
แนะเสนอแผนพัฒนาพื้นที่พระวิหารร่วม
กมธ.ต่างประเทศแนะ กก.มรดกโลกฝ่ายไทย เสนอแผนพัฒนาพื้นที่เขาพระวิหารร่วม หวังลดข้อพิพาทกัมพูชา โดยยึดแผนสามเหลี่ยมมรกตเป็นต้นแบบ พร้อมหนุนให้อยู่ร่วมภาคีต่อ กก.มรดกโลก รับ กัมพูชา เสนอแผนบริหารพื้นที่ อาจคัดค้านยาก เหตุทำในพื้นที่ไม่ทับซ้อนดินแดนไทย
เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 2 ก.พ. ที่รัฐสภา นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย ฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การต่างประเทศและ น.ส.รัชดา ธนาดิเรก ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ฐานะโฆษกกมธ.การต่างประเทศ แถลงข่าวภายหลังการประชุมในวาระพิจารณาศึกษาเตรียมความพร้อมในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัย 34 ที่ประเทศบาห์เรน ในเดือนมิถุนายน ที่จะถึงนี้ กรณีการขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยนายพีรพันธุ์ กล่าวว่า การเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกนั้นผู้แทนประเทศไทยยืนยันที่จะคัดค้านและไม่ยอมรับแผนการขึ้นทะเบียนของประเทศกัมพูชา
ด้านน.ส.รัชดา กล่าวว่า ตามข้อกำหนดขององค์การยูเนสโก ที่เกี่ยวกับสถานที่ที่ได้รับการพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นมรกดโลกนั้น ระบุว่าต้องให้ประเทศที่ขอขึ้นทะเบียนเสนอแผนบริหารโดยรอบตัวปราสาทพระวิหาร ซึ่งการชุมนุมที่ผ่านๆ มาทางประเทศกัมพูชาได้พยายามเสนอแผนบริหารฯ ในเฉพาะพื้นที่รอบปราสาทฯ ด้านทิศตะวันออกและด้านทิศใต้ ซึ่งไม่ใช่เป็นพื้นที่ที่มีปัญหากับประเทศไทย ส่วนในพื้นที่ที่มีปัญหากับประเทศไทยในพื้นที่ด้านทิศตะวันตกและทิศเหนือ ตามเอกสารของประเทศกัมพูชาระบุว่าจะเสนอแผนได้เมื่อบรรลุข้อตกลง บันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการ เขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) ก่อน เท่ากับว่าทางประเทศกัมพูชาไม่มีความพร้อม
น.สรัชดา กล่าวอีกว่า ส่วนที่บางฝ่ายเรียกร้องให้ผู้แทนไทยถอนตัวจากการเป็นคณะกรรมการมรดกโลกนั้น ผู้ที่ชี้แจงยืนยันว่าหากประเทศไทยถอนตัวจากการเป็นคณะกรรมการหรือภาคี อาจจะไม่สามารถรับรู้หรือทราบในสิ่งที่ประเทศกัมพูชาเสนอได้และอาจเกิดความเสียเปรียบ ดังนั้นกมธ.การต่างประเทศขอสนับสนุนให้คณะผู้แทนไทยอยู่ร่วมเป็นกรรมการและภาคีต่อไป รวมถึงเห็นด้วยกับการลดข้อพิพาทระหว่าง 2 ประเทศด้วยการกำหนดเขตพื้นที่มรดกโลกร่วมกันให้ครอบคลุมศาสตราและสถูป เพื่อให้เป็นประโยชน์กับประชาชนในด้านการท่องเที่ยวและศึกษา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนหน้านั้น ในการประชุมกมธ.การต่างประเทศ ที่มีนายต่อพงษ์ ไชยสาสน์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย เป็นประธานการประชุม เพื่อหารือวาระดังกล่าว ได้เชิญคณะกรรมการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กับการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกมาให้ข้อมูล โดยกมธ.ส่วนใหญ่ได้สอบถามถึงการเตรียมการเจรจาและผลที่จะได้หลังจากการเข้าร่วมประชุม โดย นายธราพงศ์ ศรีสุชาติ ผอ.สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร ชี้แจงว่าก่อนหน้านั้นทางประเทศไทยได้เสนอให้การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกร่วมกันของ 2 ประเทศ แต่ก็ได้รับการปฏิเสธมาโดยตลอด จนครั้งล่าสุดนี้ทางประเทศกัมพูชาได้เสนอแผนบริหารจัดการพื้นที่ตัวปราสาทเขาพระวิหาร โดยไม่เกี่ยวข้องกับพื้นที่พิพาท จำนวน 4.6 ตารางกิโลกเมตร อาจทำให้การคัดค้านของผู้แทนไทยยากยิ่งขึ้น
ทำให้นายต่อพงษ์ กล่าวแย้งว่า ที่ผ่านมาแล้วทำไมถึงไม่เตรียมการที่จะโต้แย้ง หรือเสนอแนะในวิธีที่ดีกว่าการทะเลาะ เช่น การนำนโยบายของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เรื่องสามเหลี่ยมมรกต หรือการพัฒนาพื้นที่ 3 ประเทศ(ไทย-กัมพูชา-สปป.ลาว) ร่วมกันขึ้นมาพิจารณา เพื่อเสนอให้คณะกรรมการมรดกโลกพิจารณา ซึ่งตนเชื่อว่าหากการพัฒนาพื้นที่มีประโยชน์ร่วมกันทางประเทศกัมพูชาก็ยากที่จะปฏิเสธ
“ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ได้ทราบว่าในการประชุมครั้งที่ 36 ประเทศไทยจะได้เป็นเจ้าภาพ หากทางคณะผู้แทนไทยคัดค้านและยื้อมาพิจารณาเรื่องดังกล่าวในประเทศอาจจะทำให้เกิดผลดีกับการพิจารณาดังกล่าว หรือหากไม่สามารถตกลงกันได้ ก็ต้องยื้อให้ถึงที่สุดเพื่อให้ทางคณะกรรมการชุดใหญ่ 21 คน มีมติถอนกรณีดังกล่าวออกไป” นายต่อพงษ์ กล่าว
จากนั้นนายสุรพล ปัตตานี รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่ได้รับคำตอบชัดเจนว่าจะได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งที่ 36 หรือไม่ เพราะมี 3 ประเทศเสนอตัว คือ ประเทศไทย ประเทศกัมพูชา และประเทศอินเดีย ซึ่งตนเกรงว่าหากกรรมการสรุปภายหลังการประชุมและพิจารณาว่าประเทศไทยและประเทศกัมพูชาเป็นคู่ขัดแย้ง ตาอยู่อย่างประเทศอินเดียอาจจะได้รับเป็นประเทศเจ้าภาพ