ข่าว

 สิทธิเด็กกับการเฆี่ยนตีของครู (1)

สิทธิเด็กกับการเฆี่ยนตีของครู (1)

21 ต.ค. 2553

ในความรู้สึกของเด็กนักเรียนในหลายประเทศในทวีปคนผิวเหลืองเอเชีย โรงเรียนกำลังกลายเป็นนรกบนดินมากขึ้นทุกที เมื่อนับวันครูซึ่งถูกสังคมและเศรษฐกิจกดดัน จนต้องหันมาระบายความเครียดกับเด็กนักเรียนอย่างไร้ความปรานีและไร้เมตตาธรรมด้วยการเฆี่ยนตีมากขึ้น

ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ยังจัดระดับไม่ได้สักทีว่าการเฆี่ยนตีระดับไหนจึงถือเป็นการอบรมสั่งสอน ระดับไหนเป็นการระบายอารมณ์ ที่ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศรวมไปถึงออสเตรเลียถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิเด็ก 

 ขณะเดียวกัน ผู้ปกครองของเด็กนักเรียนใช่จะยอมงอมืองอเท้าปล่อยให้ครูใช้ความรุนแรงต่อเด็กนักเรียนอย่างไร้เหตุผลง่ายๆ เสียเมื่อไหร่ หลายรายรวมตัวกันร้องเรียนให้สอบสวนครูผู้ไร้เมตตาธรรมเหล่านั้น แต่ผู้ปกครองใจร้อนบางคนก็ใช้วิธี "ตาต่อตา" ทำร้ายครูบ้างเพื่อตอบโต้ที่ตีลูกตัวเองจนเกินเหตุ  ท้ายที่สุดรัฐต้องยื่นมือมาจัดการแก้ไขปัญหานี้ก่อนจะบานปลายกลายเป็นไฟลามทุ่ง อย่างเช่นรัฐบาลบังกลาเทศได้สั่งห้ามโรงเรียนทุกแห่งทั่วประเทศลงโทษนักเรียนด้วยการเฆี่ยนตีแล้ว โดยนายไซเอ็ด อาดัวร์ เราะห์มาน รัฐมนตรีศึกษาธิการ กล่าวว่า การลงโทษด้วยการโบยตีเป็นการขัดขวางพัฒนาการของเด็ก ทั้งๆ ที่ครูควรจะช่วยอบรมสอนสั่งเพื่อให้เด็กเติบโตอย่างมีคุณภาพทั้งร่างกายและจิตใจ จะได้เป็นพลเมืองที่มีคุณค่าของประเทศในอนาคตข้างหน้า

 นายเราะห์มานให้ความเห็นด้วยว่า คำสั่งห้ามเฆี่ยนตีเด็กนักเรียนมีขึ้นหลังผลการสอบสวนพบว่าเป็นการลงโทษที่ไร้มนุษยธรรม นอกจากนี้การเฆี่ยนตียังเป็นสาเหตุให้เด็กหนีโรงเรียนอีกด้วย

 คำสั่งของรัฐบาลครั้งนี้มีขึ้นหลังจากศาลสูงมีคำสั่งให้รัฐบาลหามาตรการรับมือกับคดีที่มีการฟ้องร้องครูว่าลงโทษนักเรียนเกินเหตุที่มีแต่เพิ่มมากขึ้นทุกขณะ หลังจากเมื่อเดือนมีนาคม มีเด็กถึง 8 คน ต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล เนื่องจากถูกครูใหญ่ที่เป็นผู้หญิงลงโทษด้วยการตีอย่างไร้เหตุผลเพียงเพราะลืมเอาดินสอสีไปโรงเรียนเท่านั้น

 จากรายงานขององค์การกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) เผยว่า ผลการสำรวจเด็กนักเรียนกว่า 3,800 คน อายุระหว่าง 9-18 ปี จากนักเรียนกว่า 30 ล้านคนทั่วประเทศ พบว่าครูในโรงเรียน 9 ใน 10 แห่ง มักจะลงโทษด้วยการตีด้วยไม้เรียวหรือไม่ก็หวาย ผลการสำรวจยังพบด้วยว่า เด็ก 7 ใน 10 คนที่ถูกลงโทษทางร่างกาย ต่างไม่ยอมกลับไปโรงเรียนอีก

 อย่างไรก็ดีนักการศึกษาหลายคนแย้งว่าการสั่งห้ามครูตีเด็กนี้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ตราบใดที่ไม่ยอมพิจารณาพฤติกรรมก้าวร้าวของนักเรียนด้วย

บุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์