
ทำนบรอ วิธีจัดการน้ำของชาวอยุธยาในอดีต
จังหวัดพระนครศรีอยุธยามีรูปร่างเป็นเกาะที่มีแม่น้ำไหลล้อมรอบเกาะเมืองอยุธยาเอาไว้ ครั้นเมื่อถึงหน้าฝน หน้าน้ำหลากก็จะท่วมพื้นที่มากเกินความต้องการ
เมื่อเป็นเช่นนี้ชาวอยุธยาจึงแก้ไขปัญหาด้วยการขุดคลองเพื่อระบายน้ำให้ได้มากที่สุด ส่งผลให้คลองที่ขุดขึ้น และคลองธรรมชาติกลายเป็นเส้นทางคมนาคมหลักของชาวอยุธยา คลองเหล่านั้นยังทำหน้าที่เป็นที่ชักน้ำเข้าเมืองเพื่อทำนาอีกด้วย
ในอดีต เมืองอยุธยามีทำนบรอ หรือหัวรอ ทำหน้าที่เป็นที่เบี่ยงเบนกระแสน้ำ และใช้เป็นสะพานข้ามแม่น้ำได้ด้วย และยังเหลือเป็นชื่อตำบลหัวรออยู่จนปัจจุบัน
เพราะบริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะเมือง มีลำน้ำใหญ่ 2 สาย ไหลมาบรรจบกัน คือแม่น้ำลพบุรี และแม่น้ำป่าสัก สายหนึ่งไหลวกไปเป็นคลองเมืองด้านเหนือ อีกสายหนึ่งไหลตรงลงไปเป็นคลองเมืองด้านตะวันออก แต่กระแสน้ำมักไหลลงตรงด้านตะวันออกมากกว่าด้านเหนือ จึงต้องสร้างทำนบรอไว้ตรงหัวมุมเกาะเมืองด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งนี้ก็เพื่อชะลอกระแสน้ำให้เฉลี่ยไหลไปทั้งสองทางพร้อมๆ กัน
เอกสารจากหอหลวงอธิบายเกี่ยวกับหัวรอว่า “ทำนบรอนั้นกว้าง 3 วา (ราว 6 เมตร) มีช่องกลางแม่น้ำ สำหรับเรือใหญ่น้อยไปมาได้ระหว่าง นั้นบนทำนบรอทั้งสองฝั่งมีกระดารปูเป็นพื้น มีลูกฟูกไม้ห่างศอกหนึ่งเป็นที่ลาดลงมาถึงตลิ่งทั้งสองฝากที่กลางนั้นปูกระดานเป็นเหมือนตะพานช้าง ทำนบรอนี้สำหรับสมณพราหมณาจาริยอณาประชาราษฎร และช้างม้าเกวียนต่างเดินเข้าออกในพระนครแต่ทางเดียวเรียกว่าหัวรอ ที่เชิงลาดตะพานทำนบนั้นมีเจ้าพนักงานกรมพระนครบาลรักษาอยู่ที่ศาลาเชิงทำนบ ห้ามไม่ให้ช้างม้าเกวียนกระบือต่างเดินเลยเป็นอันขาด ยกเว้นไว้แต่ราชการหลวงเท่านั้นเดินได้ แต่มีบาดหมายมาบอกก่อน”
เอกสารจากหอหลวงระบุไว้อีกว่า ชาวอยุธยาไม่ได้สร้างทำนบรอนี้ไว้ตั้งแต่ทีแรก ทำนบรอนี้พวกมอญในกองทัพพม่าสร้างขึ้นสมัยแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ราวพ.ศ. 2099 ครั้งนั้นพระเจ้ากรุงหงสาวดียกทัพมาล้อมกรุง พวกมอญเอาไม้ตาลโตนดมาปักเป็นทำนบรอถมดินทำสะพานเรือกข้ามแม่น้ำเข้ากรุงฯ ภายหลังเสร็จสิ้นศึกสงครามแล้วก็ไม่ได้รื้อถอนออกไป ยังคงใช้งานเป็นสะพานใหญ่ข้ามแม่น้ำเข้ากรุง แต่ปัจจุบันทำนบรอไม่มีให้เห็นแล้ว
ถ้าชาวอยุธยายังให้ความสำคัญกับแม่น้ำลำคลองอยู่ โดยช่วยกันดูแลรักษาให้แม่น้ำลำคลองเหล่านั้นยังใช้งานได้ ก็คงจะช่วยบรรเทาวิกฤติน้ำท่วมที่กำลังประสบอยู่ได้บ้างไม่มากก็น้อย
"เรือนอินทร์ หน้าพระลาน"
ที่มาภาพประกอบ
สุจิตต์ วงษ์เทศ, อยุธยายศยิ่งฟ้า, กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการพิมพ์, 2552, หน้า 255.