
"สำมะงา" ใบแก้โรคผิวหนัง
"สำมะงา" นับเป็นพืชพื้นเมืองที่มีคุณค่าทางสมุนไพร ที่ทุกวันนี้เริ่มหายากมากขึ้นทุกที
เมื่อก่อนหากใครเป็นโรคผิวหนัง จะนำใบมาตากแดดให้แห้ง แล้วนำมาต้มน้ำอาบได้ผลดีมาก ส่วนใบสดตำแล้วผสมเหล้า ทาบริเวณเป็นฝี มีน้ำเหลือง แก้อาการบวม ฟกช้ำจากการหกล้ม หรือเอวเคล็ดเป็นต้น
เป็นไม้เลื้อย ในวงศ์ VERBENACEAE เถากลมเนื้อแข็ง สีเทา ชอบเลื้อยไปพาดต้นไม้อื่น เลื้อยได้ไกลราว 2-3 เมตร
ใบ เป็นใบเดี่ยว สีเขียว ทรงรี ออกเรียงสลับตามเถา จะดกมากที่ส่วนยอด ขอบใบเรียบเข้าหากัน มีลักษณะคล้ายร่องน้ำ โคนใบมน ปลายใบสอบ
ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบ ใกล้ปลายยอด ดอกมีขนาดเล็ก โคนดอกเป็นหลอดเล็กเหมือนดอกเข็ม ที่ปลายบานสีขาวมี 4-5 กลีบ กลางดอกมีเกสรดอกสีจะออกม่วง เป็นเส้นยาวเหมือนหนวดแมวหลายเส้น
ผล ออกเป็นผลเดี่ยวตามเถา สีเขียวสด ทรงกลมโตเท่ากับผลมะแว้ง ข้างในมีเมล็ดกลมขนาดเล็กสีน้ำตาลออกดำจำนวนมาก
ขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด ตอนกิ่งปักชำ ชอบพื้นที่ชื้นแฉะ และแสงแดดเต็มวัน
"นายสวีสอง"