
คนแก่ แลหนัง
สมัยเป็นเด็กอยู่บ้านนอกผมตื่นตาตื่นใจกับหนังขายยากลางแปลง แม้จะต้องทนดูไปสับกับการเปิดไฟหยุดฉายหนัง เพื่อขายยาฆ่าพยาธิตัวตืด พยาธิตัวกลมไปตลอดเวลา แต่ผมก็ชอบดูหนังมากกว่าที่จะไปรวมกลุ่มดูลิเกกับพวกคนแก่ เพราะมักจะเป็นหนังคาวบอยฝรั่งขี่ม้าไล่ยิงปืนกับพวกอ
โตขึ้นมาหน่อยผมก็ยิ่งสนุกสนานกับหนังในกรุงเทพฯ ทั้งหนังไทยที่โรงฉายซึ่งถูกเรียกอย่างสวยหรูว่าโรงภาพยนตร์ หนังไทยส่วนใหญ่ฉายกันที่ ศาลาเฉลิมกรุง เฉลิมเขตร์ คาเธ่ย์ เอ็มไพร์ และเมื่อมีโรงภาพยนตร์เพชรรามา จึงมีโรงสำหรับภาพยนตร์ไทยมากขึ้น ส่วนหนังฝรั่งก็แยกย้ายกันไปฉายที่ เฉลิมไทย คิงส์ ควีนส์ แกรนด์ พาราเมาท์ และเมโทร ฯลฯ
โรงหนังต่างจังหวัดในลพบุรี ผมคุ้นเคยกับ วิกทหารบก มาลัยรามา ส่วนที่ อ.ตาคลี แหล่งซ่าวัยหนุ่มของผม ทั้งศรีเทพรามา และ ตาคลี รามา ล้วนแต่เป็นแหล่งสิงสู่ของผมบ่อยครั้ง แต่ที่คุ้นเคยมากที่สุดกลับเป็นโรงหนังในเชียงใหม่ เพราะหนังไทยที่ฉายอยู่ที่ ศรีวิศาล เวียงพิงค์ และ สุริวงศ์ ผ่านสายตาผมมาเกือบทุกเรื่อง
เช่นเดียวกับยุคเฟื่องฟูของหนังกำลังภายใน สมัย หวังอยู่ ตี้หลุง และเดวิด เจียง ทุกเรื่องที่ฉายในโรงชินทัศนีย์ ผมก็ไม่เคยพลาด ส่วนหนังฝรั่งผมได้อาศัยที่โรงสุริยา เป็นหลัก เรื่องไหนไปฉายที่ศรีนครพิงค์ ก็เป็นอันว่าผมพลาดโอกาสที่จะไปดู เพราะมันข้ามเขตข้ามถิ่นเกินไปหน่อย
หนังหรือภาพยนตร์ของคนในยุคผมเป็นเรื่องเป็นราวแต่ต้นจนจบ ดูแล้วต้องมีตอนจบไม่ว่าจะแบบสุขสันต์แฮบปี้เอนดิ้ง หรือจบแบบโศกเศร้าเคล้าน้ำตาลาตายกันทั้งจอ แต่ก็ต้องจบลงให้รู้ว่าเรื่องนี้จบลงไปแล้ว นานๆ ครั้งจึงจะมีหนังที่จบลงด้วยความกังขาไม่สะเด็ดน้ำแบบต้องให้ติดตามตอนต่อไปสักเรื่องหนึ่ง
ต่างจากหนังในยุคนี้ที่ผมมีโอกาสย้อนกลับเข้าไปดูอีกครั้ง หลังจากห่างหายไปจากโรงภาพยนตร์นานกว่า 20 ปี ผู้สร้างมักจะโชว์เทคนิคการถ่ายทำและการตัดต่อ ซึ่งถูกเรียกกันตามศัพท์สมัยใหม่ว่า ซีจี หรือคอมพิวเตอร์กราฟฟิก แต่มีเนื้อเรื่องที่เบาหวิวราวกับหนังการ์ตูนสำหรับเด็กของคนยุคผม
โรงหนังหรือโรงภาพยนตร์ยุคนี้ก็อยู่รวมตัวกันเป็นกระจุก และมีรอบระยะเวลาการฉายตามแต่โรงใครโรงมันจะกำหนด ทำให้สะดวกต่อการไปชมได้ตลอดเวลา ในขณะที่โรงหนังของคนยุคก่อนจะแยกย้ายกันออกไปตามสถานที่ของตนเอง แต่จะมีรอบฉายส่วนใหญ่ตรงกันตามมาตรฐาน
คือ รอบเที่ยง รอบบ่ายสองโมงครึ่ง รอบทุ่ม และรอบดึกสามทุ่ม ส่วนวันเสาร์วันอาทิตย์และวันหยุดราชการก็จะเพิ่มรอบเช้าเก้านาฬิกาเข้าไป ถ้าเป็นหนังใหม่ที่คาดว่าจะได้เงินมากขึ้น ก็มักจะจัดรอบมิดไนท์ฉายกันตอนเที่ยงคืนขึ้นมาอีก ย้อนเวลากลับไปอีกหน่อยสำหรับหนังฝรั่งขวัญใจวัยรุ่น ก็จะมีรอบเช้าตรู่ประมาณเจ็ดหรือแปดนาฬิกาในวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ โดยมีวงดนตรีสำหรับวัยรุ่นมาบรรเลงเรียกอารมณ์ให้ครึกครื้น
หนังสมัยก่อนทำเงินรายได้จากการขายตั๋วหน้าโรงได้สักเพียงแค่ 1 ล้านบาท ก็โฆษณาดีอกดีใจราวกับได้ไปสวรรค์ชั้นฟ้า จึงมีที่มาของคำขวัญว่า “ดอกดินตัวดำๆ ทำได้ล้านแล้วจ้า” ขณะที่หนังไทยสมัยนี้ต้นทุนการสร้างก็เล่นเข้าไปเกินสิบล้านเสียแล้ว จึงต้องทำรายได้ให้ถึงหลักร้อยล้านคนสร้างจึงจะสามารถตะโกนบอกผู้คนได้
แต่สิ่งที่ คนแก่ แลหนัง อย่างผมสงสัยก็คือ ทำไมหนังในปัจจุบันมันจึงจบลงแบบไม่สะเด็ดน้ำเสียเป็นส่วนใหญ่ แล้วทำไมมันต้องตัดต่อกันแบบแวบไปแวบมาให้คนแก่ดูแล้วตาลายมึนงงทุกครั้งที่ดูด้วยก็ไม่รู้ ใครที่มีคำตอบจะช่วยบอกคนแก่ด้วยก็จะเป็นกุศลอย่างยิ่งครับ
พัฒนเดช อาสาสรรพกิจ