
ไปไหนมา (สามวาสองศอก)
คำทักทายไต่ถามของคนแต่ละชาติแต่ละภาษา ย่อมแสดงออกถึงวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ของคนเชื้อชาตินั้นๆ ประเทศจีนในสมัยก่อนอยู่ในภาวะข้าวยากหมากแพง ผู้คนมีข้าวพอกินบ้างไม่พอกินบ้าง เราจึงพบเห็นคนจีนอพยพแบบเสื่อผืนหมอนใบ ทิ้งบ้านทิ้งเมืองออกมาหากินทั่วโลก
เวลาคนจีนเจอกันจึงทักจะทักทายกันว่า “เจียะ ห้อ บ่วย” ซึ่งแปลได้ความหมายว่ากินข้าวกินปลามาหรือยังล่ะ ถ้ายังไม่ได้กินข้าวมาจะได้จัดหามาเลี้ยงรับรอง ส่วนฝรั่งอั้งม้ออาศัยอยู่ในเขตที่อากาศเปลี่ยนแปลงแปรปรวน บางทีหนาวจัดหิมะลงไปไหนมาไหนก็ลำบาก ถ้าไม่ได้เตรียมฟืนเอาไว้ใส่เตาผิง ก็จะหนาวเหน็บไม่สบายกาย เมื่อเจอกันฝรั่งจึงต้องทักทายกันว่า “ฮาว อาร์ ยู (สบายดีหรือเปล่า)”
ส่วนคนไทยเราอาศัยอยู่ในที่ราบลุ่มอุดมสมบูรณ์ในน้ำมีปลาในนามีข้าว เจอหน้ากันไม่จำเป็นต้องไปทักทายว่ากินข้าวหรือยัง เพราะทุกบ้านทุกครัวเรือนกินกันอิ่มหนำสำราญ แต่วิสัยของคนไทยเรามักจะไม่ค่อยเดินทางไปไหนมาไหนโดยไม่มีสาเหตุ ส่วนใหญ่จะหาความสุขสำราญอยู่ในเขตย่านบ้านเรือนของตนเอง
การออกนอกบ้านของคนไทยส่วนมากจึงมุ่งหน้าไปทำงาน เช่นไปนา ไปหาปลาตามแหล่งน้ำ ไปทำบุญที่วัดหรือไปเยี่ยมญาติพี่น้อง คนไทยเมื่อเจอหน้ากันจึงถามกันว่า “ไปไหนมา” จนมีคำล้อเลียนคนที่ตอบไม่ตรงกับคำถามว่า “ไปไหนมา สามวาสองศอก”
เมื่อพูดกันถึงคำทักทายแบบพื้นๆ ก็นึกขึ้นมาได้ว่า ผมมีโอกาสได้ดูโทรทัศน์มากกว่าปรกติในช่วงน้ำท่วม เห็นพิธีกรภาคสนามของช่องต่างๆ แข่งกันเดินลุยน้ำ เพื่อออกไปถามสารทุกข์สุขดิบของชาวบ้านที่โดนน้ำท่วมแล้วก็ชื่นใจ เพราะที่บ้านเกิดของผมเองก็น้ำท่วมจนญาติพี่น้องลำบากกันถ้วนทั่วหน้า
แต่เกือบทุกครั้งผมก็ต้องมาสะดุดใจ กับคำถามของพิธีกรภาคสนามหลายท่าน ที่ใช้คำถามประเภทไม่รู้จะขึ้นต้นว่าอย่างไรดี ก็เลยใช้คำถามพื้นๆ เหมือนๆ กันคือ “รู้สึกอย่างไรบ้างครับ (คะ)” ในการถามผู้คนที่ต้องประสบภัยน้ำท่วม เล่นเอาคนที่ถูกถามมักจะทำหน้าปูเลี่ยนๆ เพราะขืนตอบไปว่า “สบายดีค่ะ ดีใจที่นานๆ ครั้งจะได้เจอกับน้ำท่วมบ้านเสียทีค่ะ” ก็คงพิลึกถึงระดับสาหัสสากรรจ์ทีเดียว
คำถาม “รู้สึกอย่างไรบ้างคะ (ครับ)” มักจะถูกนำมาใช้กันเกร่อโดยไม่รู้จักดูกาลเทศะ เช่น นำไปถามนักกีฬาที่ได้ตำแหน่งชนะเลิศมาหมาดๆ ใช้ถามคนที่ประกวดจนได้รับตำแหน่งนางงาม หรือได้รับรางวัลจากการประกวดและแข่งขันทั่วไป ซึ่งแน่นอนว่าคำตอบจะต้องออกมาในรูปของ “ดีใจมากค่ะ (ครับ)” ครั้นนานๆ ครั้งพอจะมีใครสักคนตอบออกมาว่า “อ๋อ...เฉยๆ ครับ เพราะรู้อยู่แล้วว่าผม (ดิฉัน) ต้องชนะแน่ๆ ครับ (ค่ะ)” คนตอบก็มักจะโดนกล่าวหาว่าอวดเก่งหยิ่งยโสไปโน่น
คนยุคใหม่ในปัจจุบันนี้อาจจะไม่ถือสากับคำพูดมากนัก ต่างไปจากคนยุคก่อนที่ถูกสอนมาตลอดเวลาว่า ให้ใช้คำพูดที่เหมาะสมกับเหตุการณ์และเหมาะสมกับคนฟัง ในขณะที่คนไทยสมัยนี้คุ้นเคยกับคำพูด หรือประโยคสำเร็จรูปซึ่งบรรจุอยู่ในเครื่องมือทันสมัย เช่น ในเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือในเครื่องคอมพิวเตอร์ทั่วไป
อีกทั้งการส่งข้อความไปมาหากันและกันของคนสมัยใหม่ ก็ใช้รูปประโยคที่นำมาจากภาษาอังกฤษเป็นหลัก และยังมีการใช้รูปสัญลักษณ์ (ICON) เข้ามาร่วมกับภาษาที่เป็นตัวอักษร ความสละสลวยของภาษาจึงถูกคนสมัยใหม่มองว่า มีความสำคัญน้อยกว่าการสื่อสารกันให้เข้าใจ โดยลืมไปว่าความสละสลวยของภาษานั้น จะยิ่งทำให้ภาษามีความแน่นอนมากขึ้น โอกาสที่จะสื่อสารรับและส่งข้อความคลาดเคลื่อนกัน ในลักษณะ “ไปไหนมา สามวาสองศอก” ก็จะลดลงตามไปด้วย
พัฒนเดช อาสาสรรพกิจ