
บันทึก20ชั่วโมง..ผู้ลี้ภัยชาวพม่าจากมุมมอง"สื่อเยอรมัน"
ดูเหมือนว่าการสู้รบภายในพม่า กำลังก่อตัวขึ้นอีกระลอก หลังจากนางออง ซาน ซูจี ได้รับอิสรภาพ ผู้อพยพราว 5,000 คน ต้องหนีตายออกจากพื้นที่เข้าสู่ค่ายพักพิงชั่วคราว อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี
ทีมข่าว "คม ชัด ลึก" พร้อมด้วย "มาร์ติน เพลเซิล" สื่อจากหนังสือพิมพ์ LeipZiger Volkszeitung ประเทศเยอรมนี ที่เดินทางเข้ามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำข่าวในเมืองไทย ได้ขอลงพื้นที่เกาะติดสถานการณ์การสู้รบระหว่างทหารรัฐบาลพม่ากับกองกำลังกะเหรี่ยงดีเคบีเอ พร้อมถ่ายทอดมุมมองและความรู้สึกต่อการอพยพของชนหลากชาติพันธุ์ครั้งนี้
"การเดินทางไปภาคอีสานของคุณต้องเลื่อนไปก่อน"
ผมได้รับคำบอกจากทีมรายงานพิเศษ "คม ชัด ลึก" (โครงการแลกเปลี่ยนนักข่าวไทย-เยอรมัน (Journalist Exchange Project “Close-up“) ที่สนับสนุนโดยสถาบันเกอเธ่)
รู้ข่าวว่ามีผู้ลี้ภัยจากประเทศพม่ากว่า 2 หมื่นคน ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ผมเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ทำข่าวและเสื้อกันหนาว เราออกเดินทางช่วงบ่ายวันที่ 9 พฤศจิกายน ระหว่างที่รถออกนอกกรุงเทพฯ มีคำสั่งจากกองบรรณาธิการให้เราเปลี่ยนพื้นที่เป้าหมายไปที่ด่านเจดีย์สามองค์ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี เพราะมีผู้ลี้ภัยข้ามมากว่า 5,000 คนแล้ว และที่นั่นยังไม่ค่อยมีนักข่าวไปมากนัก
"เมื่อเส้นทางถูกเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันรวมถึงคำสั่งอื่นๆ ด้วย ถึงปลายทางก็ปาเข้าไป 4 ทุ่ม ภาพผู้ลี้ภัยหลายร้อยคนนอนอยู่ที่สนามหญ้าหน้าโรงเรียนแห่งหนึ่ง มีทหารถือปืนคอยคุ้มกัน ทำให้นึกถึงภาพในอดีตที่มีผู้ลี้ภัยจากโปแลนด์และเชคโกสโลวาเกียพยายามหนีข้ามมาอยู่ในเยอรมนี หรือช่วงที่คนเยอรมันตะวันออกพยายามปีนข้ามกำแพงเบอร์ลินไปยังเยอรมันตะวันตก"
หลังจากเดินสำรวจรอบๆ ค่ายผู้ลี้ภัยชั่วคราว ผมรู้สึกชื่นชมการจัดการของเจ้าหน้าที่ทหาร เพราะความช่วยเหลือเป็นไปอย่างรวดเร็วและเป็นระบบ ขวดน้ำ อาหาร เต็นท์บัญชาการสำหรับทหารชั้นผู้ใหญ่ แต่หลังจากนั้นผมก็เริ่มรู้สึกว่าเด็กๆ ต้องการนมมากกว่าน้ำ คืนนั้นทีมข่าว "คม ชัด ลึก" ได้สัมภาษณ์นายอำเภอคนหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่าเขามีความพยายามที่จะตอบคำถามนักข่าวอย่างใจเย็นและพยายามอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ
"ที่ประทับใจคือ นักข่าวในเมืองไทยได้รับอนุญาตให้เดินเข้าไปใช้อุปกรณ์สื่อสารอินเทอร์เน็ตหรือยืมอุปกรณ์สื่อสารบางอย่างภายในศูนย์บัญชาการของทหารได้ นับเป็นเรื่องน่าทึ่งที่ทหารไทยใจดีมากๆ ซึ่งเรื่องนี้ในประเทศผมคงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก แต่ถ้าจะอธิบายให้ละเอียดคงต้องบอกว่าตามปกติแล้วการจัดการกับสถานการณ์ฉุกเฉินเช่นนี้ ในประเทศเยอรมนีนั้นผู้ที่รับผิดชอบหลักคือ ตำรวจและหน่วยงานให้ความช่วยเหลือกู้ภัยด้านเทคนิค หรือที่เยอรมันเรียกว่า "Technisches Hilfswerk" ส่วนฝ่ายทหารมีหน้าที่หลักในการปกป้องรักษาดินแดน และจะเข้ามารับหน้าที่ด้านพลเรือนก็ต่อเมื่อเป็นเหตุการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงมากๆ จริงๆ เท่านั้น"
“ชาติชาย” เป็นผู้ใหญ่บ้านเวียคาดี้ ที่ให้เราพักอาศัยหลับนอนในบ้านคืนนั้น เขาเล่าว่า พวกพม่าและชนกลุ่มน้อยที่อยู่อีกฝั่งพรมแดนพม่านั้น ส่วนใหญ่จะหลบหนีลูกกระสุนเข้ามาตอนกลางคืน เพราะการสู้รบระหว่างทหารรัฐบาลเมียนมาร์กับกองกำลังประชาธิปไตยกะเหรี่ยงพุทธ หรือที่เรียกย่อว่า “ดีเคบีเอ” (Democratic Karen Buddhist Army-DKBA) มักเกิดขึ้นในช่วงดึก คาดการณ์ว่า ในช่วง 2- 3 วันหลังจากนี้จำนวนผู้อพยพลี้ภัยจะเพิ่มขึ้นกว่านี้อีกมาก
เช้าวันรุ่งขึ้น เดินหาอาหารเช้ารองท้องที่ตลาดสังขละบุรี ได้สัมภาษณ์เหยื่อสะเก็ดระเบิด 2 คนคือ "น.ส เอเตียง" กับ "นายเจพู" ที่ได้รับบาดเจ็บมาจากพม่าที่ รพ.สังขละบุรี เอเตียง สาวพม่าวัย 21 ปี เล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์ระทึกขวัญตอนที่เธอและแม่โดนสะเก็ดระเบิดขณะหลบอยู่ในบ้าน น้ำเสียงของเธอแผ่วเบาเหมือนไม่มีแรง
"ห้องที่เธอพักอยู่ดูสะอาด แต่ผมไม่เคยเห็นห้องพักที่มีเตียงคนไข้อยู่รวมกันมากอย่างนี้มาก่อน โรงพยาบาลในเยอรมนีส่วนใหญ่จะมีแค่ 2-4 เตียง แต่ห้องที่ผมยืนอยู่วันนั้นมีเตียงมากถึง 14 เตียง"
ส่วน “เจพู” หนุ่มวัย 30 เล่าให้ฟังว่า หนีข้ามพรมแดนมาฝั่งไทยได้อย่างปลอดภัยแล้วแต่โชคร้ายไปโดนลูกหลงเข้า
ช่วงสายทีมข่าวย้อนกลับไปที่ด่านเจดีย์สามองค์อีกครั้ง ทีมข่าวแวะที่วัดเตาถ่าน ที่กลายเป็นสถานที่ผู้ลี้ภัยชั่วคราว ทำให้ผมในฐานะผู้สื่อข่าวชาวตะวันตกเพียงคนเดียวในพื้นที่รู้สึกประทับใจเป็นอย่างมาก มีผู้ลี้ภัยประมาณ 500 กว่าคน ผมเจอกับแพทย์ชาวเบลเยียมที่เป็นเอ็นจีโอขององค์กรหมอไร้พรมแดน เขาเล่าให้ผมฟังว่า เรื่องการเมืองระหว่างประเทศเป็นเรื่องซับซ้อนเขาไม่รู้อะไรมาก เขามีหน้าที่เพียงมาตั้งเต็นท์ปฐมพยาบาลชั่วคราวเท่านั้น มีหมอมาทั้งหมด 3 คน และพยาบาลอีกกลุ่มหนึ่งเดินทางมาด้วยกันจากกรุงเทพ ฯ
"ผู้อพยพที่นี่ไม่ต่างจากที่เห็นในแคมป์ชั่วคราวเมื่อวาน พวกเขาดูเหมือนจะก้มหน้ายอมรับชะตากรรมโดยปราศจากอาการโอดครวญ บางกลุ่มเตรียมข้าวของเครื่องใช้ราวกับเตรียมตัวเตรียมใจว่าต้องพำนักอยู่ที่ค่ายผู้ลี้ภัยไปอีกพักใหญ่ แม้จะตกอยู่ในสภาพยากลำบากแต่พวกเขาก็ยังมีรอยยิ้มตอบเมื่อเรายิ้มให้ น้ำใจของพวกเขาช่างน่านับถือ พวกเขาช่างมีความเจียมเนื้อเจียมตัว"
พลบค่ำวันที่ 10 พฤศจิกายน เหตุการณ์เกิดการพลิกผันอีกครั้ง หลังจากทหารไทยยืนยันแน่ชัดว่ากองทัพทหารพม่าได้เข้าควบคุมพื้นที่ฝั่งตะวันตกทั้งหมดของจุดผ่านแดนซึ่งอยู่บนเทือกเขาตะนาวศรีเรียบร้อยแล้ว เป็นอันว่าผู้ลี้ภัยสามารถกลับบ้านของพวกเขาได้เร็วกว่าที่คาดไว้ ผู้ลี้ภัยนับพันคนพากันเดินเป็นกลุ่มเล็กๆ มุ่งหน้าไปทางด่านข้ามพรมแดนที่เจดีย์สามองค์ ซึ่งพื้นที่นี้ไม่ได้เปิดเป็นจุดผ่านแดนมาหลายปีแล้ว
"การเปิดจุดผ่านแดนนี้กระตุ้นความรู้สึกบางอย่าง ผมในฐานะชาวเยอรมันตะวันออกคนหนึ่งที่เคยผ่านประสบการณ์การล่มสลายของกำแพงกั้นขวางระหว่างเยอรมันตะวันออกกับตะวันตกในปี ค.ศ.1989 ซึ่งผมมีประสบการณ์ตรง แต่ยังมีข้อสงสัยอยู่ว่า หลังจากพวกเขาเดินทางกลับจะมีอนาคตเหมือนชาวเยอรมันหรือไม่ หากมองจากสภาพความตึงเครียดทางการเมืองในพม่าแล้ว" มาร์ตินเปรยถึงรอยทรงจำในอดีต ซึ่งอาจแตกต่างกับสิ่งที่เห็นเบื้องหน้า!?