
สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลการค้นพบที่ไม่มีวันสิ้นสุด
ในหนังสือนิยายอมตะเรื่อง "ใต้ทะเลสองหมื่นโยชน์" ของ จูลส์ เวิร์น นักเขียนผู้รักการผจยภัยที่เขียนบรรยายการสำรวจท้องมหาสมุทรด้วยเรือดำน้ำ ได้แนะนำหมึกยักษ์เกเรและสัตว์น้ำหน้าตาประหลาดๆ อีกเป็นจำนวนมากให้แก่ผู้อ่านเมื่อกว่า 100 ปีที่แล้วได้รู้จักและใช้จินตน
งานเขียนของ จูลส์ เวิร์น ยังได้จุดประกายให้มีการสร้างเรือดำน้ำที่ใช้ได้จริงเพื่อทำการสำรวจสิ่งมีชีวิตใต้น้ำในเวลาต่อมา และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โครงการสำรวจมโนประชากรสิ่งมีชีวิตในทะเลโลก บรรลุผลสำเร็จในระดับที่น่าพอใจ โดยสามารถค้นพบสิ่งมีชีวิต 201,206 สายพันธุ์ในทะเลทั่วโลก แม้จะคิดเป็นเพียง 1 ใน 4 ของสิ่งมีชีวิตใต้ท้องธารสมุทรของโลกเบี้ยวๆ ใบนี้
ทั้งยังมีการพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่มากกว่า 6,000 ชนิด รวมทั้งสิ่งมีชีวิตที่คิดว่าสูญพันธุ์ไปเมื่อ 50 ล้านปีที่แล้ว และสัตว์หน้าตาประหลาดๆ เช่น ปูขน "เยติ" หนอนปลาหมึก และกุ้งสีชมพูบริเวณนอกชายฝั่งออสเตรเลีย
นักวิทยาศาสตร์ที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวกว่า 2,700 คน ได้ระดมสมองและกำลังในการสำรวจท้องทะเลกว้างใหญ่ที่กินพื้นที่ 3 ใน 4 ของโลก โดยใช้เวลาเกือบ 9,000 วัน กับการดำน้ำลึกสำรวจใต้ทะเล 540 ครั้ง และใช้งบประมาณไปทั้งสิ้นกว่า 650 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท) ทำให้ได้ฐานข้อมูลสำคัญที่ทำให้เห็นภาพของความหลากหลายทางชีวภาพ ความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ รวมทั้งความเชื่อมโยงด้านสายพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตในทะเล เพื่อศึกษาถึงความเปลี่ยนแปลงในอดีตที่จะกำหนดอนาคตของสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตในทะเลเหล่านั้นในอนาคต
มีการส่งยานสำรวจน้ำลึกดำลงไปในบริเวณเหวมาเรียนาในพื้นที่นอกชายฝั่งฟิลิปปินส์ ที่ได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่ซึ่งลึกที่สุดในโลก ด้วยความลึกกว่า 10 กม.ใต้ระดับผิวน้ำ รวมทั้งการสำรวจทรัพยากรบริเวณชายฝั่งทะเลอย่างเอาจริงเอาจัง
พูดง่ายๆ ก็คือการสำรวจครั้งนี้มีเหตุผลสำคัญคือการหาทางป้องกันการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลที่บางชนิดอาศัยอยู่และไม่มีวิวัฒนาการมานานนับหลายล้านปี โดยผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพท้องทะเลอันเกิดจากฝีมือมนุษย์
ผลสำรวจยังมีข่าวร้ายให้มนุษยชาติตระหนักรู้ด้วยว่าแพลงตอนที่เป็นพื้นฐานของห่วงโซ่อาหาร ลดน้อยลงไปเกือบ 40% ในช่วง 30 ปีนี้ทำให้อุณหภูมิในมหาสมุทรเพิ่มสูงขึ้น ฉลามหายไปเกือบ 99% ในบางพื้นที่
มนุษย์กำลังทำร้ายท้องทะเลด้วยการทิ้งขยะ สารพิษ และจับสัตว์น้ำจนเกินกำลังการผลิตของพ่อ-แม่พันธุ์ ซึ่งอาจทำลายวงจรของระบบนิเวศในทะเลลงไปได้ การกระทำของมนุษย์ทุกสิ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของท้องทะเล เปรียบได้ดั่งการที่การเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาวเลยทีเดียว ....