
โรงงานอุตฯน้ำท่วมเสียหาย106ล้านคปภ.ระบุรถยนต์แจ้งประกันภัยเบื้องต้น666คัน
กระทรวงอุตสาหกรรมเผยโรงงานรับผลกระทบน้ำท่วม 259 แห่ง รวมมูลค่าเสียหายกว่า 106 ล้านบาท ด้าน คปภ.ระบุมีรถยนต์แจ้งเสียหายแล้ว 666 คัน มูลค่าเอาประกัน 49.56 ล้านบาท เร่งสำรวจความเสียหายเพิ่มหลังน้ำลด พร้อมหาทางเยียวยา
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ร่วมกับอุตสาหกรรมจังหวัด 75 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อประเมินผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย และสรุปมาตรการช่วยเหลือเยียวยา โดยระบุว่าขณะนี้จังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วม 32 จังหวัด มีโรงงานอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบ 259 ราย กว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในภาคอีสาน ขณะที่กลุ่มเอสเอ็มอีมี 51 ราย รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 106 ล้านบาท ส่วนพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ยังไม่ได้รับผลกระทบ
ทั้งนี้ ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดเร่งหามาตรการช่วยเหลือด้านภาษีและค่าธรรมเนียม โดยเบื้องต้นจะยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีสำหรับปี 2553 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการ โดยสามารถร้องขอความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัย สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม สายด่วน 1563
นางจันทรา บูรณฤกษ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยตัวเลขความเสียหายจากเหตุอุทกภัยจนถึงวันที่ 26 ตุลาคม 2553 ว่ามีรายงานของผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนทั้งสิ้น 40 ราย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูลของการทำประกันชีวิต สำหรับการประกันวินาศภัยได้รับรายงานว่ามีจำนวนรถยนต์ที่ทำประกันภัยประเภท 1 จำนวน 443,182 กรมธรรม์ รวมมูลค่าจำนวนเงินเอาประกันภัยทั้งสิ้น 200.476 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ ได้รับรายงานความเสียหายเบื้องต้น จำนวน 666 คัน คิดเป็นมูลค่าจำนวนเงินเอาประกันภัยทั้งสิ้น 49.56 ล้านบาท
สำหรับบริษัทที่รับประกันภัยสูงสุด คือ บริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด รองลงมา คือ บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) ตามลำดับ ซึ่งคาดว่าหลังจากน้ำลดแล้วจะได้รับรายงานความเสียหายเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก
สำหรับการประกันอัคคีภัยและความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน มีจำนวนกรมธรรม์ทั้งสิ้น 684,376 กรมธรรม์ รวมมูลค่าจำนวนเงินเอาประกันภัย ทั้งสิ้น 1.15 ล้านล้านบาท โดยในเบื้องต้นได้รับรายงานความเสียหายของทรัพย์สินเพียง 17 ราย คิดเป็นมูลค่าประมาณ 29 ล้านบาท ทั้งนี้ จำนวนกรมธรรม์ดังกล่าวจะต้องได้รับการตรวจสอบว่าได้มีการซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติมสำหรับภัยน้ำท่วมหรือไม่
เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า ผู้เอาประกันภัยรายใดยังไม่ได้แจ้งความเสียหายของชีวิตและทรัพย์สินที่เกิดขึ้น ขอให้รีบแจ้งให้บริษัทประกันภัยทราบโดยเร็ว พร้อมแสดงรายละเอียดความสูญเสียและมูลค่าความเสียหายเบื้องต้นของทรัพย์สิน ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. จะเร่งให้ความช่วยเหลือด้านการประกันภัยแก่ผู้ประสบภัยอย่างรวดเร็วและเป็นธรรมต่อไป