
มะละกา
ผมเขียนต้นฉบับ วันเว้นวันฯ ฉบับนี้ที่ปลายแหลมมลายู มองจากหน้าต่างห้องพักที่โรงแรมฮอลิเดย์อินน์ออกไป จะเห็นท้องทะเลช่องแคบมะละกา ซึ่งอยู่ระหว่างเมืองมะละกากับเกาะสุมาตรา ช่องแคบแห่งนี้มีความยาวประมาณ 600 ไมล์
และเป็นเส้นทางเดินเรือซึ่งเชื่อมระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับทะเลจีน มีเรือผ่านเข้า-ออกวันละราวๆ 900 ลำ หรือตกปีละ 5 หมื่นลำ ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าคลองสุเอซ ที่อียิปต์ ประมาณ 2 เท่า และคลองปานามา ในประเทศปานามา 3 เท่า
จากที่ตั้งของเมือง ทำให้มะละกาเป็นเมืองท่าที่สำคัญ และเป็นที่หมายปองของชาติต่างๆ มาตั้งแต่สมัยโบราณ ตามประวัติศาสตร์กล่าวว่า ผู้สร้างเมืองมะละกาคือเจ้าชายปรเมศวร หรือปารมิสวรา แห่งราชวงศ์ไศเลนทร ซึ่งครอบครองนครปาเลมบัง เจ้าชายองค์นี้เสกสมรสกับเจ้าหญิงแห่งมัชปาหิตในอินโดนีเซียปัจจุบัน ต่อมาเกิดการกบฏในเมืองมัชปาหิตและลุกลามมาถึงปาเลมบัง ปรเมศวรจึงหลบหนีมาพึ่งใบบุญของเจ้าเมืองเตมาเซก หรือสิงคโปร์ในเวลานี้ ซึ่งตอนนั้นเมืองเตมาเซกอยู่ในอาณาเขตของสยาม แต่อยู่มาอยู่ไป เจ้าชายปรเมศวรก็ลอบสังหารเจ้าเมืองเตมาเซก จึงถูกขับออกจากเมือง จึงอพยพมาตั้งถิ่นฐานที่มะละกา
แต่ถูกทั้งสยามและมัชปาหิตอ้างอำนาจเหนือดินแดนมะละกา ปรเมศวรจึงหันไปพึ่งจีนโดยส่งทูตเดินทางไปเฝ้ากษัตริย์จีน พระเจ้ายุงโลแห่งราชวงศ์หมิงจึงให้เจิ้งเหอ เป็นแม่ทัพนำกองเรือ 63 ลำ บรรทุกทหารและไพร่พล 2.7 หมื่นคนมาอวดแสนยานุภาพ ตั้งแต่จามปา สยาม ถึงชวา เพื่อปกป้องมะละกา และต่อมาก็เดินทางเข้าไปถึงกรุงศรีอยุธยา และกษัตริย์จันยังส่งเครื่องราชอิสริยยศมาพระราชทานแก่ปรเมศวร ซึ่งปรเมศวรก็ถวายเครื่องราชบรรณาการ เป็นการแสดงว่ามะละกาขึ้นต่อจีน อย่างไรก็ตาม ทางกษัตริย์สยามยังคงถือว่ามะละกาอยู่ในพระราชอาณาเขตของตน และส่งกองทัพมาโจมตีหลายครั้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
ในปี พ.ศ.2000 ศาสนาอิสลามเข้ามามีอิทธิพลในมะละกาผ่านทางพ่อค้าชาวอาหรับ ต่อมาอีก 52 ปี โปรตุเกสก็เดินทางมาถึงที่นี่ และเข้าครอบครองมะละกาในปี 2054 หรือเมื่อ 499 ปีที่แล้ว จนถึงปี 2184 ฮอลันดาก็เข้ามาช่วงชิงดินแดนแห่งนี้ไปจากโปรตุเกส แต่ครอบครองอยู่ได้ถึงแค่ปี 2338 ก็ต้องทำสัญญายกมะละกาให้แก่อังกฤษ และอังกฤษก็ค่อยๆ คืบคลานเข้าสู่แหลมมลายู รวมทั้งไทยต้องยอมเสียดินแดน 4 รัฐของไทยที่อยู่ต้นแหลมมลายู คือกลันตัน ตรังกานู เกดะห์ และปะริส เพื่อแลกกับการยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตตามสัญญาที่ไทยทำกับอังกฤษแต่เดิม
จนถึง พ.ศ.2500 อังกฤษจึงได้ให้เอกราชแก่มลายู ซึ่งรวมกันเป็นประเทศมาเลเซียในปัจจุบันนี้
ครับ นั่นคือเรื่องราวความเป็นมาของมะละกา ที่ผมมองออกไปในทะเลจากดินแดนแห่งนี้ในวันนี้ครับ