
วิธีกินข้าวผัด
มีอาหารจานเดียวชนิดหนึ่งซึ่งปรากฏในเมนูของภัตตาคารระดับเหลาจนถึงร้านอาหารข้างถนนทั้งยังเป็นอาหารที่มีความหลากหลายมากกว่าอาหารชนิดอื่น อาหารที่ผมกำลังพูดถึงนี้ก็คือ ข้าวผัด ครับ
ผมไม่ทราบว่าข้าวผัดมีต้นกำเนิดมาอย่างไร แต่ถ้าให้เดา ก็ขอเดาว่าน่าจะเป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่สมัยที่ฝรั่งเข้ามาในเอเชียเมื่อราวสัก 100 กว่าปีก่อน และยุคนั้นถ้าจะให้โก้ก็ต้องมีแม่บ้านเป็นคนจีน มีกุ๊กเป็นคนจีน และมีคนใช้เป็นอินเดีย บรรดากุ๊กหรือพ่อครัวชาวจีนเหล่านี้ละครับ ที่น่าจะเป็นคนริเริ่มผัดข้าวผัดขึ้น ซึ่งต่อมาก็มีการพลิกแพลงเป็นข้าวผัดนานาชนิด ตามแต่เครื่องปรุงที่จะหาได้ และตามแต่รสนิยมของผู้บริโภค ซึ่งก็มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย
ถ้าให้ไล่เรียงชื่อข้าวผัด ผมว่าคงต้องใช้เนื้อที่ทั้งคอลัมน์ แต่เอาที่เอ่ยชื่อแล้วหลายคนต้องน้ำลายสอ ก็มีเช่น ข้าวผัดหมู-เนื้อ-ไก่ ซึ่งถือเป็นข้าวผัดพื้นๆ ข้าวผัดพริกที่แตกหน่อออกไปได้อีกมากมาย ข้าวผัดกุ้ง-ข้าวผัดปู ซึ่งเมื่อก่อนถือเป็นอาหารมีระดับ ข้าวผัดน้ำพริกลงเรือ ซึ่งน่าจะเป็นข้าวผัดแบบไทย-ไทย จานแรก ข้าวผัดแหนม ข้าวผัดคะน้า-ปลาเค็ม ข้าวผัดหมูกรอบ ข้าวผัดไข่เค็ม ข้าวผัดปลาสลิด พวกนี้ล้วนเป็นข้าวผัดรุ่นหลังๆ เป็นต้น
ผมจำได้ว่าในสมัยก่อน ข้าวผัดที่เป็นที่นิยมอย่างมากคือข้าวผัดที่ผัดกับชอสมะเขือเทศจนเป็นสีแดง ซึ่งคุณรมย์ รติวัน นักเขียน-นักหนังสือพิมพ์ชื่อดังในยุคนั้น เคยนำเรื่องข้าวผัดสีแดงนี้มาเขียนเป็นเรื่องสั้น และข้าวผัดที่โด่งดังมากอีกจานหนึ่งคือข้าวผัดอเมริกัน ซึ่งไม่ได้มาจากอเมริกาและคนอเมริกันก็ไม่เคยกินที่ไหนมาก่อน นอกจากที่เมืองไทยของเรานี่เอง ข้าวผัดชนิดนี้มีประวัติที่สืบค้นได้ว่า คุณหญิงสุรีย์พันธุ์ มณีวัต นักประพันธ์เจ้าของนามปากกานิตยา นาฏยะสุนทร เป็นคนทำข้าวผัดอเมริกันขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก โดยในเวลานั้นคุณหญิงเป็นผู้จัดการร้านอาหารราชธานีภัตตาคาร ในสนามบินดอนเมือง ครั้งหนึ่ง ประมาณก่อนปี พ.ศ.2497 มีสายการบินสายหนึ่งสั่งจองอาหารเช้าและอาหารกลางวันแบบอเมริกัน ซึ่งประกอบด้วยไข่ดาว ไส้กรอก น่องไก่ทอด ฯลฯ เป็นจำนวนมาก แต่จู่ๆ ก็ยกเลิกเที่ยวบินในวันนั้น ทำให้อาหารที่เตรียมไว้เหลืออยู่ คุณหญิงจึงนำอาหารเหล่านั้นมาดัดแปลงเป็นข้าวผัด และตั้งชื่อว่าข้าวผัดอเมริกัน
การกินข้าวผัดให้อร่อยนั้น ต้องมีซอสมะเขือเทศกับมัสตาร์ดช่วยชูรส และที่เป็นเอกลักษณ์โดยเฉพาะสำหรับข้าวผัดก็คือต้องใส่ซอสมะเขือเทศกับมัสตาร์ดไว้ในถ้วยน้ำจิ้มที่มีสองช่อง ให้เห็นสีแดงกับสีเหลืองเด่นชัด ซอสมะเขือเทศซึ่งบางตำราว่ามีแหล่งกำเนิดมาจากเมืองจีนแล้วถูกฝรั่งขโมยสูตรไปผลิตนั้น แม้จะมีสีเข้มข้นแต่รสชาติก็ไม่ได้เร่าร้อนรุนแรงเหมือนกับสี ตรงข้ามกับส่วนมัสตาร์ดที่มีสีสวยงามแต่ก็ทำให้คนที่กินเข้าไปโดยไม่ดูตาม้าตาเรือบรรลุสัจธรรมมานักต่อนักแล้ว ดังเรื่องเล่าว่าอาแปะคนหนึ่งเข้าไปสั่งข้าวผัดในภัตตาคารมากิน ด้วยความไม่รู้อีโหน่อีเหน่ก็ตักมัสตาร์ดกินกับข้าวผัดเข้าไปเต็มเปา เสร็จแล้วก็นั่งน้ำตาไหลพราก คนที่นั่งกินอาหารโต๊ะข้างๆ ก็ถามว่าอาแปะลื้อร้องไห้ทำไม? อาแปะก็ตอบอย่างรักษาฟอร์มว่า อั๊วร้องไห้คิดถึงพี่น้องที่เมืองจีน ที่ไม่ได้มากินอาหารดีๆ แบบนี้
ครับ นั่นเป็นเรื่องเก่าที่ผมนำมาเล่าให้ฟัง แต่คนสมัยนี้รู้จักทั้งซอสมะเขือเทศและมัสตาร์ดเป็นอย่างดีแล้ว และรู้วิธีว่าถ้าจะกินข้าวผัดให้อร่อย ตอนไหนควรจะต้องเติมซอสมะเขือเทศ และตอนไหนจะต้องเติมมัสตาร์ดซึ่งอยู่ในถ้วยน้ำจิ้มใบเดียวกันนั้น
เรื่องข้าวผัดก็เอวังด้วยประการฉะนี้