ข่าว

ฉลองกู้33คนงานเหมืองชิลีแบบราบรื่น

ฉลองกู้33คนงานเหมืองชิลีแบบราบรื่น

15 ต.ค. 2553

ปฏิบัติการกู้ภัยช่วยคนงานเหมืองชิลีทั้ง 33 คน เสร็จสิ้นลงด้วยความราบรื่น เร็วกว่าที่คาดกันไว้ถึง 24 ชั่วโมง เชื่อเลข 33 นำโชคช่วยปฏิบัติการลุล่วงปลอดภัย ชาวชิลีและผู้นำหลายประเทศแสดงความยินดี

ทีมกู้ภัยได้นำตัวนายลูอิส เออร์ชัว หัวหน้าคนงานเหมือง วัย 54 และเป็นผู้เคราะห์ร้ายจากเหตุการณ์เหมืองถล่มเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม คนสุดท้าย ขึ้นจากอุโมงค์ใต้ดินเมื่อเวลา 21.55 น.วันพฤหัสบดี (14 ต.ค.) ตามเวลาท้องถิ่นชิลี ซึ่งตรงกับเวลา 08.55 น.ในประเทศไทย รวมใช้เวลาในปฏิบัติการนำตัวคนงานทั้ง 33 คนขึ้นจากอุโมงค์ใต้ดินที่ความลึก 622 เมตร เพียง 22 ชั่วโมง น้อยกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ถึง 26 ชั่วโมง

 นายลูอิส เออร์ชัว ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำที่ได้ช่วยชีวิตคนงานเหมืองทั้งหมดที่เผชิญวิกฤติใต้ดินในช่วง 17 วันแรกที่ไม่สามารถติดต่อกับโลกภายนอก และเป็นผู้กำหนดการใช้เสบียงฉุกเฉินที่มีสำรองอยู่ในอุโมงค์นิรภัยใต้ดินแบ่งปันสำหรับคนงานเหมืองทั้ง 33 คน โดยกำหนดให้คนงานแต่ละคนรับประทานขนมปังกรอบและปลาทูน่าที่เป็นอาหารสำรองซึ่งมีอยู่อย่างจำกัดทุก 48 ชั่วโมง ทำให้คนงานเหมืองทั้งหมดสามารถรอดชีวิตได้นานถึง 17 วัน ก่อนที่หน่วยกู้ภัยจะเจาะอุโมงค์สำรวจมาถึงยังพื้นที่ซึ่งพวกเขาอาศัยอยู่

 หลังจากได้รับการช่วยเหลือขึ้นมาบนพื้นดิน นายเออร์ชัวได้กล่าวต่อประธานาธิบดีเซบาสเตียน ปิเนรา ที่รอต้อนรับคนงานเหมืองทั้งหมด ณ ที่เกิดเหตุ ว่า "พวกเราได้บรรลุถึงสิ่งที่ทั้งโลกตั้งตาคอย ตลอด 70 วันที่เราได้ต่อสู้อย่างหนักและไม่ยอมแพ้ เรามีแต่ความแข็งแกร่ง เรามีจิตวิญญาณ เราต้องการที่จะสู้ เราต้องการที่จะสู้เพื่อครอบครัวของเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด"

 ขณะที่ครอบครัวคนงานที่ปักหลักรออยู่ในแคมป์โฮปในบริเวณเหมืองซานโฮเซ ร่วมกันปล่อยลูกโป่ง 33 ใบขึ้นสู่ท้องฟ้าทันทีที่เห็นลูอิส เออร์ชัว ซึ่งเป็นการสิ้นสุดการรอคอยอันยาวนานและเต็มไปด้วยความวิตกกังวล ครอบครัวของคนงานร่วมกันส่งเสียงตะโกนด้วยความดีใจพร้อมกับใบหน้าที่มีทั้งรอยยิ้มและน้ำตาแห่งความปลื้มปีติยินดี มีการโบกธงชาติ สวมกอด สาดแชมเปญ และเต้นรำกันอย่างคึกคัก

 นอกจากนี้ บรรยากาศการเฉลิมฉลองยังมีให้เห็นทุกที่ในชิลี รวมถึงในเมืองโคปิอาโป ที่ชาวบ้านเกือบ 3,000 คนมารวมตัวกันที่จตุรัสใจกลางเมืองเพื่อชมการถ่ายทอดสดการช่วยเหลือคนงาน ต่างโบกธงชาติและเป่าวูวูเซลาด้วยความยินดี ในหลายเมืองรวมถึงกรุงซานติอาโก้ รถยนต์หลายคันบีบแตร และคนขับรถส่งเสียงตะโกน "ชิลีจงเจริญ" 
 
คนงานเหมืองอดีตนักบอลทีมชาติโชว์เดาะบอล

 นายแฟรงกลิน โลโบส อดีตนักฟุตบอลทีมชาติชิลี วัย 53 ปี คนงานเหมืองที่ได้รับการช่วยเหลือเป็นคนที่ 28 ได้แสดงทักษะของนักฟุตบอลด้วยการเดาะฟุตบอลด้วยเท้าและเข่าเป็นช่วงสั้นๆ เมื่อวันพุธ หลังจากก้าวออกจากแคปซูล "ฟีนิกซ์" เขาสวมกอดญาติ และประธานาธิบดีปิเนรา ที่รอรับอยู่ นายโลโบสเป็นคนเดียวในชาวเหมือง 33 คน ที่ชาวชิลีรู้จักเป็นอย่างดีก่อนหน้าจะเกิดเหตุร้ายครั้งนี้ เพราะเขาเคยเป็นนักฟุตบอลทีมชาติชิลี ที่ผ่านเข้าไปเล่นในการแข่งขันรอบสุดท้ายที่ "ลอสแองเจลิส โอลิมปิก" ปี 2527

 นายโลโบสทำงานเป็นคนขับรถบรรทุกที่พาคนงานเหมืองเข้าและออกจากเหมือง เขากำลังอยู่ในเหมืองกับคนงานที่เขาขับเข้าไปตอนที่เกิดเหตุเหมืองถล่ม โชคดีไม่มีใครตาย แต่ถูกตัดขาดจากโลกภายนอกนาน 17 วันกว่าที่โลกจะรู้ว่าพวกเขายังมีชีวิตอยู่ 

22 ชั่วโมงแห่งความหวัง

 เจ้าหน้าที่กู้ภัยเริ่มช่วยคนงานเหมืองคนแรกขึ้นมาได้เมื่อเวลา 00.11 น.เมื่อวันพุธตามเวลาท้องถิ่น ตรงกับเวลา 10.11 น.ในประเทศไทย คือนาย ฟลอเรนซิโอ อวาลอส ผู้ออกมากอดบุตรชายวัย 7 ขวบกับภรรยา และประธานาธิบดีปิเนรา ที่มารอต้อนรับอยู่

 ก่อนหน้านี้มีการคาดกันว่าปฏิบัติการกู้ภัยจะสามารถนำตัวผู้ประสบภัยขึ้นมาจากใต้ดินในช่วงปลายเดือนธันวาคม โดยพิจารณาจากปัจจัยด้านการขุดเจาะอุโมงค์กู้ภัยที่ต้องใช้เวลานาน แต่เมื่อผู้เชี่ยวชาญด้านการทำเหมืองจากเยอรมนีและสหรัฐจัดหาอุปกรณ์การขุดเจาะมาช่วยเหลือ ทำให้ปฏิบัติการกู้ภัยเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และถูกจารึกในประวัติศาสตร์ของการกู้ภัยช่วยเหลือคนงานเหมืองจำนวนมากที่ติดอยู่ในความลึก 622 เมตรได้สำเร็จ ปฏิบัติการดังกล่าวยังนำมาซึ่งความภาคภูมิใจและความรักชาติของชาวชิลีอีกด้วย

 คนงานเหมืองทั้งหมดมีสุขภาพดีกว่าที่คาดไว้ แม้จะติดอยู่ในเหมืองใต้ดินถึง 69 วัน ทั้งที่หลังเกิดเหตุไม่นานมีการคาดหมายว่าคนงานเหมืองทั้งหมดเสียชีวิตไปแล้ว ดังนั้นคำพูดของประธานาธิบดีปิเนราที่กล่าวกับนายวิคเตอร์ เซคเวีย คนงานเหมืองคนที่ 15 ที่ได้รับการช่วยเหลือขึ้นมาจากใต้ดินว่า "ยินดีต้อนรับสู่การมีชีวิต" จึงเป็นเรื่องที่ไม่เกินเลยไปจากความเป็นจริง

 ทีมงานกู้ภัยยังได้ตั้งชื่อแคปซูลกู้ภัยทรงเรียวคล้ายตอร์ปิโดความยาว 13 ฟุตว่า "ฟีนิกซ์" ตามตำนานที่กล่าวถึงนกไฟที่สามารถฟื้นคืนชีวิตได้จากกองเถ้าถ่าน เพื่อต้อนรับการเกิดใหม่ของคนงานเหมืองทั้งหมดที่ได้รับความช่วยเหลือกลับสู่พื้นดินจากความลึกกว่าครึ่งกิโลเมตร ทั้งยังวางแผนด้วยความเอาใจใส่ต่อรายละเอียด มีการติดตั้งกล้องวิดีโอติดตามสภาพของคนงานและติดตั้งระบบออกซิเจนในแคปซูล พร้อมทั้งให้คนงานเหมืองทั้งหมดสวมเสื้อกันหนาวเพื่อป้องกันอากาศเย็นและแว่นตาดำกันแดดเพื่อป้องกันอาการเจ็บป่วยเมื่อเผชิญกับสภาพความเปลี่ยนแปลงของอากาศและสภาพแสงบนพื้นผิว

 ภารกิจกู้ภัยคนงานเหมืองชิลีครั้งนี้เสร็จสิ้นสมบูรณ์เมื่อหน่วยกู้ภัยทั้ง 6 คน ที่ลงไปจัดลำดับการให้ความช่วยเหลือและตรวจสุขภาพคนงานเหมืองทั้ง 33 คน กลับขึ้นสู่พื้นดินโดยสวัสดิภาพ โดยนายมานูเอล กอนซาเลซ ผู้เชี่ยวชาญด้านการกู้ภัยที่ได้ลงไปช่วยเหลือคนงานเป็นคนแรก ได้กลับขึ้นมายังพื้นดินเป็นคนสุดท้ายเมื่อเวลา 12.32 น. ตามเวลาท้องถิ่นในชิลี
 
นานาชาติร่วมยินดี

 ประธานาธิบดีอีโว โมราเลส แห่งโบลิเวีย ได้เดินทางไปยังเหมืองทองแดง ในเมืองซาน โฮเซ เพื่อต้อนรับนายการ์โลส มามานี วัย 23 ปี คนงานเหมืองชาวโบลิเวียที่ได้รับการช่วยเหลือขึ้นมาเป็นคนที่ 4 และได้กล่าวขอบคุณชิลีที่ได้ให้การช่วยเหลือชาวโบลิเวียในครั้งนี้ว่า "ในนามของรัฐบาลโบลิเวีย ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าจะตอบแทนความพยายามในครั้งนี้ได้อย่างไร"

 ด้านประธานาธิบดีเฟลิเป คัลเดรอน แห่งเม็กซิโก กล่าวแสดงความยินดีต่อปฏิบัติการกู้ภัย และชื่นชมปฏิบัติการครั้งนี้ว่านอกจากจะช่วยคนงานเหมืองออกจากใต้ดินแล้ว ยังได้กอบกู้ความหวังในเรื่องคุณค่าของมนุษยชาติ และ ทำให้ประชาชนทั่วโลกได้ประจักษ์ถึงความมุมานะ เอาชนะสถานการณ์เลวร้ายได้ ในโอกาสนี้เม็กซิโกร่วมยินดีและเฉลิมฉลองกับความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่นี้ด้วย

 ส่วนนายเควิน รัดด์ รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลีย กล่าวชื่นชมว่า ความสำเร็จของปฏิบัติการช่วยคนงานเหมืองชิลีกว่า 22 ชั่วโมง เป็นชัยชนะของจิตใจของมนุษย์ และเป็นเรื่องน่ายกย่องในความอดทนและความเฉลียวฉลาดที่สร้างความประทับใจไปทั่วโลก นอกจากนี้รัฐบาลชิลีควรได้รับคำชมสำหรับการทำงานอย่างมืออาชีพและกระตือรือร้น และการที่รัฐบาลทุ่มเทนำผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกมาช่วยในปฏิบัติการครั้งนี้

 ทั้งนี้ นายรัดด์ กล่าวว่า ออสเตรเลียมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือคนงานเหมืองชิลีในครั้งนี้ เพราะได้สนับสนุนเทคโนโลยี ผู้เชี่ยวชาญและการสนับสนุนของภาคเอกชน และได้กล่าวชมบริษัททำเหมืองของออสเตรเลีย ทั้ง บีเอชพี บิลลิตัน และเอ็กซ์ตราตา คอปเปอร์ ที่ได้สนับสนุนความรู้ด้านความปลอดภัยของเหมืองและการบริหารการกู้ภัย

 ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศไต้หวันแสดงความยินดีแก่คนงานเหมือง และวางแผนเชิญพวกเขาทั้ง 33 คนไปเยือนไต้หวันด้วย โดยความคิดนี้เป็นของส.ส.ฝ่ายค้าน เพื่อไปร่วมงานเทศกาลดอกไม้นานาชาติในกรุงไทเปที่จะจัดขึ้นในเดือนหน้า

เชื่อเลข 33 นำโชค

 สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่ามีหลายคนที่เชื่อโชคลาง มีความเชื่อว่าเลข 33 มีส่วนเกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือคนงานเหมืองชิลีทั้ง 33 คน ให้เป็นไปอย่างราบรื่นและรวดเร็ว

 นายมิคาอิล โพรเอสตาคีส ผู้จัดการบริษัท ดริลเลอร์ ซัพพลาย คอมพานี ซึ่งเข้าร่วมในการขุดเจาะอุโมงค์กู้ภัย และเชื่อถือในเรื่องโหราศาสตร์ กล่าวว่า ใช้เวลาทำงาน 33 วัน ในการขุดเจาะอุโมงค์กู้ภัยขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 66 เซนติเมตร หรือ 33 คูณ 2 ขณะที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าปฏิบัติการกู้ภัยเริ่มขึ้นในวันที่ 13 ตุลาคม 2010 ซึ่งเขียนได้ว่า 13/10/10 ซึ่งบวกรวมกันได้  33 ส่วน น.ส.มาเรีย เซโกเวีย น้องสาวของคนงานเหมืองชื่อ ดาริโอ เซโกเวีย บอกว่า ทุกอย่างเป็นเลข 33 ทั้งหมด ซึ่งมหัศจรรย์มาก

 สมาชิกคนหนึ่งของกลุ่มคาทอลิกให้ความเห็นว่า พระเยซูอายุ 33 ปีตอนที่ถูกตรึงไม้กางเขน และบางคนก็ชี้ว่า โน้ตแผ่นแรกที่คนงานเหมืองส่งขึ้นมาจากใต้ดินเพื่อบอกว่าพวกเขายังมีชีวิตอยู่ เขียนเป็นภาษาสเปนว่า "เราทั้งหมด 33 คนยังอยู่ในที่หลบภัย" นั้น มีตัวอักษรบวกกับช่องไฟยาวรวมทั้งหมด 33 ตัว