ข่าว

เรือคราดหอยรุกพื้นที่อนุรักษ์ 
เมื่อชุมชนแสดงพลังปกป้องทรัพยากร

เรือคราดหอยรุกพื้นที่อนุรักษ์ เมื่อชุมชนแสดงพลังปกป้องทรัพยากร

03 พ.ย. 2553

ต.ปากทะเล อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี มีพื้นที่ติดกับอ่าวไทยฝั่งตะวันตก พื้นที่ชายทะเลของปากทะเลจะเป็นหาดโคลนไม่มีหาดทราย วิถีชีวิตหนึ่งของคนในตำบลนี้คือ การเก็บหอยแครงในทะเลโคลนไปขาย ซึ่งเป็นอาชีพที่อยู่คู่กับคนต.ปากทะเลมายาวนาน และคนในตำบลนี้เกินร้อยละ 50 มีว

  สำหรับการเก็บหอยแครงของคนในต.ปากทะเล ยังคงใช้วิธีแบบโบราณ ด้วยการเก็บหอยแครงด้วยมือ ในช่วงน้ำทะเลแห้ง ก็จะถีบกระดานออกไปเก็บหอยแครงกลางทะเลโคลน และเลือกเอาเฉพาะหอยแครงตัวขนาดไม่ต่ำกว่า 6 มิลลิเมตร ซึ่งเป็นขนาดใหญ่ ปล่อยหอยแครงขนาดเล็กเอาไว้ เพื่อไม่ให้หอยแครงสูญพันธุ์ และจากการเก็บหอยแบบนี้เอง ที่ทำให้หอยแครงในหาดโคลนของ ต.ปากทะเล  ยังคงมีหนาแน่น

 อย่างไรก็ดีปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ ในช่วงน้ำขึ้นจะมีเรือคราดหอย ซึ่งเป็นการทำประมงเชิงพาณิชย์เข้ามาลักลอบมาคราดหอย ทั้งที่พื้นที่หาดโคลนอยู่ในรัศมีไม่เกิน 10 กิโลเมตรจากฝั่ง กระทั่งทางจังหวัดได้ประกาศให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์หอยแครง ห้ามจับใช้เครื่องมือใดๆ จับหอยแครง ยกเว้นการจับด้วยมือเปล่า

 "คนเก็บหอยแครงที่จะมาเก็บหรือจับหอยแครงในพื้นที่ปากทะเลทุกคน ต้องทำตามกฎิกาของชุมชนคือต้องเก็บด้วยมือ ห้ามใช้เครื่องมือช่วยทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็นคนในพื้นที่หรือคนนอกพื้นที่ก็ต้องเก็บด้วยมือ เพื่ออนุรักษ์หอยแครง" พุฒิพงศ์ สิงห์เทียน ประธานกลุ่มอนุรักษ์ประมงพื้นบ้าน หมู่ 4 ต.ปากทะเล  ระบุ ถึงข้อตกลงร่วม

 สำหรับเรือคราดหอยต่างถิ่นที่เข้ามาในพื้นที่  ส่วนใหญ่มาจากจ.สมุทรปราการ จะเข้ามาใช้เครื่องมือคราดหอยในช่วงน้ำขึ้นโดยเฉพาะเวลากลางคืน ด้วยพื้นที่อนุรักษ์กว้างถึง 27 ตารางกิโลเมตร ทำให้คนในท้องถิ่นถือเป็นภารกิจร่วม ในการเฝ้าระวังด้วยการร่วมออกตรวจและระมัดระวังไม่ให้เรือคราดหอยเข้ามา เพราะหากไม่อนุรักษ์หอยแครงก็จะหมดไป เรือคราดเหล่านี้จะทำให้ระบบนิเวศเสียเพราะจะพลิกหน้าดินไปกลบหอยตัวเล็ก

 โชติ ฉ่ำทรัพย์ รองประธานกลุ่มอนุรักษ์ประมงชุมชนต้นแบบหมู่ 4 ต.ปากทะเล กล่าวว่า  มีอาชีพเก็บหอยแครงขาย ที่ต้องอนุรักษ์หอยแครงเพราะต้องการให้อาชีพเก็บหอยแครงอยู่ได้ หากไม่อนุรักษ์ไว้คงไม่มีที่ทำมาหากิน ขณะนี้ได้มีการรวมกลุ่มกันออกตรวจไม่ให้มีการทำผิดกฎที่ตั้งไว้

 "หากหอยแครงสูญพันธุ์ ผมไม่รู้จะไปทำอะไรเหมือนกัน อยากให้หน่วยงานราชการเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาเรือคราดหอยบุกรุกด้วย เพราะหากหอยแครงสูญพันธุ์จริง จะมีคนเดือดร้อนนับหมื่นคน" อนันต์ มณีรัตน์ อายุ 33 ปี  ซึ่งมีอาชีพเก็บหอยแครงขาย สร้างรายได้วันละ 300-500 บาท   ระบุ

 วิโรจน์ ศรีนาค นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ปากทะเล อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี กล่าวว่า  ต.ปากทะเล   มีทั้งหมด 4 หมู่บ้าน ประชากร 2,500 คน  ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเก็บหอยแครงตามแนวชายฝั่ง โดยใช้มือเก็บไปขาย แต่ได้ประสบปัญหาความเดือดร้อนเรือคราดหอยได้ลุกล้ำเข้ามาคราดหอยในแปลงหอย

 "เรื่องนี้ผมไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งเจ้าหน้าที่ประมง และกรมการปกครอง เพื่อช่วยแก้ไขปัญหา ที่จริงปัญหานี้มีมานานแล้ว และปกติกรมประมงมีกฎระเบียบอยู่ว่าในพื้นที่รัศมี 3 กิโลเมตรจากชายฝั่ง เป็นที่สงวนให้ชาวประมงพื้นบ้านได้ทำมาหากิน โดยห้ามเรือประมงขนาดใหญ่เข้ามาทำการประมง แต่ที่ผ่านมาไม่ได้มีการบังคับใช้กฎหมายกันอย่างจริงจัง และรายละเอียดข้อกฎหมายไม่ครอบคลุม จึงกลายเป็นช่องว่างให้เกิดการเข้ามาแสวงหาประโยชน์ แต่คนในท้องถิ่นมีท่าทีร่วมกันแล้วว่านี่คือภารกิจที่จะต้องช่วยกันดูแล" นายกอบต.ปากทะเล ระบุ

 "ตอนนี้กลุ่มอนุรักษ์ในพื้นที่จะมีบทบาทสูงมาก ในช่วงน้ำขึ้นก็จะออกไปตรวจ นอกจากนี้ส่วนราชการเองก็เข้าไปช่วยดูแล อบต.ในพื้นที่ก็ช่วยสนับสนุนน้ำมัน ทำให้ปัญหาการบุกรุกจากเรือคราดหอยในพื้นที่อนุรักษ์น้อยลง ซึ่งหากชาวบ้านเข้มแข็งอย่างนี้ อนาคตปัญหาการบุกรุกพื้นที่อนุรักษ์หอยแครงของเรือคราดหอยคงหมดไป" ไพโรจน์ นาครักษา  หัวหน้าสถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 6 (เพชรบุรี) กล่าว

 นี่จึงเป็นการรวมพลังของท้องถิ่นที่มีผลต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรให้คงอยู่

"กัมปทนา ขันตระกูล"