
หมู่เรือปราบปรามโจรสลัดโซมาเลีย
เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า กองเรือประมงของเอกชนไทยนั้นมีความสามารถติดอันดับต้นๆ ของโลก และทุกวันนี้ได้ขยายขอบเขตการทำประมงไปหลายพื้นที่ รวมทั้งบริเวณมหาสมุทรอินเดียใกล้ทวีปแอฟริกา
ประเทศหนึ่งที่กองเรือประมงไทยเข้าไปทำการประมงโดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีทำให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่ายคือเยเมน และหนึ่งในบรรดาบริษัทเอกชนประมงไทยที่เข้าร่วมทุนกับบริษัทเอกชนของประเทศนี้คือ บริษัท ศิริชัย เอกวัฒน์ โดยมีเรือประมง อ.ศิริชัยนาวา 11 เป็นหนึ่งในกองเรือประมงของบริษัทนี้
ประเทศเยเมนอยู่ทางเหนือของประเทศโซมาเลียโดยมีน่านน้ำท้องทะเลอ่าวเอเดนคั่น ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กองเรือประมงของไทยเข้าทำการอยู่
เป็นที่ทราบกันดีว่า สืบเนื่องจากปัญหาความไม่สงบในโซมาเลีย ทำให้รัฐบาลไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ จนนำไปสู่ปัญหาโจรสลัดชาวโซมาเลีย วิธีการของโจรสลัดเหล่านี้จะใช้เรือเล็กความเร็วสูงบรรทุกโจรสลัดประมาณ 10 คนติดอาวุธสงครามซึ่งหาได้ง่ายครบมือ แล่นเข้าเทียบเรือสินค้าหรือเรือประมง ฯลฯ ที่แล่นผ่าน จากนั้นก็บังคับควบคุมให้แล่นเข้าไปในน่านน้ำโซมาเลีย เพื่อยึดทรัพย์สินและเรียกค่าไถ่เรือ ที่ผ่านมาได้สร้างความเดือดร้อนให้แก่เส้นทางเดินเรือสายนี้จนปรากฏเป็นข่าวไปทั่วโลกอยู่เนืองๆ
จากผลประโยชน์ของกองเรือไทยที่ต้องอาศัยเส้นทางเดินเรือนี้ ดังนั้น โดยความเห็นชอบของรัฐบาลกองทัพเรือจึงได้จัด “หมู่เรือปราบปรามโจรสลัด” เข้าร่วมกับกองเรือนานาชาติเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยเส้นทางเดินเรือสายนี้ โดยออกเดินทางไปปฏิบัติการเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
และนี่คือผลงานครั้งสำคัญของหมู่เรือปราบปรามโจรสลัดแห่งกองทัพเรือไทย...
“ผู้สื่อข่าวรายงานจากศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือว่า วันที่ 2 พฤศจิกายน 2553 เวลา 17.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือได้รับแจ้งเหตุเรือประมง อ.ศิริชัยนาวา 11 สัญชาติเยเมน ของบริษัท ศิริชัย เอกวัฒน์ ซึ่งร่วมทุนกับบริษัทในเยเมนถูกโจรสลัดโซมาเลียปล้นยึดขณะอยู่ห่างจากชายฝั่งประเทศเยเมน 15 ไมล์ทะเล โดยจุดเกิดเหตุอยู่ห่างจากหมู่เรือปราบปรามโจรสลัดกองทัพเรือ 360 ไมล์ทะเล หรือประมาณ 650 กิโลเมตร จากนั้นโจรสลัดได้นำเรือประมงไทยมุ่งหน้าเข้าหาชายฝั่งโซมาเลีย
ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือ จึงสั่งการให้หมู่เรือปราบปรามโจรสลัด จัดเรือหลวงปัตตานีติดตามสกัดกั้นโดยใช้ความเร็วสูงสุดเดินทางไปยังบริเวณที่คาดว่าจะพบเรือ อ.ศิริชัยนาวา 11 โดยเรือหลวงปัตตานีถือเข็มทิศในทางดักหน้าการเคลื่อนที่ของเป้าหมาย จนกระทั่งในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2553 เวลา 07.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) เรือหลวงปัตตานีเดินทางถึงบริเวณพื้นที่ดักหน้าตามแผน และส่งเฮลิคอปเตอร์ขึ้นบินค้นหา แต่ไม่พบเรือ อ.ศิริชัยนาวา 11 หมู่เรือจึงปรับแผนเป็นการมุ่งค้นหาใกล้ชายฝั่ง แต่ยังคงรักษาระยะให้อยู่นอกทะเลอาณาเขตของโซมาเลีย เพื่อไม่ให้กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ต่อมาหมู่เรือปราบปรามโจรสลัดได้ประมาณสถานการณ์อีกครั้ง และปรับแผนเป็นครั้งที่สาม โดยสั่งการให้เรือหลวงปัตตานีถือเข็มทิศย้อนกลับไปยังตำบลที่ซึ่งเรือ อ.ศิริชัยนาวา 11 ถูกจับยึดในครั้งแรก เมื่อเข้าใกล้บริเวณดังกล่าว ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2553 เวลา 12.45 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) หมู่เรือพบคราบน้ำมันและเศษวัสดุบนผิวน้ำ หลังจากขยายระยะค้นหาต่อไปอีก 9 ไมล์ จึงพบผู้รอดชีวิตลอยคออยู่ในทะเลรวม 23 คน ได้แก่ ลูกเรือชาวไทย 7 คน จากทั้งหมด 8 คน ลูกเรือชาวกัมพูชา 15 คน เจ้าหน้าที่ตำรวจเยเมน 1 คน จากทั้งหมด 5 คน ซึ่งทำหน้าที่คุ้มกันความปลอดภัยและประกอบอาหารบนเรือ
จากคำให้การของลูกเรือระบุว่า โจรสลัดโซมาเลีย 10 คน พร้อมอาวุธใช้เรือเร็วเป็นพาหนะเข้าโจมตี ก่อนที่โจรสลัด 8 คนจะบุกยึดเรือ ส่วนอีก 2 คนนำเรือเร็วแล่นหายไป
ระหว่างเรือ อ.ศิริชัยนาวา 11 ซึ่งอยู่ระหว่างการควบคุมของโจรสลัดให้เดินทางเข้าหาฝั่งประเทศโซมาเลียนั้น เมื่อเวลาประมาณ 01.00 น. เรือได้ถูกยิงจากเรือไม่ทราบสัญชาติจนอับปาง ลูกเรือและคนบนเรือทั้งหมดจึงกระโดดลงลอยคอในทะเลเป็นเวลาถึงประมาณ 72 ชั่วโมง ก่อนที่เรือไทยจะมาพบและให้ความช่วยเหลือ ส่วนโจรสลัดบนเรือทั้ง 8 คนหายไป”
ขอชื่นชมกับกองทัพเรือไทยและทหารเรือทุกท่าน...
บัญชร ชวาลศิลป์