ข่าว

พระยอดเมืองขวาง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อยู่ๆ ผมก็เกิดนึกถึงคดี พระยอดเมืองขวาง ขึ้นมา ทั้งที่เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อ 118 ปีมาแล้ว

 พระยอดเมืองขวาง เป็นชาวจังหวัดนครสวรรค์ เกิดเมื่อปี พ.ศ.2395 เป็นบุตรของ พระยาไกรเพชร

 ได้เริ่มรับราชการเป็นข้าหลวงผู้ช่วยในกองข้าหลวงใหญ่นครจำปาสัก ต่อมาได้เป็นเจ้าเมืองเชียงขวาง โดยได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยอดเมืองขวาง ในปี พ.ศ.2428 ได้เป็นเจ้าเมืองคำม่วน ซึ่งกินอาณาเขตติดต่อกับเวียดนาม

 เมื่อปี พ.ศ.2436 เกิดกรณีพิพาทระหว่างการปักปันเขตแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงระหว่างไทยกับฝรั่งเศสกองทหารฝรั่งเศสได้นำกำลังเข้ามาในเมืองคำม่วน บังคับให้พระยอดเมืองขวางออกไปจากเมือง อ้างว่าจากการสำรวจของฝรั่งเศส ใน พ.ศ.2431 เมืองคำม่วนอยู่ในเขตของเวียดนาม แต่พระยอดเมืองขวางตอบโต้ว่าตนได้รับแต่งตั้งจากพระเจ้าอยู่หัวให้มาเป็นข้าหลวงอยู่ที่นี่ แสดงว่าเมืองคำม่วนเป็นส่วนหนึ่งของพระราชอาณาจักร จะยกเมืองให้ใครไม่ได้หากไม่มีพระบรมราชโองการรับสั่งมา

 จึงเกิดการต่อสู้กันขึ้น การต่อสู้ดำเนินไปเป็นเวลา 3 วัน ม.เออร์ลูซ ผู้บังคับกองทหารฝรั่งเศสได้สั่งให้ ม.กรอสกุรัง นำทหารญวนเข้าจับกุมพระยอดเมืองขวางไปขังที่ด่านชายแดนเวียดนาม แต่พระยอดเมืองขวางลอบลงเรือหนีมาตามลำน้ำโขง จนพบกับ หลวงวิชิตศาสตร์ ข้าหลวงเมืองพวน นำกำลัง 100 กว่าคนมาช่วย พระยอดเมืองขวางเป็นห่วงหลวงอนุรักษ์ ผู้ช่วยซึ่งถูกฝรั่งเศสจับตัวไปจึงตามไปช่วย เมื่อไปถึงได้ให้ทหารไทยล้อมบริเวณไว้ และเจรจาให้ ม.กอรสกุรัง ปล่อยตัว หลวงอนุรักษ์ แต่ ม.กรอสกุรัง ไม่ยอมและจับแขน หลวงอนุรักษ์ ไว้ แต่ หลวงอนุรักษ์ สะบัดหลุดและโดดลงจากเรือนมาหา พระยอดเมืองขวาง ม.กอรสกุรัง จึงยิงปืนใส่ทหารที่ล้อมอยู่ ถูกทหารไทยเสียชีวิต 1 นาย และบาดเจ็บหลายคน ทหารไทยจึงยิงต่อสู้ เป็นผลให้ ม.กอรสกุรัง และทหารญวนอีก 11-12 คนเสียชีวิต และบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง ฝ่ายไทยเสียชีวิต 6 คน บาดเจ็บ 4 คน

 เหตุการณ์ดังกล่าว ฝรั่งเศสได้กล่าวหาว่าพระยอดเมืองขวางบุกเข้าไปทำร้าย ม.กรอสกุรัง ซึ่งกำลังนอนป่วยอยู่ถึงที่พัก และขอให้มีการพิจารณาคดีในศาล รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงพิชิตปรีชากร เป็นประธานคณะผู้พิพากษา ซึ่งประกอบด้วย พระยาสีหราชเดโชชัย พะยาอภัยรณฤทธิ์ พระยาเทเวศวงศ์วิวัฒน์ พระยาธรรมสารนิติ์ พระยาฤทธิรงค์ มีหลวงสุนทรโกษา และนายหัสบำเรอ เป็นทนายฝ่ายโจทก์ มร.วิลเลียม ติลกี และ มร.เวอร์นอน เพจ เป็นทนายจำเลย

 การพิจารณาคดีพระยอดเมืองขวางดำเนินไป 22 วัน จนถึงวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ.2437 ศาลพิพากษาว่า พระยอดเมืองขวาง ไม่มีความผิดตามฟ้อง และให้ปล่อยตัวเป็นอิสระ แต่ ม.ลาเนซัง ผู้สำเร็จราชการอินโดจีนของฝรั่งเศสไม่พอใจ ขอให้มีการพิจารณาคดีใหม่ โดยตั้งศาลผสมไทย-ฝรั่งเศส ประกอบด้วยผู้พิพากษาฝรั่งเศส 3 คน ผู้พิพากษาสยาม 2 คน พิจารณาคดีในวันที่ 3 ตุลาคม 2437 ศาลตัดสินด้วยเสียงข้างมาก 3 เสียงจากฝ่ายฝรั่งเศสให้ พระยอดเมืองขวาง มีความผิด ถูกจำคุก 20 ปี  ซึ่งขัดกับหลักกฎหมายสากลที่ว่า “การกระทำผิดครั้งเดียว จะพิจารณาลงโทษผู้กระทำผิดสองครั้งไม่ได้”

 ม.ปาวี กงสุลฝรั่งเศสประจำสยามได้ควบคุมดูแลให้มีการจองจำพระยอดเมืองขวางครบ 5 ประการ คือใส่ขื่อข้อมือข้อเท้าและคอ เยี่ยงนักโทษอุกฉกรรจ์ และเข้าไปตรวจสอบการจองจำ พระยอดเมืองขวาง ในเรือนจำอยู่เป็นประจำ แต่เมื่อ ม.ปาวีไม่เข้าไป ผู้คุมก็จะถอดขื่อคาออก

 พระยอดเมืองขวางถูกจำคุกเป็นเวลา 4 ปี เมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จนิวัตพระนคร หลังการประพาสยุโรปใน พ.ศ.2440 พระยอดเมืองขวาง ก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินบำนาญให้เป็นพิเศษเดือนละ 500 บาท แต่ พระยอดเมืองขวาง มีชีวิตต่อมาอีกเพียง 2-3 ปี ก็ถึงแก่กรรม ใน พ.ศ.2443 ขณะอายุได้ 48 ปี

 ครับ นั่นคือเรื่องราวของพระยอดเมืองขวาง ที่คนไทยยุคนี้อาจจะเลือนๆ กันไปแล้ว

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ