนังกำลังภายในยุคก่อน ต่างคุ้นชื่อนี้ดี จากภาพยนตร์เรื่อง "นักชกจากชานตุง" และเรื่องของขบวนการรักชาติต่อต้านญี่ปุ่นและทหารต่างชาติ 8 ประเทศที่มายึดครองดินแดนนี้
มณฑลนี้ยังมีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะเป็นบ้านเกิดของขงจื้อด้วย เสียดายที่พลาดโอกาสไปเหยียบบ้านเกิดของมหาปราชญ์ผู้นี้ เนื่องจากอยู่ไกลเกินไป ไม่เช่นนั้นคงมีเรื่องคุยอีกเยอะ
ความที่เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ทางทะเล เป็นที่ตั้งของฐานทัพเรือที่มีกองเรือดำน้ำใหญ่ที่สุด ทั้งยังเป็น 1 ใน 5 เมืองท่าใหญ่ที่สุดที่ต่างชาติเคยผลัดกันยึดครอง เมืองซิงเต่าซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปี 2434 จึงได้ชื่อว่าเป็นเมืองเศรษฐี ก่อนจะถูกเยอรมนียึดครองจนถึงปี 2457 จากนั้นก็ตกอยู่ใต้การยึดครองของทหารลูกพระอาทิตย์ ก่อนที่สหรัฐจะเข้ามาใช้เป็นฐานทัพเรือนานถึง 36 ปี กระทั่งจีนยึดคืนในปี 1922
สถาปัตยกรรมและอาคารบ้านเรือนในชิงเต่าจึงออกสไตล์เยอรมนี รัสเซีย และยุโรปอยู่มาก เผลอๆ อาจคิดว่ากำลังท่องอยู่ในยุโรปก็ได้
ถึงแม้ชิงเต่าจะมีชื่อเสียงลือเลื่องทั้งในเรื่องชายทะเลอันงดงาม เมืองท่ายุทธศาสตร์ เมืองอุตสาหกรรม และแหล่งผลิตเบียร์ชิงเต่า เบียร์ยี่ห้อเก่าแก่อายุกว่า 100 ปีของจีนที่ส่งขายไปทั่วโลก แต่สถานที่ที่ดิฉันประทับใจมีอยู่ 2 แห่งด้วยกัน สถานที่แรกก็คือบ้านพักแห่งสุดท้ายของอดีตประธานาธิบดีเจียง ไคเช็ค ผู้นำรัฐบาลก๊กมินตั๋ง ก่อนจะถูกพรรคคอมมิวนิสต์ขับไล่จนต้องเตลิดหนีไปไต้หวัน บ้านซึ่งคล้ายกับป้อมปราการหินอันแข็งแกร่งสไตล์โรมและกรีก ตั้งอยู่ริมชายหาดอันงดงาม สร้างโดยพ่อค้ารัสเซีย แต่ได้ขายให้พ่อค้าอังกฤษผู้หนึ่ง ก่อนจะถูกเจียง ไคเช็ค ยึดไป
คฤหาสน์ที่คล้ายป้อมหินใหญ่แห่งนี้ เดิมชื่อบ้านฮวาสือ หรือบ้านหันดอกไม้ (หันมาจากเหลาซาน คล้ายลายดอกไม้) ต่อมาเรียกอีกชื่อว่าบ้านเจียงไคเช็ค มี 6 ชั้นด้วยกัน ชั้นใต้ดินเป็นห้องครัวและห้องคนใช้ ชั้นที่หนึ่งเป็นห้องประชุมและห้องรับแขก ช่วงที่รัฐบาลก๊กมินตั๋งยังรบกับคอมมิวนิสต์เมื่อปี 2489 เจียง ไคเช็ค เคยมาประชุมร่วมกับนายพลหลายคนที่ชั้นนี้ ชั้น 2 เป็นห้องนอนเล็กๆ ของเจียง ไคเช็ค ชั้น 3 เป็นห้องดื่มกาแฟและห้องหนังสือ ชั้นบนสุดเป็นสถานที่ชมวิวทะเล
ที่น่าขันก็คือไม่ใกล้ไม่ไกลจากบ้านเจียง ไคเช็ค แค่เดินอ้อมไปยังอีกด้านหนึ่งของอ่าวก็เป็นเรือนพักฤดูร้อนของอดีตประธานเหมา เจ๋อตุง และผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์หลายคน ที่เป็นคู่ปรับตลอดกาลของผู้นำจีนคณะชาติ
สถานที่ท่องเที่ยวสุดประทับใจแห่งที่สองก็คืออารามเหลาซาน หรืออารามของไท่เสียงเหลากุน ผู้ก่อกำเนิดลัทธิเต๋าเมื่อกว่า 2,000 ปีมาแล้ว มีเนื้อที่กว่า 300 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ที่เขาเหลาซานห่างจากเมืองชิงเต่าประมาณ 30 กิโลเมตร
ในสายตาของดิฉันแล้ว อารามเหลาซานตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีฮวงจุ้ยเป็นเลิศ ด้านหน้าเป็นทะเล ที่มีชายหาดสุดแสนสะอาดสวยงาม โดยเฉพาะยามพระอาทิตย์ดวงโตสีแดงก่ำกำลังจะลับขอบฟ้าตรงที่ผืนน้ำจรดแผ่นฟ้า ด้านหลังเป็นทิวเขาสลับซับซ้อนที่มีชื่อเสียงของชานตุง โดยยอดเขามีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,133 เมตร อาจเป็นเพราะชัยภูมิดีนี่เอง โบราณจึงยกย่องว่าเขาเหลาซานเป็น "วิมานแมนของมวลหมู่เทวดา” และเป็นที่ตั้งของอารามนักพรตลัทธิเต๋าที่เก่าแก่และศักดิ์สิทธิ์ที่สุด นอกจากนี้ บริเวณนี้ยังมีแร่น้ำพุที่ใช้ทำเบียร์ชิงเต่าอีกด้วย
บันทึกในสมัยโบราณได้กล่าวถึงทิวทัศน์อันงดงามของภูเขาเหลาซานไว้ถึง 12 แห่ง เช่น เขากบเขียว (ชิงวาฉือ), แม่น้ำแปดสาย (ปาต้าเหอ), น้ำตกแอ่งมังกร (หลงถันปู้) ฯลฯ แต่ดิฉันมีโอกาสชมเฉพาะที่อารามเหลากุนซึ่งสร้างขึ้นมาใหม่เลียนแบบอารามเก่าที่ผุพังไปแล้ว บริเวณรอบอารามเต็มไปด้วยความสงบ หลากด้วยพันธุ์ไม้ใหญ่ บางต้นอย่างเช่นต้นปังหรือต้นเมเปิลที่ใบเป็นสีแดงสลับเหลือง เชื่อกันว่ามีอายุถึง 1,500 ปี ผ่านประวัติศาสตร์ที่เคยรุ่งเรืองและตกต่ำมาหลายยุคหลายสมัย
นอกจากนี้ ยังเล่าลือกันว่าไม้ใหญ่หลายต้นที่อารามศักดิ์สิทธิ์นี้มีความศักดิ์สิทธิ์เช่นกัน บางต้นใครได้สัมผัสแล้วจะมีครอบครัวสุขสันต์ หินบางก้อนก็ศักดิ์สิทธิ์ สาวโสดรายใดได้สัมผัสและอธิษฐานขอได้พบคู่ครองก็จะสมปรารถนา นักท่องเที่ยวจึงแห่กันมาสัมผัสบรรดาต้นไม้และหินศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้เพื่อให้สมปรารถนาในพรที่ขอไว้
ดิฉันเสียดายอยู่อย่างเดียวว่าเขาเหลาซานอันศักดิ์สิทธิ์และงดงามสุดจะบรรยาย ประดุจภาพ "เขาเงาเงื้อมชะง่อนชะโงก" ราวสวรรค์สร้างของจิตรกรจีน อาจจะถูกทำลายลงในไม่ช้าไม่นานจากความโลภและการทุจริตคอรัปชั่นของข้าราชการจีนที่รู้เห็นเป็นใจกับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ปล่อยให้ทลายภูเขาลูกแล้วลูกเล่าเพื่อสร้างหมู่บ้านจัดสรร จนทัศนียภาพคลายความงามไปมาก ทางการเองให้คำรับรองว่าขณะนี้ได้สั่งห้ามการทลายภูเขาเพื่อสร้างหมู่บ้านจัดสรรแล้ว แต่โครงการใดที่ทำอยู่แล้วก็ให้ทำต่อไป ซึ่งก็ไม่มีหลักประกันว่าคำสั่งนี้จะมีคนปฏิบัติตามหรือไม่ ในเมื่อรู้ๆ กันอยู่ว่าเงินสามารถจ้างผีโม่แป้งได้
จากเมืองชิงเต่า พวกเราได้ไปชมเมืองเว่ยไห่ มณฑลเดียวกัน สมญา "เกาหลีแห่งเมืองจีน" แม้จะเป็นเมืองระดับรองอยู่ทางตะวันออกสุดของชานตุง แต่ก็เป็นเมืองท่า และเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญทางเหนือในสมัยจิ๋นซีฮ่องเต้ และในสมัยราชวงศ์หมิง เคยเป็นฐานทัพเรือสมัยพระนางซูสีไทเฮา เคยถูกอังกฤษยึดครอง ระหว่างปี 2441-2473 ระหว่างนั้นได้เปลี่ยนชื่อเป็นเวยไห่เว่ย หรือป้อมเว่ยไห่ หรือพอร์ตเอ็ดเวิร์ด แต่เมืองนี้ไม่ได้รับการพัฒนาเหมือนเขตเช่าที่ฮ่องกง เนื่องจากยังอยู่ในเขตอิทธิพลของเยอรมนี อีกทั้งยังถือเป็นเขตกันชนระหว่างอังกฤษกับรัสเซียด้วย
สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของเว่ยไห่ที่ไม่ควรพลาดก็คือนั่งเรือไปเกาะหลิวกง ซึ่งเป็นฐานทัพเรือและกองทัพเรือแห่งแรกที่ตั้งขึ้นในสมัยพระนางซูสีไทเฮา แต่ถูกอังกฤษบังคับเช่าเมื่อปี 2441 เนื่องจากเป็นเกาะยุทธศาสตร์ที่ง่ายต่อการบุกเทียนสินและปักกิ่ง ปัจจุบันแม้จะยังคงเป็นฐานทัพเรือที่มีทหารประจำการราว 1 กองพัน แต่ก็ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอีกด้วย มีอนุสาวรีย์ของเจิ้งเหอ แม่ทัพเรือผู้ยิ่งใหญ่ที่นำกองเรือสำรวจทะเลอันไกลโพ้นเป็นเวลานานถึง 28 ปี ตั้งตระหง่านโดยหันหน้าสู่ทะเล และยังคงไว้ซึ่งกองบัญชาการฐานทัพโบราณ ที่ยังคงปักธงเหลืองลายมังกร สัญลักษณ์ของฮ่องเต้ เรียงรายเป็นแนวยาว ภายในกองบัญชาการยังมีสถานที่ที่แม่ทัพเรือได้ฆ่าตัวตายหลังรบแพ้ญี่ปุ่นด้วย
ช่วงที่พระนางซูสีไทเฮาเร่งพัฒนาเกาะหลิวกงให้เป็นฐานทัพเรือแห่งแรกนั้น ฐานทัพเรือแห่งนี้ถือว่าเข้มแข็งและทันสมัยสุดๆ จนแม้กระทั่งญี่ปุ่นยังต้องส่งเจ้าหน้าที่มาดูงานที่นี่ แต่ภายหลังพระนางซูสีไทเฮาได้ตัดงบพัฒนากองทัพเรือลง เพื่อนำเงินก้อนนั้นไปสร้างพระตำหนักฤดูร้อนอี้เหอหยวนแทน ทำให้กองทัพเรือจีนมีแต่อ่อนแอลง ท้ายสุดก็ถูกญี่ปุ่นทำลายและยึดครองเกาะหลิวกงท่ามกลางการสู้รบอย่างดุเดือด มีทหารและประชาชนผู้รักชาติล้มตายจำนวนมาก ทุกวันนี้ยังเห็นซากเรือรบสมัยพระนางซูสีไทเฮาและซากเรือของอังกฤษประจานความเป็นยักษ์หลับของจีนในยุคนั้น
อันที่จริง ฐานทัพเรือที่หลิวกงมีประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องกับ 2 หญิงผู้ยิ่งใหญ่ของจีน ไม่ว่าจะเป็นพระนางบูเช็กเทียน จักรพรรดินีหญิงพระองค์แรกและพระองค์เดียวในประวัติศาสตร์แดนมังกร ซึ่งเคยเสด็จมาที่นี่และได้ทรงสร้างหอสูงดูทะเลเป็นที่ระลึกด้วย อีกหญิงหนึ่งก็คือพระนางซูสีไทเฮา ผู้ทรงดำริให้สร้างฐานทัพเรือแห่งแรก อีกทั้งยังเป็นผู้ทำลายฐานทัพเรือแห่งนี้ทางอ้อมด้วย
ความที่เกาะหลิวกงเคยเป็นสมรภูมิทางทะเลครั้งสำคัญ มีวีรบุรุษผู้รักชาติต้องพลีชีพเพื่อชาติจำนวนมาก ปัจจุบันที่เกาะหลิวกงได้เปิดสอนด้านความรักชาติและการปลุกระดมผู้รักชาติ เพื่อไม่ให้ลูกหลานมังกรลืมเลือนประวัติศาสตร์อันขมขื่นนี้