
บ้านแพงสุดในโลกของมหาเศรษฐีอินเดีย
อาคารสูงที่มองผ่านๆ คล้ายกับหนังสือหลายเล่มวางซ้อนกันแบบง่อนแง่น คือเคหสถานแห่งใหม่ของ นายมูเขต อัมบานี ประธานกลุ่ม รีไลอันซ์ อินดัสตรีส์ เจ้าของสินทรัพย์ 2.7 หมื่นล้านดอลลาร์ (ประมาณ 8.1 แสนล้านบาท) อภิมหาเศรษฐีผู้มั่งคั่งที่สุดในอินเดีย และหมายเลข 4 ใน
ความสนอกสนใจในเคหสถานรูปทรงแปลกตาสูง 27 ชั้น ริมทะเลอาหรับแห่งนี้ เพิ่มเป็นทวีคูณ หลังจากสื่อท้องถิ่นรายงานว่า นายอัมบานี วัย 53 ปี กับภรรยา นางนิตา พร้อมด้วยลูกๆ 3 คน เตรียมจะย้ายเข้าไปอยู่ หลังจากงานปาร์ตี้เข้าบ้านใหม่ในวันที่ 28 พฤศจิกายนนี้
ที่ผ่านมาเจ้าของอาคารไม่เคยเปิดเผยรายละเอียดของโครงการ แถมยื่นเงื่อนไขให้สถาปนิก มัณฑนากร ตลอดจนผู้รับเหมาก่อสร้างทั้งหลาย ลงชื่อทำข้อตกลงเก็บทุกอย่างเป็นความลับ แต่ผลของความพยายามปิดลับ คือคำบอกเล่าต่อๆ กันไป การออกมาให้ข้อมูลของฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ บางเรื่องก็ยืนยันได้ บางเรื่องเป็นเพียงการคาดการณ์ หรือแย้งกันไปมาระหว่างคนที่ใกล้ชิดกับโครงการ
อาคารแห่งนี้ชื่อว่า อันติเลีย ตามชื่อเกาะลี้ลับในตำนานในยุคสำรวจมหาสมุทรแอตแลนติก ตั้งอยู่บนพื้นที่ 4,352 ตารางเมตร มีพื้นที่สำหรับอยู่อาศัย 4 แสนตารางฟุต อันจะทำให้อาคารแห่งนี้กลายเป็นบ้านใหญ่ที่สุดของโลก แต่หลายคนที่ใกล้ชิดกับโครงการ แย้งแบบไม่ประสงค์ออกนามว่าตัวเลขที่ถูกคือ 6 หมื่นตารางฟุตเท่านั้น สื่อบางแห่งให้ตัวเลขมูลค่าอาคารว่าสูงถึง 1,000 ล้านดอลลาร์ (3 หมื่นล้านบาท) แต่ก็มีคนออกมาแย้งอีกว่าไม่ใช่ นั่นหมายถึงมูลค่าที่บวกราคาที่ดินในมุมไบที่เพิ่มสูงขึ้น มูลค่าก่อสร้างจริงๆ อยู่ระหว่าง 50-70 ล้านดอลลาร์ และบ้างก็ว่าบ้าน 27 ชั้นนี้จะมีคนรับใช้และพนักงานด้านต่างๆ ถึง 600 คน
ส่วนที่ยืนยันค่อนข้างตรงกันคือ 6 ชั้นของอาคารแห่งนี้เป็นลานจอดรถ ไม่นับรวมอีกหนึ่งชั้นสำหรับเป็นอู่ซ่อมบำรุง กับลานจอดรถใต้ดินรองรับรถได้ 160 คัน บนดาดฟ้ามีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ 3 ลาน พร้อมหอควบคุมการบิน มีสระว่ายน้ำมากกว่าหนึ่งสระ เป็นสวนลอย 3 ชั้น และแน่นอนว่า สามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้ทั่วทั้งเมืองกับทะเลอาหรับจากชั้นบนสุดที่ความสูง 173 เมตร
อาคารอันติเลีย มีลิฟต์ 9 ตัวจากห้องล็อบบี้สำหรับการขึ้นลง 27 ชั้น มีห้องสปา 1 ห้อง มีโรงละครขนาด 50 ที่นั่ง กับห้องจัดเลี้ยงขนาดใหญ่ โครงสร้างตึกถูกออกแบบให้ต้านทานแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวขนาด 8 ริกเตอร์
เป็นที่คาดกันว่า ญาติและมิตรสหายของครอบครัวมหาเศรษฐีมูเขต 200 คน ได้รับเชิญให้เข้าชมภายในอาคารแห่งนี้ ข่าวแว่วมาว่างานเลี้ยงจะจัดขึ้นแบบง่ายๆ สบายๆ จะมีแขกอยู่ในแต่ละชั้นไม่ถึง 8 คน เรียกว่าพิเศษจริงๆ สำหรับ 200 คนนี้ ขนาดว่าโอกาสได้เห็นตัวจริงของประธานาธิบดีบารัก โอบามา ของสหรัฐ ระหว่างไปเยือนนครมุมไบในเดือนหน้า ยังจะง่ายเสียกว่าการได้รับเชิญให้เข้าไปข้างในตึกอันติเลีย
การมีอยู่ของเคหสถานตระกูลอัมบานีหลังนี้สำหรับชาวเมืองมุมไบ หลายคนบอกว่ามันทะยานเสียดฟ้าตระการตาเสียจนทำให้เขตแดนระหว่างความเหลือเฟือกับความไม่พอ ชัดเจนมากขึ้นอีกไป จากที่ในชีวิตประจำวันก็พบเห็นช่องว่างกว้างใหญ่ระหว่างความมั่งคั่งและยากไร้อยู่แล้ว พวกเขาจึงมองบ้านสูงใหญ่ริมฝั่งทะเลอาหรับด้วยความรู้สึกระคนกัน ทั้งอึ้ง อิจฉา หมั่นไส้ และก่นด่า ทั้งหลายทั้งปวงตั้งอยู่บนคำถามพื้นๆ ว่า มูเขตสร้างบ้านแบบนี้เพื่ออะไร
"สำหรับพวกเราชาวมุมไบ มองไปที่ตึกทีไรก็ต้องอุทานว่า อะไรกันนี่ ตึกขนาดนี้อยู่กันแค่ครอบครัวเดียวเนี่ยนะ" นายประลัด คักคาร์ นักทำหนังโฆษณาและเป็นที่รู้จักของชาวเมืองมุมไบ แสดงความเห็นและว่า "ไม่ว่าจะเรียกตึกนี้ว่าเป็นจุดสังเกตของเมือง เป็นสัญลักษณ์ หรือว่าเป็นการอวดร่ำอวดรวยก็ตาม แต่รวมๆ กันมันคือความรู้สึกช็อกปนน่าสะพรึงกลัวในเวลาเดียวกัน"
ด้าน อลีคิว พาดัมซี ผู้บริหารบริษัทโฆษณาและนักแสดงในมุมไบ กล่าวว่า พวกเราอยู่ในอารมณ์แบบงงๆ บอกไม่ถูก แต่โดยรวมเขาคิดว่าคนมองเจ้าตึกหลังนี้ว่าเหมือนเป็นการอวดร่ำอวดรวย
มุมไบ หรืออดีตบอมเบย์ เป็นเมืองใหญ่ที่เรียกได้ว่าเจริญที่สุดของอินเดีย มีประชากรในย่านเจริญราวๆ 20 ล้านคน ขณะที่คนต่างจังหวัดก็หลั่งไหลเข้าไปยังเมืองใหญ่แห่งนี้ไม่ขาดสายในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาจากกิตติศัพท์ของมุมไบในฐานะเมืองแห่งความฝัน ที่ไม่ว่าใครก็อาจเป็นเศรษฐีได้
ทว่าอีกด้านหนึ่ง มุมไบ ยังเป็นนครแห่งผู้ยากไร้เช่นกัน ผลศึกษาเมื่อไม่นานมานี้ พบว่าประชากรร้อยละ 62 ของมุมไบ อาศัยอยู่ในชุมชนแออัด รวมทั้ง ทาราวี ชุมชนแออัดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชีย โดยเป็นที่อยู่อาศัยของคนมากกว่าล้านคน
เรื่องราวตระกูลอัมบานี เป็นเหมือนละครทีวีอันโด่งดังที่ฉายมานานหลายสิบปีในอินเดีย นับจากรุ่นบิดา คือนายทิรุนไพ อัมบานี คหบดีที่สร้างอาณาจักร รีไลอันซ์ อินดัสตรีส์ จากเสื่อผืนหมอนใบ ปัจจุบัน รีไลอันซ์ เป็นผู้ผลิตไฟเบอร์และเส้นด้ายโพลิเอสเตอร์รายใหญ่สุดของโลก คิดเป็นร้อยละ 5 ของมูลค่าสินค้าส่งออกของอินเดีย ทั้งยังมีธุรกิจน้ำมัน ค้าปลีก เทคโนโลยีชีวภาพ
นายมูเขต ลูกชายคนโตกับน้องชาย นายอานิล คือผู้รับมรดกและแบ่งทรัพย์สมบัติ แต่มีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งกันนานหลายปี รวมทั้งการแก่งแย่งสัมปทานก๊าซธรรมชาติเมื่อไม่นานมานี้ ทะเลาะกันถึงขั้นที่นายกรัฐมนตรีอินเดียออกมาตำหนิ ก่อนที่ศาลสูงเข้าไกล่เกลี่ยคดีและตัดสินให้ประโยชน์แก่ฝ่ายนายมูเขต
นายอานิล เป็นคนที่มีสีสันและสังคมเก่ง ส่วนนายมูเขตถูกมองว่าเป็นคนเงียบขรึมเก็บเนื้อเก็บตัว แต่กลับเป็นคนที่คิดสร้างบ้าน 27 ชั้นให้ตัวเอง
อาคารหลังนี้ตั้งอยู่บนถนนอัลทาเมานท์ ย่านคัมบัลลา ฮิลล์ ทางทิศใต้ของนครมุมไบ ย่านคนรวยคนดังอันร่มรื่น ซึ่งราคาที่ดินสูงถึงตารางเมตรละ 1 หมื่นดอลลาร์ (ราว 3 แสนบาท) และเป็นถนนเส้นเดียวกับที่บิดาเคยซื้อบ้านหลังแรกให้นายมูเขต หลังจากย้ายครอบครัวออกจากอพาร์ตเมนต์แออัดที่เคยอยู่สมัยสร้างเนื้อสร้างตัว
ต่อมานายมูเขตได้ซื้ออพาร์ตเมนต์ 14 ชั้น ชื่อว่า "ซี วินด์" (ลมทะเล) ซึ่งอพาร์ตเมนต์แห่งนี้นายมูเขตกับนายอานิลและครอบครัวของทั้งสองเคยอาศัยอยู่ร่วมกันแต่คนละชั้น บางทีก็ทะเลาะมีปากเสียงกันที่นั่น จนมารดาซึ่งอยู่อีกชั้นหนึ่งต้องเป็นกรรมการเข้าห้ามทัพ
บัดนี้มูเขตกำลังย้ายเข้าไปอยู่ในบ้านหอคอยอันจะทำให้อพาร์ตเมนต์ "ซี วินด์" กลายเป็นเพียงเกสต์เฮ้าส์ไปเลย
อุไรวรรณ นอร์มา
ที่มา นิวยอร์กไทม์ส