ข่าว

ร่างรบ.ผ่านฉลุย330-156คะแนนงด34

ร่างรบ.ผ่านฉลุย330-156คะแนนงด34

26 พ.ย. 2553

ที่ประชุมรัฐสภาไม่รับร่างแก้รธน.ฉบับคปพร.โดยโหวตรับ 222 เสียง ไม่รับ 235 เสียงน้อยกว่ากึ่งหนึ่งจึงถือว่าที่ประชุมไม่รับหลักการ พร้อมคว่ำร่าง 102 ส.ส.ด้วยเสียง 148 ต่อ 177 เสียง ขณะที่พท.ทยอยออกจากห้องประชุม เหลือแต่แกนนำพรรคลงมติไม่รับร่าง

(25พ.ย.) เวลา 12.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมรัฐสภา ได้เสร็จสิ้นการโหวตรับหลักการร่างแก้ไขรธน.ฉบับ คปพร. โดนมีผู้โหวต รับหลักการร่างแก้ไขรธน.ฉบับ คปพร. 222 เสียง ไม่รับหลักการ 235 งดออกเสียง 123 เสียง ถือว่าน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกจึงถือว่าที่ประชุมไม่รับหลักการ

ภายหลังการลงมติร่างแก้ไขเพิ่มรธน.ฉบับคปพร.ปรากฏว่าส.ส.ฝ่ายค้าน ทยอยเดินออกจากห้องประชุมในเวลา 12.20 น. นำโดยร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง และนายวิทยา บุรณศิริ แต่ปรากฏเมื่อเริ่มโหวตร่างรธน.ที่รัฐบาลเสนอ ก็มีส.ส.พรรคเพื่อไทย บางส่วนเริ่มกลับเข้ามายังห้องประชุม เช่น ร.ต.อ.เฉลิม นายการุณ โหสกุล ส.ส.กทม. น.ส.วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย น.ส.ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์ ส.ส.เชียงใหม่ และ นายกิตติศักดิ์ หัตถสงเคราะห์ ส.ส.หนองบัวลำภู เข้ามาโหวตแต่ระบุว่าไม่รับหลักการ เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าต่อมาที่ประชุมร่วมรัฐสภา ได้มีลงมติ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่..)พุทธศักราช...ของส.ส. 102 คน เป็นผู้เสนอ ซึ่งใช้เวลากว่าหนึ่งชั่วโมง ปรากฏว่าสมาชิกรัฐสภาไม่รับร่างดังกล่าวด้วยเสียง 148 ต่อ 177 คะแนน งดออกเสียง 212 เสียง อย่างไรก็ตามในการลงมติดังกล่าวส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ส่วนใหญ่ต่างงดออกเสียง ขณะที่ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยบางส่วน อยู่ในที่ประชุมแต่ไม่ยอมขานชื่อ รวมถึงบางส่วนก็จับกลุ่มกันอยู่ในห้องกาแฟและห้องวิปฝ่ายค้าน มีส.ส.เพื่อไทยบางส่วนที่ยอมขานชื่อลงมติ อาทิ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.สัดส่วน นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส.สัดส่วน นายวิทยา บุรณะศิริ ส.ส.อยุธยา และนายวิชาญ มีนชัยนันท์ ส.ส.กทม โดยลงมติไม่เห็นด้วยกับร่างดังกล่าว

ร่างรบ.ผ่านฉลุย330-156คะแนนงด34

หลังจากนั้นเป็นการลงมติร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ. ... ฉบับที่ 1 มาตรา 93-98 ซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ และเป็นฉบับที่  3 ของการพิจารณาครั้งนี้ ด้วยการขานชื่อเช่นเดิม ผลปรากฏว่ารับหลักการ 330 คะแนน ไม่รับหลักการ 156 คะแนน งดออกเสียง 34 คะแนน ซึ่งถือว่ามีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของ ส.ส. และ ส.ว. รวมกัน ซึ่งขณะนี้สมาชิกรัฐสภามีทั้งสิ้น 620 คน กึ่งหนึ่งคือ 310 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า   เนื่องจากผลการลงมติออกมาดังกล่าวเป็นร่างที่ผ่านการพิจารณานอกจากส.ส.ของพรรคร่วมรัฐบาล อาทิ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย และโหวตสนับสนุนอย่างพร้อมเพรียงแล้ว ยังมีส.ส.ของพรรคเพื่อแผ่นดิน   พรรคชาติไทยพัฒนา และกลุ่มส.ว.ให้การสนับสนุน ประมาณ 50 เสียง ทั้งกลุ่ม ส.ว.สรรหา และส.ว.สายเลือกตั้ง โดยเฉพาะกลุ่มส.ว.ภาคเหนือ อาทิ น.ส.พิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ ส.ว.พิษณุโลก , นายชรินทร์ หาญสืบสาย ส,ว.ตาก, พล.ท.พงศ์เอก อภิรักษ์โยธิน ส.ว.พะเยา,นางสมพร จูมั่น ส.ว.เพชรบูรณ์, นางนฤมล ศิริวัฒน์ ส.ว.อุตรดิตถ์ ที่ให้การสนับสนุน แม้ว่าก่อนหน้านี้ น.ส.พิกุลแก้ว ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ไม่สนับสนุนร่างแก้ไข เรื่องเขตเลือกตั้ง เพราะกังวลว่าจะทำให้เกิดการโกงเลือกตั้งเหมือนในอดีต

 อย่างไรก็ดีมีข้อสังเกตว่า ส.ว.ที่ร่วมสนับสนุนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 93-98 นั้น มีส.ว.ที่เปลี่ยนความเห็นมาสนับสนุนร่างดังกล่าว แต่ใน 2 ร่างที่พิจารณาก่อนหน้านี้ ได้แก่ ร่างแก้ไขฉบับประชาชน และร่างแก้ไขที่เสนอโดยส.ส. 102 คน ไม่ได้ให้การสนับสนุน และงดออกเสียง อาทิ   นายชรินทร์ หาญสืบสาย ส.ว.ตาก,   พล.อ.อ.ณพฤกษ์ มัณฑะจิตร ส.ว.สรรหา, นายถนอม ส่งเสริม ส.ว.อุบลราชธานี, นางธันยรัศม์ อัจฉริยะฉาย ส.ว.ภูเก็ต, นายธันว์ ออสุวรรณ ส.ว.ประจวบคิรีขันธ์, นายพรพจน์ กังวาล ส.ว.ระนอง,นางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ ส.ว.พิษณุโลก, นายพิชัย อุตมาภินันท์ ส.ว.สรรหา, นายมานพน้อย วานิช ส.ว.พังงา, พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ ส.ว.สุราษฎรธานี, นายวรวิทย์ วงษ์สุวรรณ ส.ว.ลพบุรี, พ.ต.อ.สนธยา แสงเภา ส.ว.สรรหา อย่างไรก็ดีผลโหวตดังกล่าวถือว่าสอดคล้องกับกรณีที่มีข่าวว่าคนใกล้ชิดของนายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.ไอซีทีนัดรับประทานอาหารเที่ยงร่วมกับส.ว.ภาคเหนือ เมื่อวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมาเพื่อล็อบบี้ให้สนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาล

แฉร่างรธน.เหวงส.ว.แดง-งูเห่าช่วยหนุน  

 ที่อาคารรัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการลงคะแนนร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ. ... ซึ่งนพ.เหวง โตจิราการ และประชาชนเข้าชื่อเสนอต่อสภา ซึ่ง ที่ประชุมมีมติไม่รับหลักการด้วยคะแนนเสียง 222 ต่อ 235 งดออกเสียง 123 ถือว่าไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด ซึ่งจะต้องได้เสียงเกิน 310 เสียง

 ดังนั้นจึงส่งผลให้ร่างดังกล่าวมีอันตกไป จากการตรวจสอบพบว่าในส่วนของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับคปพร.ซึ่งเป็นร่างฉบับที่ 1 นั้น พรรคเพื่อไทยได้รับเสียงสนับสนุนจากส.ส.พรรคประชาราชและสมาชิกวุฒิสภาบางส่วนอาทิ นายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ส.นนทบุรี   นายนิคม ไวยรัชพานิช ส.ว.ฉะเชิงเทรา  นายทวีศักดิ์ คิดบรรจง ส.ว.บุรีรัมย์   นายนฤมล ศิริวัฒน์ ส.ว.อุตรดิตถ์ นายประวัติ ทองสมบูรณ์ ส.ว.มหาสารคาม  นายประสิทธิ์ โพธสุธน ส.ว.สุพรรณบุรี  พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี ส.ว.สรรหา นายวิทยา อินาลา ส.ว.นครพนม นายสมชาติ พรรณพัฒน์ ส.ว.นครปฐมนายสมพร จูมั่น ส.ว.เพชรบูรณ์   นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง ส.ว.อุทัยธานี   นายสิริวัฒน์ ไกรสินธุ์ ส.ว.นครศรีธรรมราช พล.ท.สุจินดา สุทธิพงศ์ ส.ว.สรรหา   นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ส.ว.ชลบุรี   นายสุรพงษ์ ตันธนศรีกุล ส.ว.กาญจนบุรี   นายสุวิศว์ เมฆเสรีกุล ส.ว.สมุทรสาคร   นายอนันต์ วรธิติพงศ์ ส.ว.สรรหา   และส.ส.เพื่อแผ่นดินบางคนคือพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก   นายสมเกียรติ ศรลัมภ์ ส.ส.สัดส่วน

 ขณะที่ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล อาทิ ชาติไทยพัฒนา รวมชาติพัฒนา กิจสังคม และภูมิใจไทย พรรคเพื่อแผ่นดิน และนายชัย ชิดชอบ   ประธานสภาฯ นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา และนายสามารถ แก้วมีชัย รองประธานสภาฯเกือบทั้งหมดงดออกเสียง จึงทำให้คะแนนเสียงรับและไม่รับหลักการแตกต่างเพียงแค่ 13 เสียงเท่านั้น

ชทพ.แจงงดออกเสียงร่างคปพร.เป็นมติพรรค

 นางปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงกรณีที่ ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนาลงมติงดออกเสียงในร่าง แก้ไขรัฐธรรมนูญ คปพร.แทนการไม่รับร่างเช่นเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์นั้นว่า  ไม่ได้มีปัญหา เพราะจากการพูดคุยกันในการประชุมพรรคเมื่อวันจันทร์ที่   22 พ.ย. ที่ผ่านมา เสียงส่วนใหญ่ต้องการให้งดออกเสียง เพราะเกรงว่าจะไม่เหมาะสมและถือเป็นมารยาททางการเมือง   ซึ่งก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับพรรคร่วมรัฐบาลอื่นยกเว้น พรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น ทั้งนี้ไม่ได้เกรงว่าจะลงพื้นที่หาเสียงไม่ได้ เพราะชาวบ้านเข้าใจ และไม่ได้ขัดกับมติของพรรคร่วมรัฐบาล ไม่เกี่ยวกัน