ข่าว

ประยุทธ์ชี้พม่ารบกะเหรี่ยงสงบแล้ว

ประยุทธ์ชี้พม่ารบกะเหรี่ยงสงบแล้ว

09 พ.ย. 2553

“ประยุทธ์”เผยเหตุทหารพม่ารบกะเหรี่ยงสงบ ไร้รุนแรง ยันไม่เปิดศูนย์อพยพ ให้แค่ที่พักพิงชั่วคราว สงบเมื่อไรส่งกลับทันที เผยทหารเตรียมแผนรับมือพร้อมหมด จนท. 2 ฝ่ายคุยตลอด หวั่นกระทบสัมพันธ์

(9พ.ย.) เมื่อเวลา 14.30 น. ที่วัดอาวุธวิกสิตาราม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้ากรณีเหตุกะเหรี่ยงปะทะกับทหารพม่าจนทำให้มีผู้อพยพเข้ามาในไทยจำนวนมากว่า ทุกอย่างยังเรียบร้อยอยู่ โดยทางแม่ทัพภาคที่ 3 เข้าไปดูแลในพื้นที่เรียบร้อยตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา รวมถึงส่วนของกองทัพภาคที่ 1 คือ จ.กาญจนบุรีที่ยังไม่มีเหตุการณ์รุนแรงอะไรเกิดขึ้น มีกระสุนตกบ้างจำนวนหนึ่ง และมีการอพยพของชนกลุ่มน้อยในฝั่งตรงข้ามเข้ามา ซึ่งเราดูแลในเรื่องความปลอดภัยตามหลักมนุษยธรรม หากสถานการณ์เป็นปกติมีความปลอดภัยแล้ว เขาก็จะต้องกลับพื้นที่ของเขาเอง ซึ่งเป็นอย่างนี้มาต่อเนื่องทุกครั้งที่มีการปะทะกันโดยเขาจะหลบหนีเข้ามาในบ้านเรา

                 “ เราจะจัดที่ให้เขาอยู่อาศัยเป็นการชั่วคราว จากนั้นจะดำเนินการส่งกลับเมื่อเหตุการณ์เป็นปกติ ซึ่งจะใช้เวลาสั้นที่สุด และจะไม่มีการเปิดเป็นศูนย์อพยพอีกแล้ว เพราะที่เรามีอยู่เดิมก็มากอยู่แล้ว ซึ่งเราจะดำเนินการว่า จะทำอย่างไรเพื่อให้เกิดความเรียบร้อยมากที่สุดในประเทศไทย ส่วนการส่งผู้หลบหนีกลับนั้น เขาคงทยอยเดินกลับไปเหมือนเดิม คงไม่มีปัญหาอะไร เพราะที่ผ่านมาก็มีกลับไปเยอะแล้ว ไม่ต้องเป็นห่วงทหารดูแลอย่างดี ทั้งนี้ที่ผ่านมาเรามีการสั่งการไว้ล่วงหน้าก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ขึ้น ทุกพื้นที่จะมีแผน การสั่งการ การเตรียมการอพยพประชาชน การใช้กำลัง ดูแลผู้หลบหนีภัยจากการสู้รบ การใช้กองหนุน การเคลื่อนย้าย การรรักษาพยาบาล การส่งกลับ เรามีแผนหมด ไม่ต้องเป็นห่วง”พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

                 เมื่อถามถึงกรณีที่แม่ทัพภาคที่ 3 ได้เชิญผู้ว่าราชการจังหวัดเมียวดีมาพูดคุย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เรามีการพูดคุยกันอยู่แล้ว เมื่อมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นสองฝ่ายต้องมีช่องทางในการติดต่อสื่อสารกันว่า ขณะนี้เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น ดังนั้นต่างฝ่ายต่างต้องระมัดระวัง อย่าให้เกิดเป็นเหตุกระทบกระทั่งระหว่างประเทศ ซึ่งคงมีไม่ได้อยู่แล้ว เพราะเราเป็นประเทศเพื่อนบ้านกัน

                 เมื่อถามว่า จะมีการแจ้งเตือนไปยังพม่าหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เราได้มีการติดต่อกันอยู่แล้ว และช่วงที่มีการเลือกตั้ง ทางพม่าได้ขอความร่วมมือในการช่วยกันดูแลตามแนวชายแดนให้เกิดความปลอดภัยและให้ระมัดระวังในเรื่องการก่อการร้าย ซึ่งเรามีความร่วมมือด้วยกันอยู่ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดในประเทศเขาเอง ไม่ได้เกิดจากฝั่งเรา ดังนั้นเราต้องเตรียมรับสถานการณ์ให้พร้อมในการดูแลประชาชนให้ปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนชาวไทย

 ทภ.3 ถกผู้ว่าฯเมียวดีสั่งจับตาระวังชายแดน24ชม.

 พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีเหตุกะเหรี่ยงปะทะกับทหารพม่าจนทำให้มีผู้อพยพเข้ามาในไทยจำนวนมาก ว่า เมื่อวันที่ 9 พ.ย.ที่กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 346 อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก กองทัพภาคที่ 3 เชิญหัวหน้าส่วนราชการใน จ.ตาก และ ผู้ว่าราชการจังหวัดวเมียวดี ร่วมประชุมหารือถึงแนวทางดูแลสถานการณ์ชายแดนไทย - พม่า   รวมถึงการดูแลความปลอดภัยให้ราษฎรไทยตามแนวชายแดน และการช่วยเหลือผู้หลบหนีภัยจากการสู้รบชาวพม่า โดยขณะนี้กองกำลังนเรศวร กองทัพภาคที่ 3  ยังคงเฝ้าระวังสถานการณ์ตลอดแนวชายแดน พร้อมให้การดูแลความปลอดภัยกับประชาชนในพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง   โดยในวันนี้จะมีการ ประสานและแจ้งให้ ผู้ประกอบการร้านค้าใน อ.แม่สอด เปิดกิจการได้ตามปกติ   

           “ กองทัพภาคที่ 3 มอบให้ผู้ว่าราชการ จังหวัดตากประสานงานอย่างใกล้ชิดกับผู้ว่าฯเมียวดี เพื่อยืนยันถึงความปลอดภัยในประเทศพม่า และส่งผู้หลบหนีภัยจากการสู้รบกลับประเทศโดยเร็วที่สุด โดยขณะนี้ ผู้หลบหนีภัยจากการสู้รบได้รับการดูแลตามหลักมนุษยธรรมอยู่ที่กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 346   กองทัพภาคที่ 3 ยังได้ขอให้ทุกหน่วยงาน องค์กรเอกชน หรือองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนที่ประสงค์จะให้การดูแลและช่วยเหลือผู้หลบหนีภัย   ขอให้ประสานผ่านทางสำนักงานกาชาดจังหวัดตาก    เพื่ออำนวยความสะดวกและเป็นศูนย์กลางการช่วยเหลือ   นอกจากนี้กองทัพบกยังกำชับให้กองกำลังชายแดนที่รับผิดชอบชายแดนด้านพม่าเฝ้าติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยงทันที   ส่วนการดูแลผู้หลบหนีภัยจากการสู้รบให้ยึดตามหลักมนุษยธรรม โดยร่วมมือกับทุกภาคส่วน และดำเนินการส่งกลับประเทศทันทีหากสถานการณ์สงบ”รองโฆษกทบ.กล่าว

"ผบช.ตชด."จัดกำลังสนับสนุนแม่ทัพภ.3ดูแลผู้ลี้ภัยชาวพม่า

 พล.ต.ท.ประยูร อำมฤต ผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ผบช.ตชด.) เปิดเผยมาตรการดูแลผู้ลี้ภัยชาวพม่าที่ออพยพเข้ามาในประเทศไทย หลังจากเกิดการปะทะกันอย่างหนักระหว่างทหารพม่ากับกองกำลังติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาวกะเหรียงพุทธ หรือ DKBD ในจังหวัดเมียวดี ประเทศพม่า ส่งผลให้ชาวพม่าที่อาศัยอยู่บริเวณชายแดนอพยพเข้าในไทยเป็นจำนวนมาก โดยระบุว่า พื้นที่ในบ้านห้วยม่วง อ.บ้านท่าอาจ และบริเวณกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 346 มีชาวพม่าอพยพเข้ามาจำนวน 15,000 คน ส่วนที่บริเวณ อ.สังขละบุรี มีจำนวน 1,500 คน

 พล.ต.ท.ประยูร กล่าวว่า การดูแลรักษาความปลอดภัยและการให้ความช่วยเหลือนั้น ทางแม่ทัพภาคที่ 3 จะเป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลรับผิดรวมถึงเรื่องการผลักดันชาวพม่าออกนอกพื้นที่ด้วย โดยในส่วนของตำรวจตระเวนชายแดนนั้น ได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ประจำอยู่ที่กองร้อย ตชด ในจังหวัดเข้าไปสนับสนุนการดูแลรักษาความปลอดภัยรวมถึงให้ความช่วยเหลือแล้ว ส่วนสถานการณ์ในขณะนี้ยังไม่สงบเรียบร้อยดี ซึ่งทางการไทยจำเป็นต้องการช่วยเหลือตามหลักสากล ขณะเดียวกันแม้ผู้อพยพจะมีเป็นจำนวนมากแต่ในขณะนี้ยังไม่พบปัญหาเรื่องการก่อเหตุอาชญากรรม แต่มีปัญหาและติดขัดเรื่องอาหารและที่พักอาศัยชั่วคราวที่ยังแออัดเป็นจำนวนมาก

นอภ.แม่สอดเผยผู้ลี้ภัยชาวพม่าเริ่มทยอยเดินทางกลับแล้ว

 นายกิตติศักดิ์ โตมรศักดิ์ นายอำเภอแม่สอด จ.ตาก เปิดเผยว่า ล่าสุดหลังสถานการณ์สู้รบระหว่างทหารพม่าและชนกลุ่มน้อย ดีเคบีเอ.สงบลง ผู้อพยพชาวพม่าที่อาศัยอยู่ในค่าย ตชด. 346 กว่า 2 หมื่นคน เริ่มทยอยเดินทางข้ามแม่น้ำเมยเพื่อกลับไปดูแลบ้านเรือนในจ.เมียวดี ฝั่งตรงข้ามต.ท่าสายลวด อ.แม่สอดแล้วประมาณ 60 -70% โดยมีเจ้าหน้าที่ทหาร ตชด.และหน่วยงานที่เกี่ยวควบคุมดูแลการส่งผู้ลี้ภัยชาวพม่าเดินทางกลับ

พ่อค้าไทยหนีพื้นที่สงครามเบนเข็มหันใช้ระนองส่งสินค้าเข้าพม่า

 นายนิตย์ อุ่ยเต็กเค่ง ประธานหอการค้าจังหวัดระนอง เปิดเผยว่า จากการสู้รบที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ในเขตพื้นที่ภาคเหนือทั้งที่ อ.แม่สอด และ อ.แม่สาย ได้เริ่มส่งผลกระทบต่อการค้าขายตามแนวชายแดนไทย-พม่า โดยเฉพาะการส่งสินค้าจากไทยเข้าไปยังประเทศพม่าที่ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากทางการพม่ายังสั่งปิดพรมแดน อีกทั้งยังมีอันตรายจากการสู้รบ ส่งผลให้กลุ่มพ่อค้าชายแดนของไทยได้หันมาใช้ช่องทางด้านจังหวัดระนองในการส่งสินค้าไปยังประเทศพม่าแทน ซึ่งในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมาพบว่ามีรถบรรทุกสินค้าจากภาคเหนือได้เดินทางมายังจังหวัดระนองกว่า 50 คันในแต่ละวัน เพื่อนำสินค้ามาลำเลียงขึ้นเรือที่ท่าเรือจ.ระนอง ก่อนที่จะส่งไปยังฝั่งจ.ระนองเพื่อลำเลียงขึ้นเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ที่กลุ่มพ่อค้าชาวพม่านำมาจอดรอรับสินค้าอยู่เป็นจำนวนมาก

 “ขณะนี้พื้นที่ทางตอนใต้ และด่านชายแดนด้านจังหวัดระนองเพียงด่านเดียวที่ไม่มีปัญหาใดๆ ยังคงมีบรรยากาศการค้าขาย และความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะพื้นที่ทางตอนใต้ไม่มีกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าจึงทำให้ไม่มีผลกระทบใดๆ ส่วนกลุ่มพ่อค้าทั้งชาวไทยและชาวพม่าที่เคยได้รับบทเรียนจากการปิดด่านพรมแดนบ่อยครั้งช่วงก่อนหน้านี้ ได้เริ่มหาช่องทางใหม่ในการลำเลียงสินค้าเข้าไปยังประเทศพม่า ซึ่งในส่วนของ จ.ระนองแม้ว่าจะมีระยะทางที่ไกลกว่าเส้นทางเดินแต่มีข้อดีคือความปลอดภัยอีกทั้งการขนส่งทางเรือยังสามารถขนส่งได้คราวละมากๆ ทำให้กลุ่มผู้ค้าชายแดนส่วนหนึ่งหันมาเลือกใช้เส้นทางดังกล่าว แต่คาดว่าเป็นเพียงระยะหนึ่งหลังจากเหตุการณ์กลับสู่ปกติ ทางกลุ่มผู้ค้าก็คงจะหันไปใช้เส้นทางเดิมเนื่องจากรวดเร็ว และสะดวกกว่า ”

 นายนิตย์ กล่าวต่อถึงสถานการณ์การสู้รบ และสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศพม่าว่า เป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าหลังการเลือกตั้งจะเกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายอย่างแน่นอน เนื่องจากยังมีอีกหลายกลุ่มชนในประเทศพม่าที่เกิดความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงมีการแสดงออก และหากร้ายแรงถึงขั้นขอแยกตัวก็อาจจะส่งผลให้เหตุการณ์ยืดเยื้อและบานปลาย ซึ่งผลกระทบจะเกิดขึ้นกับประเทศไทยอย่างแน่นอน ดังนั้นขณะนี้จำเป็นต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

 นายกฤษณะ เอี่ยมวงศ์นที เจ้าของกิจการคานเรือชื่อปลาทองที่ จ.ทวาย และประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดระนอง กล่าวว่ายังมองสถานการณ์ในพม่าในขณะนี้ไม่ออกว่าจะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต เนื่องจากหลายปัญหาของพม่ามีความสลับซับซ้อน ซึ่งจำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากพม่าและไทยอยู่ในฐานะประเทศบ้านพี่เมืองน้อง ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในพม่าล้วนแต่ส่งผลกระทบถึงประเทศไทยเห็นได้จากการสู้รบก็จะมีกลุ่มผู้อพยพเข้ามาในไทย หรือการปิดด่านพรมแดน ดังนั้นในสถานการณ์ที่อ่อนไหวเช่นนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้นำประเทศของไทยจะต้องวางตัว วางนโยบายที่เหมาะสม ไม่เช่นนั้นอาจจะเกิดปัญหาความขัดแย้งเกิดขึ้นก็เป็นได้

 “ขณะนี้สิ่งที่ผู้ค้าชายแดน หรือผู้ประกอบการ นักลงทุนชายแดนเฝ้าติดตามคือสถานการณ์บริเวณด่านพรมแดนด้าน อ.แม่สอดจะเกิดความสงบเมื่อไหร่ แม้ว่าในขณะนี้ชายแดนทางตอนใต้ยังไม่มีปัญหาหรือผลกระทบใดๆ แต่หากสถานการณ์ยืดเยื้อผลกระทบคงตามมาอย่างแน่นอน”

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้รับข้อมูลจากประชาชนชาวพม่าที่ข้ามฟากมาซื้อสินค้าในจ.ระนองว่า จากเหตุการณ์สู้รบที่เกิดขึ้นภายในประเทศพม่าทำให้ขณะนี้ทางการพม่าได้ตั้งจุดตรวจอย่างเข้มงวดในหลายพื้นที่ทั้งในจังหวัดเกาะสอง , ทวาย , มะริด โดยเฉพาะรถโดยสาร และเรือโดยสารจะมีการตรวจตราอย่างละเอียด นอกจากยังพบมีการเสริมกำลังเจ้าหน้าที่ทหารจากส่วนกลางเข้ามาเสริมกำลังกับส่วนท้องถิ่น

 นายมู เย ชาวพม่าจากจังหวัดมะริดที่ข้ามฟากนำสัตว์น้ำเข้ามาขาย จ.ระนอง เล่าถึงสภาพบรรยากาศโดยทั่วไปว่าแม้ว่าพื้นที่ทางตอนใต้จะยังไม่มีการสู้รบ เนื่องจากไม่ใช่ถิ่นอาศัยของชนกลุ่มน้อย แต่ก็ถือว่าเริ่มอยู่ในสถานการณ์ตึงเครียด เนื่องจากทางการพม่ามีความเข้มงวดเป็นอย่างมาก ประชาชนแทบจะไม่สามารถทำอะไรได้เลย ทางการคอยจ้องจะดูความผิดปกติตลอดเวลา บางคนเริ่มรู้สึกอึดอัดกับสภาวะการณ์ที่เกิดขึ้น และผลกระทบจากการสู้รบขณะนี้ทำให้ค่าเงินจ๊าดของพม่าแข็งค่าขึ้นจากเดิมที่แลกเงินไทย 10 บาท แลกในอัตรา 300 จ๊าด ปัจจุบันลดเหลือเพียง 220 จ๊าด ส่งผลให้ราคาสินค้าขยับราคาเพิ่มขึ้นตามค่าเงินที่แข็งค่าขึ้น

 แหล่งข่าวด้านความมั่นคงประเทศพม่าประจำจังหวัดเกาะสอง เปิดเผยกับว่าจากการที่เกิดการสู้รบระหว่างทหารรัฐบาลพม่ากับกองกำลังชนกลุ่มน้อยทางตอนบนของประเทศ ทำให้ขณะนี้ทางรัฐบาลทหารพม่าได้มีการเสริมกำลังเพื่อรักษาความเรียบร้อยในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยในส่วนของพื้นที่ภาคใต้หรือเขตตะนาวศรีทางรัฐบาลทหารพม่าได้มีการเสริมกำลังทหารจากกองพลที่ 22 กว่า 100 คนจากจ.สโต รัฐมอญ เข้ามาดูแลความเรียบร้อยในเขตพื้นที่ จ.เกาะสอง และดูแลแนวพรมแดนไทย-พม่า ด้านจังหวัดระนอง-เกาะสอง นอกจากนี้ทางรัฐบาลทหารพม่าได้มีการเสริมเรือรบเพิ่มอีก 2 ลำ จากฐานทัพเรือภาคตะนาวศรี เข้ามาประจำการที่ จ.เกาะสอง เพื่อดูแลรักษาความสงบบริเวณด่านพรมแดน โดยเฉพาะทางทะเล นอกจากนี้ทางทหารพม่าได้มีการเสริมเสบียงทั้งเครื่องดื่มชูกำลัง อาหารกระป๋อง และผงชูรสจากประเทศไทยเป็นจำนวนมาก

 นางสะ เอ อายุ ชาวจังหวัดทวายประเทศพม่า ซึ่งได้เดินทางเข้ามาซื้อสินค้าในจังหวัดระนอง กล่าวว่า ขณะนี้ราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคที่จำเป็นในประเทศพม่าอาทิข้าวสาร , น้ำมันพืช , ผงชูรสฯราคาซื้อขายขยับเพิ่มขึ้นจากช่วงปกติถึง 3 เท่าตัว ทั้งนี้เป็นเพราะค่าเงินจ๊าดที่แข็งค่าขึ้น รวมถึงความความหวาดวิตกของชาวพม่าว่าเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งจะยืดเยื้อ ซึ่งชาวพม่าเคยมีบทเรียนมาแล้วหลาย ดังนั้นการเตรียมความพร้อมจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดในขณะนี้