
วัดสวนดอก อดีตสวนดอกไม้ของเจ้านายฝ่ายเหนือ
วัดสวนดอก ต.สุเทพ อ.เมือง จังหวัดเชียงใหม่ สร้างโดยพระเจ้ากือนาธรรมิกราช (พ.ศ. 1914) โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นพระอารามหลวงเพื่อให้เป็นที่จำพรรษาของพระมหาเถระสุมน ผู้ประดิษฐานพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ในแผ่นดินล้านนา
และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระเจดีย์ขึ้นเพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ 1 ใน 2 องค์ ที่พระมหาเถระสุมน อัญเชิญมาจากสุโขทัย ในปี พ.ศ.1912 อีกองค์หนึ่งประดิษฐานอยู่ที่พระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร
เดิมวัดนี้มีชื่อว่า วัดบุปผาราม พระราชทานนามโดยพระเจ้ากือนาธรรมิกราช ที่พระราชทานพระราชอุทยานสวนดอกไม้เพื่อสร้างวัด ตามตำนานเดิมกล่าวว่า บริเวณที่เป็นอุทยานดอกไม้นั้นเต็มไปด้วยต้นพะยอม จึงเป็นที่มาของนามว่า วัดสวนดอก ที่ชาวบ้านนิยมเรียกในปัจจุบัน
ในสมัยราชวงศ์เม็งรายนั้น วัดสวนดอก มีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก แต่หลังจากสิ้นราชวงศ์เม็งรายแล้ว บ้านเมืองตกอยู่ในอำนาจพม่าอีกทั้งเกิดจลาจลวุ่นวาย วัดนี้จึงกลายสภาพเป็นวัดร้างไป
วัดสวนดอก ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่อีกครั้ง ในรัชสมัยพระเจ้าบรมราชาธิบดีกาวิละ แห่งราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์ (เจ้าเจ็ดตน) และได้รับการทำนุบำรุงจากเจ้านายฝ่ายเหนือ และประชาชนเชียงใหม่ตลอดมา
วัดสวนดอก ต่อมาได้รับการบูรณะครั้งสำคัญ 2 ครั้ง ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2450 พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้อัญเชิญรวบรวมพระอัฐิ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ และพระประยูรญาติ มาประดิษฐานรวมกัน เรียกว่ากู่บรรจุอัฐิเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ตั้งแต่ปฐมกษัตริย์ จนถึงกษัตริย์องค์สุดท้าย และพระประยูรญาติในตระกูล ณ เชียงใหม่
และอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2475 เป็นการบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระวิหารโดย ครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ทั้งที่บรรจุอัฐิเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ และพระวิหารหลวงนี้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติเช่นกัน ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478
ด้วยรูปแบบศิลปะล้านนาที่งดงาม วัดสวนดอกจึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของ จ.เชียงใหม่ และเป็นที่เคารพนับถือของชาวล้านนาตลอดมา
"เรือนอินทร์ หน้าพระลาน"