
เล็งตั้งกองทุนประกันภัยพืชเกษตรรัฐอุดหนุนปีละ5พันล้านหวังช่วยชาวนาถูกน้ำท่วม
ธ.ก.ส.พร้อมหนุนประกันภัยพืชผลเกษตรกรควบคู่ประกันรายได้ หลังพบชาวนาถูกน้ำท่วมเดือดร้อนหนัก คาดเริ่มได้ทันปีการผลิตหน้า เล็งตั้งขึ้นในรูปกองทุนวงเงินขั้นต้น 5 พันล้านบาท ปัดร่วมทุนตั้งธนาคารคนจนแต่พร้อมให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ
นายลักษณ์ วัจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ในฤดูกาลผลิตข้าวนาปีปีหน้าคาดว่าจะมีความพร้อมในการประกันภัยความเสียหายของพืชผลทางการเกษตรควบคู่กับการดำเนินโครงการประกันรายได้ได้ทันตามนโยบายของรัฐบาล โดยเบื้องต้นจะจัดตั้งในรูปของกองทุนร่วมบรรเทาความเสียหายของเกษตรกรและต้องได้รับการจัดสรรเงินจากรัฐบาลซึ่งเฉพาะส่วนของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนั้นน่าจะใช้เงินประมาณ 3.5 พันล้านบาท หากรวมพืชข้าวโพดและมันสำปะหลังด้วยน่าจะใช้เงินประมาณ 5 พันล้านบาท ซึ่งเกษตรกรที่ได้รับสิทธิการประกันภัยพืชผลต้องอยู่ในโครงการประกันรายได้อยู่แล้วและอาจต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยส่วนหนึ่งโดยรัฐอาจจ่ายให้ครึ่งหนึ่งเพื่อเป็นการจูงใจ
"การบริหารกองทุนน่าจะตั้งในรูปของคณะกรรมการ โดยกระทรวงเกษตรฯก็สามารถเข้ามาร่วมบริหารจัดได้และรัฐต้องจัดสรรเงินให้กองทุนทุกปีเพราะที่ผ่านมารัฐบาลก็จ่ายเงินชดเชยความเสียหายให้เกษตรกรผ่านทางหน่วยงานต่างๆ อยู่แล้ว ต่อไปสามารถดึงเงินมารวมไว้ในที่เดียวกันเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดและลดความซ้ำซ้อนของการใช้เงิน ซึ่งจะช่วยให้รัฐประหยัดงบลงด้วย ขณะที่เกษตรกรที่พืชผลได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติทั้งน้ำท่วม ภัยแล้ง โรคระบาดก็จะได้รับเงินชดเชยอีกส่วนหนึ่ง นอกเหนือจากเงินชดเชยส่วนต่างการประกันรายได้" นายลักษณ์ กล่าวและว่า เหตุที่สนับสนุนให้มีการประกันภัยพืชผลเพราะเห็นว่าขณะนี้เกษตรกรในโครงการประกันราคาข้าวได้รับผลกระทบจากการที่ราคาข้าวในตลาดสูงกว่าราคาประกันทำให้ไม่ได้รับเงินชดเชย ประกอบกับข้าวได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมอีกทำให้ไม่มีข้าวไปขายจึงยิ่งได้รับความลำบาก ซึ่งค่อนข้างน่าเป็นห่วง ธ.ก.ส.จึงกำลังเร่งสำรวจความเสียหายของพื้นที่เพาะปลูกเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือต่อไป
นายลักษณ์ ยังกล่าวถึงการจัดตั้งธนาคารคนจนของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ว่า ธ.ก.ส.พร้อมให้การสนับสนุนเงินทุนในการปล่อยสินเชื่อตามนโยบายกระทรวงการคลัง โดยจะเป็นพี่เลี้ยงในส่วนของการส่งเจ้าหน้าที่อบรมด้านการปล่อยสินเชื่อและให้เงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อนำไปปล่อยกู้ต่อมากกว่า คงไม่เข้าไปสนับสนุนในรูปของการร่วมลงทุนในบริษัทที่ตั้งขึ้นมาใหม่ เพราะธ.ก.ส.มีนโยบายสนับสนุนเงินทุนให้ชุมชนมีความเข้มแข็งทางการเงินหรือมีสถาบันการเงินของชุมชนอยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาทำโครงการนำร่องที่ จ.เลยและปีนี้จะดำเนินการในอีก 45 จังหวัดจากที่ตั้งเป้าไว้จะต้องมีทุกจังหวัด โดยวงเงินกู้จะขึ้นอยู่กับจำนวนสมาชิกในชุมชนซึ่งน่าจะมากกว่าชุมชนละ 1 ล้านบาท โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 9% ต่อปีเพื่อให้ชุมชนนำไปปล่อยต่อให้สมาชิกที่ระดับ 12% ต่อปี เฉลี่ยน่าจะให้กู้รายละ 2 หมื่นบาท จากที่กำหนดไว้ไม่เกินรายละ 5 หมื่นบาท