ข่าว

“ลานเท” เทเรือล่ม เส้นทางคมนาคมบนเจ้าพระยา

“ลานเท” เทเรือล่ม เส้นทางคมนาคมบนเจ้าพระยา

17 ธ.ค. 2553

บริเวณ ต.ราชคราม จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นย่านที่ได้รับการบันทึกและกล่าวถึงในเอกสารวรรณคดีเก่าหลายฉบับ โดยเฉพาะบริเวณที่เรียกว่า ลานเท และ เกาะราชคราม ที่เกี่ยวข้องกับเส้นทางคมนาคมในอดีต

  ชาวบ้านเรียกบริเวณที่แม่น้ำเจ้าพระยาไหลมาบรรจบกับแม่น้ำน้อยตรงที่เรียกว่าสามแยก บางไทร ต.ราชคราม อ.บางไทร ไปจนถึง อ.โพธิ์แตง อ.บางไทร เป็นช่วงที่แม่น้ำขยายใหญ่กว้างสุดของแม่น้ำเจ้าพระยาว่า “ลานเท”

 ลานเท เป็นบริเวณที่ท้องน้ำมีคลื่นลมแรงอยู่เสมอ โดยเฉพาะช่วงฤดูฝน เพราะเป็นบริเวณโล่งเตียน ไม่มีกำบังลม ประกอบกับพื้นน้ำกว้างใหญ่ ทำให้มีเรืออับปางล่มลงอยู่เสมอ หรือมักถูกโจรผู้ร้ายดักปล้นทรัพย์สิน เพราะสองฝั่งน้ำเป็นป่าละเมาะ ไม่ค่อยมีบ้านคน

 ในสมัยก่อนที่จะมีการพัฒนาการคมนาคมทางบกในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น ลานเทเป็นชุมทางสำคัญของการคมนาคมจากกรุงเทพฯ ผ่านลานเทไปยังเมืองอ่างทอง สิงห์บุรี และสระบุรี ได้

 บริเวณลานเท กลางแม่น้ำมีเกาะใหญ่ยาวอยู่เกาะหนึ่งชื่อ “เกาะราชคราม” เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในแม่น้ำเจ้าพระยา คงเป็นที่รู้จักกันมาแต่โบราณ ดังมีชื่อปรากฏอยู่ใน โคลงกำสรวลสมุทร วรรณกรรมยุคต้นอยุธยา รัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ มาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ก็ยังเป็นย่านที่ถูกกล่าวถึงอยู่ เช่นในนิราศพระบาทของสุนทรภู่ ว่า
 “ถึงย่านหนึ่งน้ำเซาะเป็นเกาะกลาง  ต้องแยกทางสองแควกระแสชล
 ปางบุรำคำบุราณขนานนาม    ราชครามเกาะใหญ่เป็นไพรสณฑ์
 ในแถวทางกลางย่านกันดารคน  นาวาดลเดินเบื้องบูรพา
 โอ้กระแสแควเดียวทีเดียวหนอ   มาเกิดก่อเกาะถนัดสกัดหน้า
 ต้องแยกคลองออกเป็นสองทางคงคา  นี่หรือคนจะมิน่าเป็นสองใจฯ”

 ย่านลานเทและราชคราม ยังคงเป็นที่รู้จักของคนในปัจจุบัน เพราะยังมีเรือที่ต้องสัญจรผ่านลานเทอย่างระมัดระวังและมีสิ่งปลูกสร้างบนเกาะเพิ่มขึ้น

 แต่ต่างกันที่ตอนนี้มีผู้คนสัญจรและตั้งบ้านเรือนเจริญกว้างขวางไม่เปลี่ยวร้าง กันดารเช่นแต่ก่อนแล้ว

"เรือนอินทร์ หน้าพระลาน"