ข่าว

ซูจี:ตลกร้ายพม่า...นักโทษการเมืองที่หย่อนบัตรได้

ซูจี:ตลกร้ายพม่า...นักโทษการเมืองที่หย่อนบัตรได้

14 ต.ค. 2553

ผมกำลังลุ้นครับว่า นักข่าวจากประเทศไทยจะสามารถเข้าไปทำข่าวการเลือกตั้งที่คณะทหารพม่าจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนได้ หรือไม่ ?

 ถ้า นายพลตัน ฉ่วย ผู้นำสูงสุดของเพื่อนบ้านด้านตะวันตกของเรา ไม่กล้าพอที่จะให้สื่อจากสมาชิกอาเซียนด้วยกันเข้าไปเป็นสักขีพยาน ปรากฏการณ์อันสำคัญยิ่งทางการเมืองครั้งนี้ ก็ย่อมแปลว่า เผด็จการทหารพม่ามีเรื่อง “ลับ ลวง พราง” พอสมควร

 ไม่ควรที่ใครจะไว้วางใจได้เลย

 ล่าสุด รัฐบาลทหารพม่าบอกว่า ออง ซาน ซูจี สัญลักษณ์แห่งการเรียกร้องประชาธิปไตยของพม่ามายาวนาน จะมีสิทธิลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง แต่เธอไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง อีกทั้งพรรคเก่าแก่ของเธอที่เคยชนะเลือกตั้งอย่างท่วมท้นมาแล้วเมื่อปี ค.ศ. 1990 คือ National League for Democracy (NLD) ก็ถูกยุบไปแล้ว

 เพราะผู้นำทหารพม่าไม่กลัวหนึ่งเสียงในการใช้สิทธิของเธอ แต่หวาดหวั่นเหลือเกินว่าผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่แกร่งกล้าคนนี้จะกลายเป็นคนที่คนพม่าสามารถเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปได้

 จึงต้องสกัดกั้นทุกวิถีทางไม่ให้เธอเป็น “ทางเลือก” ของประชาชน

 อีกทั้ง คำถามที่สำคัญกว่าการให้เธอมีสิทธิหย่อนบัตรวันเลือกตั้ง ก็คือว่า เธอจะได้รับอิสรภาพหรือไม่ ?

 ข่าวที่ปล่อยออกมาจากรัฐบาล บอกว่าจะปล่อยเธอเป็นอิสระวันที่ 13 พฤศจิกายน หลังวันเลือกตั้ง 7 วัน

 เพราะหากนับย้อนกลับไป คำสั่งให้กักบริเวณเธอครั้ง ล่าสุด 18 เดือน นั้น ก็จะหมดลงในช่วงใกล้ๆ กับวันเลือกตั้งนั่นแหละ

 พรรคเอ็นแอลดี ของเธอประกาศคว่ำบาตรการเลือกตั้งแล้วอย่างเป็นทางการ ดังนั้น จะไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจหากเธอจะบอกว่าขอสละสิทธิ์ที่จะหย่อนบัตรวันเลือกตั้งในการเลือกตั้งที่เธอเชื่อว่าไม่อาจจะเรียกว่า “บริสุทธิ์และยุติธรรม” ได้

 ออง ซาน ซูจี เคยประกาศว่านักโทษการเมืองทั้งหมด 2,100 คน จะต้องได้รับการปล่อยตัวพร้อมๆ กันทั้งหมด

 ดังนั้น หากผู้นำทหารพม่าจะปล่อยตัวเธอช่วงใกล้ๆ กับการเลือกตั้ง เพื่อจะสร้างภาพลักษณ์ว่าพม่าได้กลับสู่กระบวนการประชาธิปไตยแล้ว ก็แน่นอนว่าเธอจะต้องแสดงจุดยืนของเธออย่างชัดแจ้งอีกครั้งหนึ่ง

 นั่นคือ เธอไม่อาจจะยอมรับการ “จัดฉาก” เพื่อปิดบังอำพรางการขยายเวลาของอำนาจทหารด้วยการจัดให้มีการหย่อนบัตรภายใต้กติกาที่เขียน กำกับ และแสดงโดยทหารเองทั้งหมด

 แม้ว่าจะมีการ “ปล่อยตัว” ออง ซาน ซูจี หลังวันเลือกตั้งหนึ่งสัปดาห์ ก็เป็นเพียงการ “สร้างความชอบธรรม” ให้แก่การจัดการเลือกตั้งเท่านั้นเอง

 พอได้รัฐบาลที่เผด็จการทหารต้องการแล้ว จากนั้นจะทำอะไรกับ ออง ซาน ซูจี ก็ไม่มีใครทำนายได้

 เพราะหากว่า นายพลตัน ฉ่วย มีความจริงใจที่จะเคารพในสิทธิของเธอจริง ทำไมไม่ปล่อยเธอตั้งแต่วันนี้ ? ทำไมต้องรอให้เลือกตั้งเสร็จเสียก่อน ?

 ตัน ฉ่วย อาจจะถูกสหรัฐและสหภาพยุโรป กดดันให้ต้องดำเนินการเลือกตั้งให้ได้ “มาตรฐานสากล” แต่ผู้นำทหารพม่าหาทางออกด้วยการไปเยือนอินเดียและจีน ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านใหญ่ที่แข่งขันกันสร้างบารมีกับพม่า เพื่อเป็น “ดุลถ่วง” สำหรับตนเองในเวทีระหว่างประเทศ

 รัฐบาลสหรัฐของประธานาธิบดี บารัก โอบามา ปรับท่าทีด้วยการยอม “เล่นเกมด้วย” โดยหวังว่าจะสามารถน้าวโน้มให้ตัน ฉ่วย ปรับทีท่าเหมือนกัน

 ผลที่ออกมา สหรัฐอาจจะรู้สึกว่าตัวเองต้อง “เสียค่าโง่” ไปไม่น้อย เพราะตัน ฉ่วย พร้อมจับมือกับสหรัฐเพื่อเสริมภาพลักษณ์ประชาธิปไตยของตนเอง แต่ไม่ได้ลดราวาศอกกับ ออง ซาน ซูจี ที่อเมริกาถือว่าเป็น “สัญลักษณ์แห่งการเรียกร้องเสรีภาพทางการเมือง” เลย แม้แต่น้อย

 จีนกับอินเดีย มีผลประโยชน์มากมายในพม่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสงบตรงชายแดนและทรัพยากรธรรมชาติในพม่า ที่สองประเทศยักษ์แห่งเอเชียเสาะแสวงหา

 พม่า จึงกลายเป็นอีกหนึ่งสนามแห่งการประลองกำลังระหว่างมะกันกับจีนและอินเดีย เพื่อทดสอบว่าใครมีวิเทโศบายที่ได้ผลสำหรับตน และเป็นที่ยอมรับของประชาคมโลกกันแน่

 โดยมีไทยและเพื่อนบ้านอาเซียน ยืนเก้ๆ กังๆ อยู่ขอบสนาม อย่างที่เห็นกันนั่นแหละ

สุทธิชัย หยุ่น / http://www.oknation.net/blog/black