ข่าว

จาก2,002ซากทารกถึงกม.ทำแท้ง

จาก2,002ซากทารกถึงกม.ทำแท้ง

03 ม.ค. 2554

กลายเป็นคดีเขย่าขวัญและสะเทือนอารมณ์ไปทั่วโลก กับการค้นพบซากทารก 2,002 ศพ ภายในป่าช้าวัดไผ่เงินโชตนาราม ซอยตรอกจันทน์ 43 แยก 20 แขวงบางโคล่ เขตบางคอแหลม กรุงเทพฯ บรรดาซากทารกเหล่านี้

กลายเป็นประจักษ์พยานเสี้ยวหนึ่งของปัญหาสังคมไทยที่ถูกเปิดเผยขึ้นมา หลังจากถูกปิดบังซ่อนเร้นมานาน ขณะที่สังคมไทยยังไม่มีทางออกที่ดีงามให้ความผิดพลาดของหญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม แต่ทว่าซากความตายจาก 2 พันศพเหล่านี้ จะกลายเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสังคมไทยได้หรือไม่ กับความท้าทายของการ "เปิดเสรีการทำแท้ง"  ซึ่งเป็นคำแสลงๆ แทงใจ จนต้องเรียกขานใหม่ว่า "หยุดยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม" จะเกิดมีขึ้นได้สังคมไทยได้หรือไม่?!!

 สราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม มองว่ากฎหมายมันเป็นเรื่องปลายทางของปัญหา มาวันนี้มีการเรียกร้องให้ถึงขั้นเอาผิดกับผู้ชายที่ทำให้แท้งแล้วไม่รับผิดชอบ สำหรับปัญหานี้ สังคมควรจะเริ่มแก้ไขกันตั้งแต่ตอนต้น มาช่วยกันให้ความรู้การศึกษาเรื่องเพศสัมพันธ์ ไปฝึกจริยธรรมคุณธรรม ครอบครัวก็ต้องดูแลให้อบอุ่น เมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้ว จะมีหน่วยงานใดของรัฐที่จะมีการเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา รับดูแล และการเป็นซิงเกิ้ลมัมก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย และไม่ต้องไปทำร้ายเด็ก แท้จริงแล้วกฎหมายเป็นเพียงปลายทาง ที่ผ่านมาคนไม่ได้มองที่ต้นตอ กลับมองที่ปลายทางอย่าง กฎหมายทำแท้ง

 "กฎหมายทำแท้งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301-305 ตามกฎหมายนี้ กำหนดแค่การจะเอาเด็กออกไม่ว่าจะกี่เดือน ถือว่าทำแท้งทั้งนั้น และปัญหาการทำแท้งส่วนใหญ่ คือการไม่ได้ป้องกันไม่ได้ควบคุม ซึ่งกฎหมายไม่ได้ควบคุมตรงนี้ ไม่เหมือนในต่างประเทศที่มีการกำหนดและระบุชัดเจนเลยว่าต้องมีอายุครรภ์กี่เดือน มีข้อระบุที่ชัดเจน มีการทำอนุญาตในการทำแท้งที่มีเงื่อนไข อย่าง อังกฤษ จะมีกระบวนการทางศาลให้ศาลวินิจฉัยว่ากรณีนี้สามารถทำแท้งได้หรือไม่ แต่บ้านเรากฎหมายไม่อนุญาตให้ทำแท้งและทำแท้งได้เฉพาะข่มขืน และอันตรายต่อสุขภาพ" รองเลขาธิการ สำนักงานศาลยุติธรรม  ชี้จุดบอดของกฎหมายทำแท้งเมืองไทย

 อย่างไรก็ตาม รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม มองว่า การแก้ไขกฎหมายยังไม่ใช่ทางออกของทั้งหมด แม้ว่าจะมีการแก้กฎหมายให้ดีเพียงใด หากตำรวจไม่ดำเนินการตามกฎหมายก็ไม่มีประโยชน์อันใด กฎหมายอาญา มีใช้มาตั้งแต่ปี 2500 ผ่านมาแล้ว 53 ปี จะให้กฎหมายมาทันยุคทันสมัยในสังคมเปลี่ยนไปทุกวันคงไม่ได้ สังคมเปลี่ยนแนวคิดมันก็ต้องเปลี่ยน ไม่ใช่จ้องแต่จะเอาผิดเขาอย่างเดียว ปัญหาที่จะตามมาจากการไม่ให้เขาทำแท้งคือคลอดออกมาแล้วมีเด็กถูกทิ้ง เรื่องกฎหมายทำแท้งนั้นเป็นปัญหาที่ละเอียดอ่อน กระทบต่อหลายๆ ฝ่าย ทั้ง สิทธิ จริยธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อทางศาสนา บางทีสังคมไทยอาจต้องทำประชาพิจารณ์ในเรื่องนี้
 
          ด้าน กานต์รวี ดาวเรือง ผู้ประสานเครือข่ายท้องไม่พร้อม มองว่า การแก้ไขกฎหมายไม่ได้อยู่ในความสนใจตั้งแต่แรกแล้ว เพราะกฎหมายไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง และการจะแก้กฎหมายสักฉบับ แทบไม่เคยแก้ไขได้จริง  แถมใช้เวลานานมาก จึงไม่ควรทุ่มเทเวลาไปกับสิ่งนั้น แต่ควรคิดว่าจะมีระบบบริการอย่างไรในการช่วยเหลือผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม และสิ่งสำคัญที่สุด ต้องเปลี่ยนทัศนคติในเรื่องการทำแท้ง แล้วมาร่วมกันเสนอเรื่อง การทำแท้ง เป็นวาระแห่งชาติ            

 "หากแก้กฎหมายแล้วเป็นประโยชน์ต่อผู้หญิงก็ควรทำ แต่ต้องแยกให้ออกระหว่างเรื่องศีลธรรมกับเรื่องสุขภาพ ทั้งนี้ส่วนใหญ่ กลุ่มที่ท้องไม่พร้อม เพราะปัญหาเศรษฐกิจ การคุมกำเนิดที่ล้มเหลว ขณะเดียวกันก็ต้องปรับเรื่องนี้ให้เข้าถึงวัยรุ่นให้มากขึ้น ถ้าจะยุติการตั้งครรภ์ก็ควรจะเป็นการยุติที่ปลอดภัย ไม่อยากให้ผู้หญิงที่ตัดสินใจแล้ว เข้าไปสู่กระบวนการทำแท้งเถื่อน ซึ่งไม่ปลอดภัย และหลังจากมีข่าว 2,002 ศพ ก็มีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่เขามาปรึกษา และขอคำแนะ ซึ่งบางรายไม่ใช่ฟังแล้วเขาจะแก้ไขปัญหาเลยเขาต้องกลับไปคิด พอเกิดปัญหาบางคนเขาก็รู้แต่ว่าต้องยุติการตั้งครรภ์แต่เขาไม่รู้ว่ามีหน่วยบริการรองรับอยู่ถ้าเขาท้องต่อ ที่พอจะช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้

 "ตอนนี้สังคมไทยต้องเปิดใจให้กว้าง แล้วมองว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร ไม่ใช่การผลักปัญหาทุกอย่างลงใต้ดิน แล้วก็ไม่รู้ว่ามีอีกกี่ชีวิตที่ไปใช้บริการทำแท้งเถื่อนแล้วเสียชีวิต ถ้าระบบการบริการยังอยู่ในภาครัฐก็จะลดปัญหาตรงนี้เยอะ อยากให้รัฐออกมาร่วมกันคิดเรื่องระบบบริการ และสอนเรื่องเพศศึกษาให้ดีกว่านี้ เรื่องบ้านพักกองทุนช่วยเหลือเด็กในระยะยาวของแม่เลี้ยงเดี่ยว และทำอย่างไรที่จะมีสวัสดิการสังคมให้ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมเหล่านี้ นั่นคือ การแก้ไขระบบบริการให้ดีก่อนแล้วค่อยกลับมาคิดที่จะแก้กฎหมายดีกว่า" กานต์รวี แนะนำ

 ขณะที่ สาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ กำลังรวบรวมรายชื่อ ส.ส.เพื่อเสนอร่างกฎหมายสมัครใจหรือจำเป็นเพื่อการทำแท้งเข้าสู่การประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยหน้า มองทางออกในเรื่องนี้ว่า มีหลายคนที่เห็นด้วยแล้วทำร่างกฎหมายฉบับนี้ออกมา กฎหมายเดิมคือกฎหมายอาญา มีข้อบังคับก็จริง แต่จริงๆ ในความเป็นจริงแล้วยังมีคนที่แอบหนีไปทำแท้งกันอีก จึงมองว่า กฎหมายการทำแท้งนั้นจำเป็น เพื่อเป็นการให้โอกาสผู้ที่ทำแท้ง ไม่ต้องลักลอบทำแท้งจนเกิดอันตรายต่อชีวิต

 "ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับนี้ เขาจะเน้นในเรื่องคุณธรรม เรื่องของการเป็นเมืองพุทธ ซึ่งผมเคารพความเห็นทุกฝ่ายในสังคม สิ่งที่ค้านมาเป็นเหตุเป็นผลก็ต้องยอมรับว่า การทำแท้งเป็นบาป ถือเป็นการฆ่าเด็กที่จะลืมตาขึ้นมาดูโลก อันนี้ก็เป็นความจริง เพียงแต่อยากเปิดโอกาสให้คนที่ท้องไม่พร้อมมีทางเลือก แม้ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ  อาจเป็นช่องทางแห่งความสมบูรณ์ในอนาคต" สาธิต ยืนยันอย่างมีความหวัง แม้ว่าสิ่งที่กำลังผลักดันอยู่ไม่ใช่ทางออกทั้งหมดของปัญหาก็ตาม

 แม้จะมองต่างมุมเรื่อง "กฎหมายทำแท้งเสรี" จะ "คลอด" ออกมาบังคับใช้ หรือ จะ "แท้ง" ตั้งแต่ยังไม่ปฏิสนธิ ต้องคอยจับตาดูกันยาวๆ ว่า สังคมไทยจะก้าวข้ามเส้นแบ่งของศีลธรรม และบุญบาป ออกมาเผชิญหน้ากับ "ความจริง" ได้ลึกซึ้งเพียงใด และบทเรียนจากซากทารกกว่า 2 พัน ที่เพิ่งโชยกลิ่นความตายอันไร้ทางเลือกออกมาประจานปัญหาที่ถูกกดทับมาช้านานของสังคมไทย คงจะไม่สูญเปล่าและหลงลืมกันอย่างง่ายดาย!!