ข่าว

สตช.จ่าย4ล้านคดี"สึนามิ"แนะเปิดสุสานเป็น"พิพิธภัณฑ์"

สตช.จ่าย4ล้านคดี"สึนามิ"แนะเปิดสุสานเป็น"พิพิธภัณฑ์"

24 ธ.ค. 2553

ผ่านมาแล้ว 6 ปีกับภาพความสูญเสียจากพิบัติภัยคลื่นยักษ์ "สึนามิ" หลายคนอาจจะหลงลืมกันไปแล้ว แต่ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติครั้งนี้ ยังจดจำภาพความสูญเสียและหายนะที่เกิดขึ้นตลอดชายฝั่งทะเลอันดามันได้ไม่มีวันลืม แถมยังมีเรื่องน่าเศ

 "ศูนย์พิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลและการส่งกลับ" (THAI TSUNAMI VICTIM IDENTIFICATION - TTVI) หรือ สุสานผู้ประสบภัยสึนามิ ที่บ้านบางมะรวน หมู่ 4 ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา กลับพบว่ามีการใช้เงินโดยมิชอบ

 ตลอดระยะเวลาตั้งแต่เปิดที่ทำการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลก็เกิดข่าวอื้อฉาวส่อไปในทางทุจริตเกี่ยวกับเงินบริจาคสึนามิ โดยเจ้าหน้าที่บางรายนำเงินบริจาคไปใช้ในทางที่ผิดวัตถุประสงค์ และถึงจุดแตกหักเมื่อเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในสุสานสึนามิ รวมตัวกันฟ้องร้อง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ที่ไม่ยอมจ่ายเงินค่าจ้างเจ้าหน้าที่สุสานฯ ทั้ง 19 คน เป็นเวลานานกว่า 6 เดือน

 ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ก่อนที่จะครบรอบการเกิดเหตุการณ์สึนามิ เพียง 3 วัน ฝ่ายกฎหมายของ สตช.ได้ยอมจ่ายเงินให้แก่เจ้าหน้าที่สุสานทั้งหมด 19 คน พร้อมดอกเบี้ย 7.5% รวมเป็นเงินกว่า 4 ล้านบาทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากที่ศาลเรียกทั้งสองฝ่ายไปเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเรื่องเงินค่าจ้าง ซึ่งทนายความฝ่ายจำเลยบอกว่าฝ่ายโจทก์ไม่มีประเด็นอะไรที่สามารถต่อสู้ในชั้นศาลได้จึงยอมความแต่โดยดี เพียงแต่ที่ผ่านมาบิดพลิ้ว จนในที่สุดก็ครบวาระที่ลงลายลักษณ์อักษรไว้ต่อหน้าศาลในเรื่องการจ่ายเงิน

 นายนิตินัย ศรสงคราม วัย 56 ปี อดีตผู้จัดการสุสานบางมะรวน หมู่ 4 ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ซึ่งมาเปิดร้านอาหารอยู่ย่านลาดพร้าว เปิดเผยแก่ "คม ชัด ลึก" ว่า เมื่อ 6 ปีที่แล้วถูกเรียกตัวมาดูเรื่องไฟฟ้าในสุสาน หลังจากนั้นทางผู้ใหญ่ก็แต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการสุสานเนื่องจากเห็นว่ามีความสามารถในการประสานงานด้านต่างๆ ซึ่งไม่เคยคิดฝันมาก่อนจะได้มาทำงานคลุกคลีกับศพจำนวนมากๆ แบบนี้ แรกๆ ก็รู้สึกรับไม่ได้ แต่พอทำงานได้ระยะหนึ่ง ก็เกิดความรู้สึกสงสารญาติผู้เสียชีวิตที่ต้องสูญเสียคนที่รักไปแบบไม่มีวันได้กลับคืนมาอีก แต่สุดท้ายต้องสงสารตัวเองด้วยที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจาก สตช. จนร่วมกับพวกยื่นฟ้องต่อศาลแรงงาน ซึ่งล่าสุดศาลแรงงานได้ตัดสินให้ชนะคดีนั้น ยิ่งรู้สึกว่าความเป็นธรรมยังมีอยู่จริงในสังคมไทย

 "ตลอด1 ปีที่ผ่านมา ผมต้องต่อสู้กับแรงกดดันจากหลายฝ่ายอย่างมาก หลังจากนี้ไป คงจะใช้ชีวิตอย่างปกติไม่ต้องไปดิ้นรนต่อสู้กับหน่วยงานรัฐอีกต่อไปแล้ว" นายนิตินัย กล่าว

 สำหรับศูนย์พิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลและการส่งกลับ ได้รับศพผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ภัยพิบัติจำนวน 3,696 ศพ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 ปัจจุบันเวลาผ่านไปได้ 6 ปี ทางศูนย์พิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลและการส่งกลับ สามารถพิสูจน์ศพได้จำนวน 3,308 ศพ และในจำนวนนี้มีญาติไม่มารับศพผู้เสียชีวิต 30 ศพ เป็นชาวพม่าเยอะที่สุดจำนวน 24 ศพ ชาวไทย 4 ศพ ชาวเนปาล 1 ศพ และชาวอเมริกัน 1 ศพ ดังนั้นหากนับยอดจะมีศพผู้เสียชีวิตที่ยังอยู่ในสุสานอีกจำนวน 388 ศพ และมีการทำพิธีทางศาสนาไปแล้วเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ปัจจุบันที่สุสานบางมะรวนแห่งนี้ถูกปิดร้าง มีเพียงเจ้าหน้าที่เฝ้าอยู่เท่านั้น

 แม้ว่าสุสานสึนามิจะปิดตัวไปแล้ว แต่นายนิตินัยยอมรับว่ายังรู้สึกมีความผูกพันกับสถานที่แห่งนี้ อยากให้สุสานแห่งนี้เป็นสัญลักษณ์หรือตัวแทนความสูญเสียของเหตุการณ์สึนามิ ไม่อยากให้ปล่อยร้างและไม่เกิดประโยชน์อย่างเช่นปัจจุบัน เคยเสนอไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดครั้งหนึ่งแล้วว่าอยากทำให้สุสานแห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ หรือสถานที่ท่องเที่ยงเชิงรำลึก เนื่องจากภายในสุสานมีหลายห้องที่สามารถจัดฉายสไลด์ หรือวิดีโอที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการเกิดสึนามิแก่ประชาชนได้ ด้วยการหาจุดขายของสุสานแห่งนี้ดึงนานาประเทศ 39 ประเทศที่มีประชาชนของเขาถูกฝังไว้ที่นี่มาร่วมมือด้วยการทำแบบนี้ เพื่อไม่ทำให้เม็ดเงินจำนวนมหาศาลสูญสลายไปโดยที่ไม่ก่อประโยชน์ แต่หากหน่วยงานใดสามารถทำได้จริงเชื่อว่าจะสร้างเม็ดเงินให้แก่คนในพื้นที่อีกด้วยเมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สึนามิที่เคยเกิดขึ้นที่เมืองไทย

 "วันที่ 26 ธันวาคม หลายหน่วยราชการคงจัดงานรำลึกเหตุการณ์สึนามิ แต่อยากรู้ว่ารำลึกเพื่ออะไร ทำไมทำแค่วันเดียว ทำไมไม่คิดสร้างอะไรให้เป็นรูปธรรมชัดเจน ไม่ใช่ถึงครบรอบการเกิดสึนามิก็เกณฑ์คนมาแต่งหน้าแล้วบอกว่าซ้อมรับมือสึนามิเอางบประมาณออกมาใช้กัน บางทีผมอยากให้ลองตัดน้ำ ตัดไฟ ตัดสัญญาณการสื่อสารสัก 30 นาที จะได้รู้กันจริงๆ ว่าการรับมือเตรียมการของเรานั้นทำไว้ดีแค่ไหน" นายนิตินัย ตั้งข้อสังเกต