ข่าว

นามบ้าน “กำพงสวาย” มาจาก “กำปวงสวาย” ในเขมร

นามบ้าน “กำพงสวาย” มาจาก “กำปวงสวาย” ในเขมร

07 ม.ค. 2554

“บ้านกำพงสวาย” เป็นชุมชนโบราณริมฝั่งแม่น้ำมูล ในปัจจุบันเป็นที่ตั้งของ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์

  ที่วัดกำพงสวาย เคยมีเจ้าอาวาสชื่อหลวงตาพุด ท่านเป็นคนเขมรต่ำ (ประเทศกัมพูชา) บ้านเดิมท่านชื่อ “เซร๊ะกำปวงสวาย” ชาวบ้านกำปวงสวายในเขมรได้ขอร้องให้ท่านมาเซร๊ะเลอ (หมายถึงแผ่นดินแถบจังหวัดสุรินทร์ในขณะนั้น ซึ่งเป็นที่สูง เพราะอยู่บนเทือกเขาดองแร็ก)

 ชาวบ้านทางโน้นบอกว่า เคยมีพี่น้องจากบ้านกำปวงสวายในเขมรกลุ่มหนึ่งขึ้นมาตั้งถิ่นฐานอยู่ทางแผ่นดินสูงทางนี้ ไม่ทราบว่ากี่ชั่วอายุคนแล้ว ให้หลวงพ่อพุดมาสืบดูว่า จะมีผู้สืบสกุลหลงเหลืออยู่บ้างหรือไม่

 จนหลวงพ่อพุดสืบทราบได้ว่ามีบ้านกำปวงสวายอยู่ริมแม่น้ำมูล คือ บ้านกำพงสวายในปัจจุบัน (จากหมายเหตุท้ายเรื่องใน พงศาวดารเมืองสุรินทร์ โดย บรรณ สวันตรัจฉ์ กระทรวงวัฒนธรรม จัดพิมพ์ครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2553)

 กำพงสวาย ที่ท่าตูม ก็เพี้ยนเรียกมาจากชื่อเขมรเดิมว่า กำปงสวาย นี้เอง ชาวกำปงสวายจากเขมรที่ข้ามฝั่งมาตั้งหลักแหล่งบริเวณท่าตูมที่เป็นท่าน้ำริมลำน้ำมูล จึงเรียกชื่อบ้านตามถิ่นฐานเดิมของตนว่ากำปงสวายไปด้วย

 มีคนอธิบายว่า คำว่า "กำปง" ในภาษาเขมร แปลว่า ท่าเรือ และน่าจะเป็นคำยืมมาจากภาษามลายูว่า "กำปุง" ที่แปลว่าหมู่บ้าน ต่อมาภายหลังคำ “กำปง” ในเขมรก็มีความหมายเป็นหมู่บ้านด้วย

 ส่วนคำ “สวาย” แปลว่า มะม่วง
 กำปงสวาย จึงแปลว่า ท่ามะม่วง
 แต่บ้านกำพงสวาย ที่ อ.ท่าตูม คงเป็นบ้านเมืองเก่าแก่ตั้งแต่สมัยขอมเรืองอำนาจและอยู่ในวัฒนธรรมขอม ดังมีหลักฐานเป็นโบราณสถานยุคนั้นอายุราว พ.ศ.1600-1800 รวมถึงผู้คนที่สืบเชื้อสายชาวเขมรมาแต่ดั้งเดิม

"เรือนอินทร์ หน้าพระลาน"