
จุดอ่อนของอาเซียนอยู่ที่ความยากจน
เมื่อวันที่ 24-25 มกราคม ที่ผ่านมา ศูนย์ความเป็นเลิศแห่งภูมิภาคอาเซียนทางด้านเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (เออาร์ซีเอ็มดีจี) แห่งสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) ได้จัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการครั้งแรกทางด้านการจัดทำแผนดำเนินการของอาเซียนเพื่อบรรลุเป้าหม
โดยมีตัวแทนจากประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประมาณ 150 คนเข้าร่วมการสัมมนา เพื่อกำหนดแผนการดำเนินการของประเทศสมาชิกในการสร้างแผนดำเนินการของอาเซียนเพื่อการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาในภาคสังคมที่จะกลายเป็นตัวถ่วงความก้าวหน้าในด้านเศรษฐกิจและการเมืองของอาเซียน
ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเสาหลักแห่งประชาคมอาเซียนทั้ง 3 เสา ตามที่ระบุไว้ใน “ปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียน” ที่ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 เห็นชอบและร่วมลงนามเมื่อเดือนตุลาคม 2546 ซึ่งถือว่าเป็นพิมพ์เขียวของการเป็นประชาคมอาเซียนและกำหนดให้ประเทศสมาชิกอาเซียน ก่อตั้งและเสริมสร้าง 3 เสาหลัก ประกอบไปด้วย
1) ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน มุ่งให้ประเทศในภูมิภาคอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มีระบบแก้ไขความขัดแย้งระหว่างกันได้ด้วยดี มีเสถียรภาพอย่างรอบด้าน มีกรอบความร่วมมือเพื่อรับมือกับภัยคุกคามความมั่นคงทั้งรูปแบบเดิมและรูปแบบใหม่ๆ เพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยและมั่นคง
2) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน มุ่งให้เกิดการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจ และการอำนวยความสะดวกในการติดต่อค้าขายระหว่างกัน อันจะทำให้ภูมิภาคมีความเจริญมั่งคั่ง และสามารถแข่งขันกับภูมิภาคอื่นๆ ได้ เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชนในประเทศอาเซียน
3) ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน เพื่อให้ประชาชนแต่ละประเทศอาเซียนอยู่ร่วมกันภายใต้แนวคิดสังคมที่เอื้ออาทร มีสวัสดิการทางสังคมที่ดี และมีความมั่นคงทางสังคม
ปัจจุบันการพัฒนาประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้ขยายวงกว้างล้ำหน้าการพัฒนาของ 2 เสาที่เหลืออย่างเห็นได้ชัด พิจารณาจากการขยายขอบเขตของความร่วมมือด้านการเปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไม่ว่าจะเอฟทีเอในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน (อาฟตา) และเอฟทีเอกับประเทศต่างๆ เช่น จีน อินเดีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และ นิวซีแลนด์ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะขยายขอบเขตการทำเอฟทีเอระหว่างอาเซียนกับสหภาพยุโรป (อียู) ต่อไป
นั่นหมายถึงประเทศสมาชิกอาเซียนให้ความสำคัญต่อผลประโยชน์ด้านการค้ากับต่างประเทศ โดยที่ยังไม่ได้สร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคประชาสังคมและการเมืองมากนัก
มิลเลนเนียมโกล : เป้าหมายที่ยังไปไม่ถึง
แม้ประเทศไทย จะประกาศว่าสามารถบรรลุ “เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ” (Millennium Development Goals - MDGs) ที่กำหนดขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติ แต่ประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านยังเผชิญกับปัญหาความยากจน และมาตรฐานการดำรงชีวิตต่ำกว่ามาตรฐานเอ็มดีจีของยูเอ็น ที่ประกอบไปด้วยเป้าหมายการพัฒนาเพื่อการขจัดความยากจนและความหิวโหย การพัฒนาการศึกษาขั้นประถม การส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศ การลดอัตราการตายของเด็ก การพัฒนาสุขภาพของแม่ การป้องกันโรคเอดส์ มาลาเรีย และโรคติดต่ออื่นๆ การรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาในโลก
แต่เมื่ออาเซียนจะรวมกันเป็นประชาคม และมีการเคลื่อนย้ายของประชากร ในด้านแรงงาน และวัฒนธรรมอย่างเสรี อาจจะทำให้เกิดปัญหาที่กลายเป็นตัวถ่วงความเจริญของอาเซียนในมุมมองของนักวิชาการ
ดอกเตอร์ ซานโดร คัลวานี ผู้อำนวยการเออาร์ซีเอ็มดีจี กล่าวว่า การบรรลุเป้าหมายเอ็มดีจี มีความหมายต่อความมั่นคงของอาเซียน มากกว่าการพัฒนาเสาหลักด้านอื่นของอาเซียน หากประชาชนไม่มีความเป็นอยู่ที่ดี หรือมีความรู้ในระดับมาตรฐานเอ็มดีจี ของสหประชาชาติ จะส่งผลเสียต่อการเป็นประชาคมการเมืองและประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนต่อๆ กันไป
ทั้งนี้หากประเทศอาเซียนขาดการพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนตามมาตรฐานเอ็มดีจี จะก่อให้เกิดปัญหาต่อเศรษฐกิจและการเมืองเป็นลูกโซ่ เพราะจะเป็นการถ่วงความก้าวหน้าของกลุ่มอาเซียนที่กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่การรวมตัวเป็นประชาคมประชาชาติ เนื่องจากหากประชาชนรู้สึกว่าการเปลี่ยนผ่านที่กำลังเกิดขึ้นไม่ได้ทำให้ชีวิตของตนเองดีขึ้น ก็จะทำให้เกิดการเรียกร้องจากภาครัฐ และรัฐบาลก็ต้องให้ความสำคัญต่อข้อเรียกร้องของประชาชน ซึ่งหากรัฐบาลไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้ ก็จะเกิดความวุ่นวายในประเทศ
เหตุดังกล่าวก็จะส่งผลต่อความมั่นใจในการลงทุน การทำธุรกิจ ของนักลงทุนและนักธุรกิจจากต่างประเทศ ไม่ว่าในกลุ่มอาเซียนด้วยกันเอง หรือนอกกลุ่ม
แนวทางการพัฒนาเอ็มดีจีในอาเซียน
ในงานสัมมนาครั้งนี้ ที่มีเจ้าหน้าที่อาเซียนจากประเทศสมาชิกทั้ง 10 เข้าร่วมระดมสมองเพื่อการวางแนวทางพัฒนาเอ็มดีจีในอาเซียน ได้มีการรับรองแผนการพัฒนาเอ็มดีจีของอาเซียนที่เริ่มใช้ในปี 2551 และมีการแก้ไขในบางประเด็นเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์
ประเด็นหลักในการพัฒนาเอ็มดีจีของอาเซียนคือ การรวมเอาการพัฒนาด้านเอ็มดีจีเข้าไปอยู่ในกรอบการทำงาน แผนการ แผนปฏิบัติการ และกิจกรรมทุกชนิดของอาเซียน ทั้งยังเพิ่มบทบาทของภาคสังคมในการกระจายปัจจัยส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้เข้าถึงประชาชนกลุ่มใหญ่มากขึ้น
รวมทั้งมีระบบการบริหารจัดการองค์ความรู้ที่ชัดเจน ซึ่งศูนย์เออาร์ซีเอ็มดีจี มีหน้าที่รับผิดชอบในการเป็นที่ปรึกษา ชี้จุดบกพร่อง และให้หนทางแก้ไขแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความเป็นอยู่แก่ประชาชนให้ดียิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ระหว่างการสัมมนา เจ้าหน้าที่อาเซียนในหลายประเทศได้พูดถึงการร่วมพัฒนาอาเซียน ในแบบองค์รวม ซึ่งยังเป็นจุดอ่อนของประเทศสมาชิกอาเซียน ที่มีความแตกต่างทางด้านสังคม เศรษฐกิจและการปกครองค่อนข้างมาก แต่หากอาเซียนสามารถก้าวผ่านขีดจำกัดนั้นได้ และนำไปสู่การพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านของอาเซียน จะทำให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีความเข้มแข็งที่สุดแห่งหนึ่งในโลก