ข่าว

น้ำท่วมเมืองโคราชทำเศรษฐกิจพังพันล้าน

น้ำท่วมเมืองโคราชทำเศรษฐกิจพังพันล้าน

21 ต.ค. 2553

น้ำท่วมทำเศรษฐกิจโคราชอ่วม คาดเสียหายมากกว่า 1,000 หวั่นกระทบทั้งภาคอีสาน ด้านนวนครเริ่มรันเครื่องจักรการผลิตตามปกติได้แล้ว 2 โรงงาน ส่วนอีก 1 โรงเสียหายยับ สมาคมไหมปักธงชัยยังเดือดร้อนหนักขณะที่ปริมาณน้ำยังไม่ลด เสียหายนับ 60 ล้านบาท

 (21ต.ค.) นางสุบงกช วงศ์วิชยาภรณ์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมโดยภาพรวมขณะนี้ถือว่าอยู่ในขั้นวิกฤต ประชาชนออกมาจับจ่ายใช้สอยสินค้าไม่ได้ ร้านค้าห้างสรรพสินค้า รวมทั้งพื้นที่เศรษฐกิจหลายแห่งในจังหวัดนครราชสีมาได้รับผลกระทบอย่างหนัก มูลค่าความเสียหายมากกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้กำลังส่งผลกระทบไปทั่วทั้งภาคอีสาน เนื่องจากจังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดที่มีภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตรใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของภูมิภาค ทำให้การผลิตสินค้า การขนส่งต้องหยุดชะงักตามไปด้วย ส่งผลกระทบต่อจีดีพีของจังหวัดนครราชสีมามากกว่า 50%

 นายสมศักดิ์  ศรีบัวรอด ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า พื้นที่ใน อ.ปักธงชัยทั้งหมดได้ความเสียหายอย่างหนัก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับผ้าไหม  น้ำเข้าท่วมโรงงานผลิตเส้นไหมหลายแห่ง ส่วนโรงงานใน อ.ปากช่องที่ได้รับความเสียหายก็มีโรงงานผลิตไม้กวาดส่งออก และโรงงานในเขตประกอบการอุตสาหกรรมนวนคร โคราช ซึ่งขณะนี้เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว โรงงานบางแห่งน้ำไม่ท่วมแต่ท่วมในพื้นที่รอบๆ ทำให้พนักงานมาทำงานไม่ได้ โรงงานถูกตัดไฟต้องหยุดการผลิตสินค้าทั้งๆ ที่มีออร์เดอร์รออยู่ ทำให้เกิดปัญหากับภาคอุตสาหกรรมการส่งออกทั้งหมด ส่วนภาคเกษตรก็ได้รับความเสียหายไม่น้อยเช่นกัน เบื้องต้นคาดว่ามูลค่าความเสียหายทั้งหมดนับพันล้านบาท

 นายปรีชา  ลิ้มอั่ว ผู้จัดการทั่วไปห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ นครราชสีมา กล่าวว่าทางห้างได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้อย่างมาก ยอดจำหน่ายลดลง แต่ก็ยังเปิดให้บริการลูกค้าเป็นปกติ และยังเปิดให้ผู้เดือดร้อนมาใช้ห้องน้ำได้ฟรี ส่วนกิจกรรมที่ได้กำหนดจัดในช่วงนี้ก็ยังคงไว้เหมือนเดิม มีการจัดเหมือนเดิม แต่ก็ต้องยอมรับสภาพว่ายอดขายต่างๆ คงไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ เช่น กิจกรรม Watch Fair 2010 ที่กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 ตุลาคม - 3 พฤศจิกายน 2553 เดิมตั้งเป้าไว้ที่ 50 ล้านบาท แต่ตอนนี้ลดเป้าลงเหลือเพียง 25 ล้านบาท 

 ด้านนายสมบุญ  วัชรเมฆินทร์ นายกสมาคมไหมจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผย ว่า โรงงานผ้าไหมทั้ง อ.ปักธงชัยได้รับความเสียหายทั้งหมดกว่า 60 แห่ง ไม่สามารถเคลื่อนย้ายเครื่องจักรได้ ทำให้เกิดความเสียหายมากกว่า 60 ล้านบาท ซึ่งความเสียหายดังกล่าวยังไม่รวมถึงผ้าไหมในโชว์รูมต่างๆ ของร้านค้าใน อ.ปักธงชัย ที่เคลื่อนย้ายไม่ทัน และยังประเมินความเสียหายไม่ได้

 นายสุชาติ  สิทธิชัย รองกรรมการผู้จัดการธุรกิจอาหารแปรรูปเนื้อไก่  บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า  โรงงานทั้งใน อ.ปักธงชัย อ.โชคชัย และ อ.เมืองของซีพีเอฟ ไม่ได้รับผลกระทบจากการเกิดน้ำท่วม การผลิต การขนส่งยังคงสามารถดำเนินการได้อย่างปกติ จะเกิดปัญหาเฉพาะเรื่องแรงงานที่ไม่สามารถเดินทางเข้ามาทำงานได้ประมาณ 10% แต่ก็ไม่ใช่แรงงานที่เป็นหลักของการผลิต

 น.ส.ฟาง เอกลักษณ์รุจี ผู้จัดการอาวุโสกิจการบรรษัท-กิจการสาธารณะ เทสโก้ โลตัส และเลขานุการมูลนิธิเทสโก้เพื่อไทย เปิดเผยว่า ตลาดเทสโก้โลตัสใน อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมาได้รับผลจากเหตุการณ์น้ำท่วมทำให้ต้องปิดการให้บริการตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2553 เป็นต้นมา สิ่งที่เราสามารถเปิดให้บริการได้ในขณะนี้การตั้งเต็นท์ขายสินค้าประเภทที่มีความต้องการมากที่สุด เช่น น้ำ อาหารแห้ง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นต้น ซึ่งปริมาณความต้องการสินค้าเหล่านี้เพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ โลตัสได้ใช้สาขาใน อ.เมืองเป็นศูนย์กระจายสินค้าหลักให้กับอำเภอต่างๆ ที่ได้รับความเดือดร้อน เบื้องต้นคาดว่าน่าจะเกิดความเสียหายมากกว่า 50 ล้านบาท สำหรับโครงสร้างต่างๆ ของห้างยังคงแข็งแรง และคาดว่าจะฟื้นตัวและเปิดให้บริการได้ในไม่ช้า หากปริมาณน้ำลดลงเป็นปกติ

 นายสุรสีห์  แห่งศรีสุวรรณ ผู้อำนวยการเขตประกอบการอุตสาหกรรมนวนคร (นครราชสีมา) เปิดเผยขณะนี้น้ำที่ท่วมในนวนครจังหวัดนครราชสีมาได้ลดลงจนแห้งสนิทแล้ว สำหรับบริษัทที่ได้รับผลกระทบหนักได้แก่ 1.บริษัท เอ็ม เอ็มไอ พรีซิชั่น แอสเซมบลิ (ไทยแลนด์) จำกัด ที่ผลิตชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ 2.บริษัท ชินเอ ไฮเทค จำกัด ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และ3.บริษัท สยามฟูโกกุ จำกัด ซึ่งผลิตยางรถยนต์ เบรก และครัท โดยโรงงานสยามฟูโกกุ จำกัด ได้รับความเสียหายมูลค่าหลายร้อยล้านบาทเพราะเครื่องจักรที่ใช้ผลิตถูกน้ำท่วมจนเสียหายทั้งหมด ไม่สามารถใช้งานได้
 
 ส่วนบริษัท เอ็ม เอ็มไอ พรีซิชั่น แอสเซมบลิ (ไทยแลนด์) จำกัดและบริษัท ชินเอ ไฮเทค จำกัด สามารถเดินเครื่องจักรได้ปกติแล้ว   การขนส่ง และแรงงงานเข้าสู่ภาวะปกติ ระบบไฟฟ้าก็ใช้งานได้เป็นปกติ โดยโรงงานทั้ง 2 แห่ง กำลังเร่งการผลิตสินค้าที่จะต้องส่งให้ทันตามกำหนด ซึ่งปกติต้องส่งให้ลูกค้าเป็นประจำทุกวัน และขณะนี้บริษัทได้เร่งทำโอที เพื่อให้ทันต่อการสั่งซื้อสินค้าตามที่ตลาดต้องการ