
หลวงพ่ออุ้นเกจิชื่อดังวัดตาลกงมรณภาพ
หลวงพ่ออุ้นเกจิอาจารย์ชื่อดังวัดตาลกง มรณภาพ อย่างสงบ สิริอายุรวม 94 ปี 7 เดือน 22 วัน 74 พรรษา
(31ต.ค.) เวลา 13.00 น. ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปยังวัดตาลกง เลขที่ 53 หมู่ 3 ต.มาบปลาเค้า อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี หลังทราบว่าพระครูวินัยวัชรกิจ หรือที่รู้จักในนามหลวงพ่ออุ้น สุขกาโม เจ้าอาวาสวัดตาลกง ซึ่งเป็นพระเกจิดังระดับประเทศ ได้มรณภาพแล้วอย่างสงบ เมื่อขึ้นไปบนกุฏิที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างภายในห้องกระจกพบ ร่างพระครูวินัยวัชรกิจ ที่นอนอย่างสงบโดยทางคณะกรรมการวัดได้จัดตกแต่งนุ่งสบง,จีวรและสังฆติ ไว้อย่างเรียบร้อย ซึ่งศพถูกตั้งไว้บนแท่นสูงจากพื้นประมาณ 70 เซนติเมตร โดยมีบรรดาลูกศิษย์และประชาชนที่ให้ความเคารพนับถือหลวงพ่ออุ้น เดินทางมากราบไหว้อย่างต่อเนื่อง
ส.อ.กิตติธร โตใหญ่ ศิษย์หลวงพ่ออุ้น ฝ่ายประชาสัมพันธ์ด้านเว็ปไซต์ของวัดตาลกง เผยว่า หลวงพ่ออุ้น ป่วยด้วยโรคเบาหวาน,ความดันโลหิตสูงและปอดติดเชื้อ เข้ารับการรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ กรุงเทพฯ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2553 การรักษาได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง จนคณะแพทย์ได้ลงความเห็นว่าอาการของหลวงพ่อทรุดหนักมาก อยากให้ทางคณะกรรมการวัดนำหลวงพ่อกลับมาที่วัด ทางคณะกรรมการจึงได้นำตัวหลวงพ่อกลับมาถึงวัดเวลา 22.45 นาที ของคืนวันที่ 30 ตุลาคม 2553 จากนั้นเวลา 06.09 น.ของวันที่ 31 ตุลาคม 2553 หลวงพ่อได้จากไปด้วยอาการสงบ สิริอายุรวม 94 ปี 7 เดือน 22 วัน 74 พรรษา
พระครูวชิรกิจจานุกูล รองเจ้าอาวาสวัดตาลกง เปิดเผยว่า ทางคณะกรรมการวัดจะจัดพิธีรดน้ำศพหลวงพ่ออุ้นในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 ในเวลา 16.00 น.เป็นต้นไป โดยได้รับพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ จากนั้นก็จะตั้งศพสวดพระอภิธรรมศพในเบื้องต้นจำนวน 100 วัน หลังจากนั้นจะมีการสวดพระอภิธรรมศพทุกวันพระ ส่วนการฌาปนกิจศพยังไม่มีการกำหนดวัน ต้องประชุมคณะกรรมการวัดและศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่ออุ้นอีกครั้ง
หลวงพ่ออุ้น เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงเลื่องลืออีกรูปหนึ่ง ชื่อทางฆราวาส นายอุ้น อินพรหม เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 9 มีนาคม 2459 ที่บ้านหนองหินถ่วง ต.มาบปลาเค้า อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายบุญ และ นางเล็ก อินพรหม ในวัยเยาว์ ด.ช.อุ้น เริ่มศึกษาเล่าเรียนหนังสือไทย-ขอมที่วัดไสค้าน จนกระทั่งจบการศึกษาภาคบังคับ แล้วมาช่วยเหลือบิดามารดาประกอบอาชีพในด้านเกษตรกรรม เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ได้อุปสมบท เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2479 ณ พัทธสีมา วัดตาลกง โดยมีพระอธิการชัน วัดมาบปลาเค้า เป็นพระอุปัชฌาย์ , พระอธิการผิว วัดตาลกง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการขาว วัดอินจำปา เป็นพระอนุสาวนาจารย์
หลังอุปสมบท ได้อยู่จำพรรษาที่วัดตาลกงและศึกษาพระธรรมวินัยอยู่รับใช้หลวงพ่อผิว ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการศึกษาพุทธาคม เริ่มจากการอยู่ปรนนิบัติรับใช้หลวงพ่อผิว พระอาจารย์ที่เชี่ยวชาญวิทยาคมด้านอยู่ยงคงกระพัน เมื่อท่านมาอยู่รับใช้ใกล้ชิด จนเป็นที่โปรดปราน จึงได้รับการถ่ายทอดสรรพวิชาให้จนหมดสิ้น พรรษาต่อมา พระอุ้น ได้เดินทางไปถวายตัวเป็นศิษย์กับหลวงพ่อทองศุข แห่งวัดโตนดหลวงเพื่อขอเล่าเรียนวิชากสิณจนเชี่ยวชาญในกสิณ 10 และตำรับผงเมตตาต่างๆ หลวงพ่อทองศุข เห็นความมานะพยายาม ประจวบกับหลวงพ่อผิว อดีตเจ้าอาวาสวัดตาลกง มีความคุ้นเคยกันมาก่อน จึงรับท่านไว้เป็นศิษย์ แล้วถ่ายทอดวิชาให้อย่างเต็มที่ จึงกล่าวได้ว่าหลวงพ่ออุ้น เป็นศิษย์ผู้สืบสายพุทธาคมจากหลวงพ่อทองศุข รูปหนึ่งอย่างแท้จริง มิใช่เป็นเพียงการกล่าวอ้าง
หลวงพ่ออุ้นได้ออกปริวาสกรรมร่วมกับหลวงพ่อทองศุข ได้บำเพ็ญเพียรในป่าช้าบ่อยครั้ง ต่อมา ท่านได้พบกับหลวงพ่อจัน วัดมฤคทายวัน ซึ่งเป็นญาติกับหลวงพ่อทองศุข โดยหลวงพ่อจันได้ถ่ายทอดวิชาสะกดชาตรี เป็นวิชาสะกดสัตว์ร้ายให้อยู่กับที่ให้หลวงพ่ออุ้น จากนั้น ท่านได้ไปกราบนมัสการพระอธิการชัน วัดมาบปลาเค้า ขอศึกษาเล่าเรียนวิทยาคม ได้รับการถ่ายทอดวิชาอยู่ยงคงกระพัน ทำตะกรุด เสกลิงลมขับคุณไสย เป็นต้น เมื่อได้เรียนวิทยาคมต่างๆ มาอย่างช่ำชอง ได้เคยนำวิชามาช่วยชาวบ้านขับคุณไสย ขับผี ไล่วิญญาณพเนจรที่เข้าสิงชาวบ้านจนขึ้นชื่อ ที่ใดในแถบตำบลนั้นมีปัญหาเรื่องผีเข้า ถ้าขู่ว่าจะพาไปหาหลวงพ่ออุ้น มักจะออกไปทันที
ด้านการพัฒนาวัด หลวงพ่ออุ้นได้อยู่ช่วยเหลือหลวงพ่อผิว สร้างวัดตาลกงมาตั้งแต่แรก จนสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี หลวงพ่ออุ้น เป็นตัวอย่างของพระภิกษุที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย เป็นพระที่ไม่สะสม ไม่ปรุงแต่ง ไม่ยึดติดในลาภสักการะ มีแต่สงเคราะห์ช่วยเหลือ แผ่เมตตาบารมี ผลงานการสร้างเสนาสนะสงฆ์ตลอดทั้งถาวรวัตถุต่างๆ ปรากฏเป็นรูปธรรมมากมาย เช่น อุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ ฌาปนสถาน สำนักสงฆ์ โรงเรียน ถนน และอื่นๆ อีกมากมาย
หลวงพ่ออุ้น ได้ริเริ่มพัฒนาดำเนินการจัดสร้างสำนักสงฆ์ท่าไม้ลายขึ้น ตั้งอยู่หมู่ 6 ต.เขาเจ้า อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ และได้สร้างโรงเรียนขึ้นพร้อมกัน ก่อนอาพาธหลวงพ่อยังไปมาสำนักสงฆ์แห่งนี้อย่างสม่ำเสมอ ได้นำเอาเครื่องอุปโภคบริโภคไปแจกให้เด็กนักเรียนอยู่เป็นประจำ
หลวงพ่ออุ้น ได้รับสมณศักดิ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พ.ศ.2500 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดตาลกง พ.ศ.2504 ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระครูฐานานุกรม ที่ พระครูสังฆรักษ์ พ.ศ.2508 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี ที่พระครูวินัยวัชรกิจ พ.ศ.2522 และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโทในราชทินนามเดิม เมื่อปี 2531 จนถึงปัจจุบัน
หลวงพ่ออุ้น มีความรู้ความสามารถในไสยเวทพุทธาคม วิปัสสนากัมมัฏฐาน มีญาณสมาบัติแก่กล้า มีวิชาทำวัตถุมงคล ตามตำรับพระเกจิอาจารย์โบราณคณาจารย์ที่มีชื่อเสียงในยุคอดีต สำหรับการสร้างวัตถุมงคลขึ้นเป็นครั้งแรกของหลวงพ่ออุ้น คือ การสร้างพระผงสมเด็จเหม็น โดยเริ่มต้นการสร้างใน พ.ศ.2495 และสิ้นสุดลงในปลาย พ.ศ.2497 รวมเวลาการสร้างกว่า 3 ปี โดยหลวงพ่ออุ้นร่วมกับพระสงฆ์ภายในวัดตาลกงช่วยกัน หลังจากสร้างพระผงสมเด็จเหม็น มีการสร้างพระผงต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง เช่น พระผงสมเด็จ 7 ชั้น เนื้อเหม็น พระสมเด็จ 9 ชั้น เนื้อผสมแร่ พระสมเด็จขี่เสือเนื้อผง เป็นต้น นับรวมกันแล้ว มีพระผงอยู่ประมาณ 26-30 พิมพ์ได้ ต่อมา ได้สร้างวัตถุมงคลด้วยเนื้อแร่เขาพรหมชะแง้ อาทิ พระสมเด็จปรกโพธิ์ พระสมเด็จขี่เสือใหญ่ เสือเล็ก มีพุทธคุณครอบจักรวาลเหมือนดังเหล็กไหล นอกจากนี้ ยังสร้างวัตถุมงคล พ.ศ.2540 สร้างเหรียญรูปไข่ มี 4 เนื้อ คือ ทองคำ เงิน นวะ และเนื้ออัลปาก้า พ.ศ.2542 สร้างพระกริ่ง 3 พิมพ์ คือ พระกริ่งตั๊กแตนใหญ่ พระกริ่งบาเก็ง พระกริ่งจีนสมาธิ และเหรียญหล่อ 1 พิมพ์ คือ เหรียญหล่อสุริยประภา จันทรประภา พ.ศ.2544 สร้างพระเนื้อชินปรอท จำนวน 2 พิมพ์ คือ 1.เหรียญหล่อซุ้มขุนพลเล็ก 2.พระสังกัจจายน์ ตำรับวิชาผสมปรอทแบบโบราณ รวมถึงจัดสร้างเครื่องรางต่างๆ มากมาย อาทิ ผ้ายันต์ ตะกรุด หนุมาน เป็นต้น
วัตถุมงคลของท่านที่จัดสร้างขึ้นเน้นพุทธคุณด้านคุ้ม ครองปลอดภัยและได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง นับได้ว่า เป็นพระนักปฏิบัติวิปัสสนาธุระ และสืบทอดพุทธาคมจากบุรพาจารย์ที่โด่งดังในอดีต มากด้วยครูอาจารย์ บริสุทธิ์ด้วยปฏิปทาสีลวัตร เปี่ยมด้วยเมตตาบารมีธรรม เป็นเนื้อนาบุญของพุทธศาสนิกชนที่พึงเข้าใกล้กราบไหว้ได้อย่างสนิทใจ