
ศุกร์ที่ 5 พฤศจิกายน 2553
00 ฝนที่กระหน่ำลงมาแบบไม่ลืมหูลืมตา เพียงชั่วพริบตาเดียวทำให้หาดใหญ่ เมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจและท่องเที่ยวของภาคใต้กลายเป็นทะเล แม้จะมีการวางแผนรองรับไว้เป็นอย่างดี แต่ด้วยปริมาณน้ำที่ตกลงมาเกินกว่า 500 มิลลิเมตร ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ย่อมยากต่อการที่จะรับได้ จะไปโทษใครก็ไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของธรรมชาติจริงๆ แผนที่วางไว้ก็ถือว่าดีอยู่แล้ว และได้ดำเนินการตามแผนมาโดยตลอด
00 นับตั้งแต่น้ำท่วมใหญ่เมืองหาดใหญ่เมื่อปี 2543 ที่สร้างความเสียหายย่อยยับ หลังจากเข้าสู่ภาวะปกติ ก็เริ่มตั้งต้นคิดว่าจะรับมือกับปัญหาน้ำท่วมอย่างไร ครั้งนั้น มีการพูดถึงคลองอู่ตะเภา ซึ่งเป็นคลองสายหลักของเมืองหาดใหญ่ จึงเริ่มมีการขุดลอกคลองอู่ตะเภากันยกใหญ่ แค่นั้นยังไม่พอ ยังมีการขุดคลองเพิ่มใหม่อีก 2 คลอง คือ คลอง ร.1 และคลอง ร.3 เพื่อระบายน้ำจากหาดใหญ่ไปลงทะเลสาบสงขลา สามารถช่วยระบายน้ำออกจากหาดใหญ่ได้มาก แต่ด้วยปริมาณน้ำที่มากจริงๆ อย่างที่ว่า เมืองหาดใหญ่จึงรับน้ำไว้เต็มๆ
00 นอกจากมีการขุดลอกคลองอู่ตะเภาแล้ว ยังมีการพูดถึงถนน "พัทลุง-ราเมศร์" ที่สร้างขวางทางน้ำที่จะระบายลงสู่ทะเลสาบสงขลา จึงมีการเจาะถนนหลายจุดเพื่อให้สามารถระบายน้ำได้คล่องขึ้น ซึ่งการขุดเจาะถนนเปิดช่องทางระบายน้ำก็เสร็จเรียบร้อยแล้วเช่นกัน แต่น้ำก็ยังทะลักเข้าไปท่วมเมืองหาดใหญ่อยู่ดี แต่คราวนี้เข้าใจว่า ถ้าไม่มีพายุลูกใหม่เข้ามาซ้ำเติมอีก หาดใหญ่จะสามารถกลับสู่ภาวะปกติได้เร็ว เพราะระบบระบายน้ำที่คล่องตัวมากขึ้น พร้อมกับการเข้าไปนั่งบัญชาการเองของ "ถาวร เสนเนียม" รมช.มหาดไทย เจ้าถิ่น ที่แม้บ้านเดิมจะอยู่ อ.ระโนด และเจอน้ำท่วมหนักเหมือนกัน แต่ก็ต้องหาดใหญ่เต็มที่ก่อน
00 เช่นเดียวกันกับ "ไพร พัฒโน" นายกนครหาดใหญ่ ฐานะเจ้าถิ่นตัวจริงเสียงจริง ก็ต้องรับบทหนักตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ไม่ได้หลับไม่ได้นอนกับภารกิจช่วยเหลือคนที่ติดอยู่ในบ้าน และการหาเครื่องอุปโภคบริโภคไปให้ชาวบ้านที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ในสถานการณ์ฉุกเฉินเช่นนี้ แต่นี่แหละคือบทบาทของนักการเมืองท้องถิ่นที่ทำงานใกล้ชิดประชาชน เช่นเดียวกับ "พึ่งบุญ วงศ์ชนะ" นายกหญิงเมืองควนลัง ห่างออกไปจากหาดใหญ่นิดเดียว แต่น้ำท่วมถึงเอวเช่นกัน แม้จะเป็นนักการเมืองหญิง แต่เมื่อเข้ามารับหน้าที่แล้ว ก็ต้องช่วยเหลือประชาชนที่เป็นลูกบ้านเต็มที่
00 "ธเนศ ล่องนาวา" นายกอบต.นาทวี จ.สงขลา ก็เช่นกันครับ น้ำท่วมหนักกว่าปี 2531 เสียอีก คราวนี้เจอทั้งฝนถล่มลงมา และน้ำเหนือไหลหลากลงมาจากเทือกเขาน้ำค้างเข้ามาซ้ำอีก ก็ต้องทำหน้าที่ช่วยเหลือคนอย่างสุดความสามารถ ขอเอาใจช่วยทุกคนครับ
"นายหัวไทร"