ข่าว

มองผ่านเลนส์คม - สุโขทัยระทม

มองผ่านเลนส์คม - สุโขทัยระทม

28 ต.ค. 2553

เขียนถึงกิจกรรมเพื่อสังคมของคนบันเทิงในช่วงน้ำท่วมเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มาถึงวันนี้ก็รู้สึกชื่นใจที่เห็นทุกหน่วยงานรัฐบาลราชการเอกชน สื่อต่างๆ รวมทั้งนักร้องนักแสดงร่วมกันทำกิจกรรมกันอย่างคึกคัก คนที่ประสบภัยน้ำท่วมในคราวนี้คงอบอุ่นใจกันไม่น้อยที่เห็นว่าคนไ

  วันอังคารที่ผ่านมาจัดงานชนกันหลายมุมเมืองทั้งในส่วนค่ายเพลง ดาราตลก สถานีวิทยุ ฯลฯ ขอให้คุณงามความดีที่ทำกันในครั้งนี้ส่งผลให้มีสุขโดยทั่วหน้ากัน นอกเหนือจากความสุขใจที่ได้จากการเป็นผู้ให้ซึ่งได้รับกันทันทีทันใด

 และเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาก็ตรงกับวันพระราชทานเพลิงศพครูจิ๋ว พิจิตร ที่วัดหลักสี่ กรุงเทพฯ ซึ่งท่านเป็นคนจังหวัดอ่างทองที่กำลังประสบปัญหาน้ำท่วมอยู่ยามนี้

 ผมนึกย้อนไปถึงความเป็นอัจฉริยะของครูจิ๋วที่เคยเขียนเพลง ''สุโขทัยระทม'' ให้ เพชร โพธาราม ขับร้อง ที่ขึ้นต้นว่า "บ้านพี่อยู่สุโขทัย เพราะบ้านพี่ไฟไหม้ ขอลามาไกลทิ้งถิ่น...” เพลงนี้ครูใช้เวลาแต่งไม่นานนักขณะเดินทางด้วยรถยนต์ผ่านจังหวัดสุโขทัย ซึ่งกำลังมีเหตุอัคคีภัยอยู่พอดี

 ถ้าครูยังอยู่และยังมีเรี่ยวแรงดี เราคงได้ฟังเพลงที่เป็นบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองกันในแต่ละช่วงเวลากันบ้าง
 อีกเพลงหนึ่งที่ครูฉลอง ภู่สว่าง เคยเขียนถึงเหตุการณ์น้ำท่วมอ่างทองและไฟไหม้ที่สระบุรี ในเพลง "สระบุรีร้องไห้” ที่ระพิน ภูไท ขับร้องไว้ ยกท่อนกลางๆมาให้อ่านดังนี้
 “...พี่นอนศาลาเหว่ว้าน้ำตาร่วงหล่น
 รอรับแรงใจจากคน ด้วยใจช้ำหม่นหมองใจสุดตรม
 น้ำใจช่างดี แต่ไม่มีสาวนัยน์ตาคม
 เจ้าไม่มาหาคนทุกข์ตรม
 ความหวังจึงล่ม แสนตรมฤดี
 น้ำท่วมอ่างทองบ้านน้องนงคราญ
 พี่ยังอุตส่าห์ปิดร้าน ช่วยน้องขนข้าวของหนี
 ถึงคราวพี่ชายโดนไฟไหม้สระบุรี
 เพียงหยดน้ำใจก็ไม่เห็นมี จะไม่ให้พี่น้อยใจ น้อยใจ...”

 แม้จะเป็นเพลงรักตัดพ้อสาวๆ แต่ก็แฝงไว้ด้วยเรื่องของความทุกข์ระทมของคนที่ประสบทั้งอัคคีภัยหรืออุทกภัย ที่รอรับน้ำใจจากใครสักคน ในยามที่พึ่งพาตนเองไม่ได้

 เพลงในลักษณะนี้ เราคงจะไม่ได้ฟังจากนักแต่งเพลงรุ่นใหม่ๆ เพราะอุตสาหกรรมเพลงลูกทุ่งเปลี่ยนไปตามสมัยนิยม ทุกวันนี้คนแต่งเพลงจะเขียนเพลงให้ขายได้และได้รับความนิยม ต้องหยิบเรื่องใกล้ตัวอย่างเรื่องการสื่อสารด้วยโทรศัพท์มือถือมาเขียนกันเป็นส่วนใหญ่

 แต่เราก็ยังหวังลึกๆ ว่า เพลงลูกทุ่งที่เป็นกระจกสะท้อนสังคมในแต่ละยุค ได้กลับมาทำหน้าที่ของมันอย่างเดิมบ้าง ในการบันทึกความทุกข์ยากเข็ญของประชาชน อย่างเช่นเพลง “น้ำตาอีสาน” “น้ำตาชาวใต้” ที่ครูชลธี ธารทอง แต่งให้สายัณห์ สัญญา หรือเพลง "น้ำท่วม” ที่ศรคีรี ศรีประจวบ ขับร้อง โดยครูไพบูลย์ บุตรขัน ประพันธ์เอาไว้ และกลายเป็นเพลอมตะที่เราได้ยินบ่อยๆ ตามสถานีวิทยุในช่วงนี้

 ไม่อยากจะคิดว่า นักแต่งเพลงยุคนี้สนใจแต่เรื่องใกล้ตัวจึงขาดแรงบันดาลใจในเรื่องความเป็นอยู่ทุกข์ยากของคนในแผ่นดิน แต่ไม่เชื่อเด็ดขาดว่า คนเขียนเพลงวันนี้จะเขียนเพลงแนวนี้ไม่ได้ มันอยู่ที่ว่า มัวแต่ก้มหน้าก้มตาแต่งเพลงเป็นธุรกิจอุตสาหกรรมกันจนเกินไปหรือเปล่า

"นคร ศรีเพชร"