ข่าว

ศอฉ.ไม่เกี่ยวปรองดองคุมเข้มแดง3กลุ่ม

ศอฉ.ไม่เกี่ยวปรองดองคุมเข้มแดง3กลุ่ม

07 ก.ย. 2553

น่าสนใจว่า "แผนปรองดอง 5 ข้อ" ของ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ทำท่าว่าจะมาเร็ว-ไปเร็ว-เคลมเร็ว เสียแล้ว

 หลังจากมีเสียงกระแอมไอดังมาจาก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ที่ออกมาดักคอว่า พร้อมจะรับแผนปรองดองของพรรคเพื่อไทย โดยมีข้อแม้สำคัญ 2 ประการ คือ

 1.ต้องเลิกยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวาย 2.ต้องเลิกพฤติกรรมข้องเกี่ยวกับการจาบจ้วงสถาบัน นอกจากนี้ ยังรู้สึก "หนักใจ" กับรายชื่อที่จะส่งมาเจรจาด้วย คือ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทย และ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน และแกนนำนปช.

 ดังนั้น เพียงชั่วข้ามคืน หลังพรรคเพื่อไทยแถลงแผนปรองดอง 5 ข้อ เมื่อวันที่ 5 กันยายน ก็ทำท่าว่าแผนปรองดองจะ "แท้ง" เสียแล้ว เพราะ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย แถลงผลการประชุมพรรคที่ปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งสองข้อของนายสุเทพ

 โดยพรรคเพื่อไทยมีจุดยืนที่จะ "ดูความพร้อม" ของรัฐบาล และองค์กรต่างๆ ก่อนว่าจะมีความพร้อมในการปรองดองหรือไม่ !?

 นายภุมรัตน์ ทักษาดิพงศ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (ผอ.สขช.) ซึ่งผ่านงานด้านการข่าว และการบ้านการเมืองมาถึง 5 รัฐบาลตั้งแต่รัฐบาล นายอานันท์ ปันยารชุน เรื่อยมาจนถึงต้นรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มองเรื่องนี้เป็นแค่ "เกม" เกมหนึ่งเท่านั้น

 อดีต ผอ.สขช. มองว่า การทอดสะพานปรองดองของพรรคเพื่อไทยเป็นเพียงการ "ปรับยุทธวิธีการต่อสู้" เท่านั้น เนื่องจากการเคลื่อนไหวในระยะหลังของพรรคเพื่อไทยเพลี่ยงพล้ำอย่างต่อเนื่อง สังเกตได้จากผลการเลือกตั้งซ่อมกทม. และส.ก.-ส.ข. สองสามครั้งที่ผ่านมา

 เขาชี้ว่า การเปิดเกมรุกอย่างรุนแรงด้วย "คนเสื้อแดง" มากเกินไปทำให้กระแสตอบรับพรรคเพื่อไทยตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง การออกมาเสนอแผนปรองดองของนายปลอดประสพจึงน่าจะเป็นไปเพื่อจุดประสงค์หลัก 2 ประการ คือ

 1.การสร้างภาพลักษณ์ความปรองดองเพื่อแยกออกจากคนเสื้อแดง 2.การ "ซื้อเวลา" เพื่อทบทวนยุทธวิธี หลังพ่ายแพ้มาโดยตลอด

 อดีตผอ.สขช. ชี้ว่า การส่งสัญญาณปรองดองของพรรคเพื่อไทยเป็นเรื่องที่ดี หากนำเสนอด้วยความจริงใจ แต่การปรองดองต้องปราศจากเงื่อนไขสำคัญ 2 ข้อ

 1.ต้องไม่มีการ "ฟอกผิด" ให้ผู้กระทำผิดในช่วงที่ผ่านมา 2.ต้องไม่มีการ "ผสมพันธุ์" กันระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทย อันจะนำไปสู่ "เผด็จการประชาธิปไตย" ซึ่งคงไม่มีใครยอมรับได้

 อย่างไรก็ตาม เขาก็ไม่เชื่อว่า แนวทางปรองดองครั้งนี้จะทำสำเร็จ เพราะต่างฝ่ายต่างรู้ทางกันดี และคงไม่อาจยอมรับเงื่อนไขของกันและกันได้

 โดยเฉพาะเงื่อนไข "รัฐบาลแห่งชาติ" ที่คงมี "บิ๊กจิ๋ว" คนเดียวที่แอบฝันหวานอยู่ แต่ผู้ใหญ่ในประชาธิปัตย์ เช่น นายชวน หลีกภัย คงไม่ยอมอย่างแน่นอน เพราะเท่ากับยอมสูญเสียหลักการของพรรคโดยสิ้นเชิง!!!!

 นอกจากนี้ เขายังมองว่า แผนปรองดองมีคนที่วางแผน "คิดพล็อต" สอดรับกันมาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่การที่นายปลอดประสพออกมาพูดเรื่องแผนปรองดอง หรือก่อนหน้านั้นก็มีภาพของ พ.ต.ท.ทักษิณ จับมือกับ นายเนลสัน แมนเดลา อดีตประธานาธิบดีแอฟริกาใต้

 "ผมคิดว่าภาพที่คุณทักษิณจับมือกับแมนเดลาเป็นภาพจริง ไม่ใช่การตัดต่อ ซึ่งคงเป็นความตั้งใจที่จะสื่อถึงภาพลักษณ์ความปรองดอง แต่ที่ไม่ออกมาเป็นข่าวโด่งดัง เพราะราคาของคุณทักษิณในเวทีโลกไม่เหมือนตอนก่อนเมษายน 2552 อีกแล้ว"

 เมื่อเรื่องนี้เป็นพล็อตที่มีการ "เซตฉาก" มาตั้งแต่ต้น เขาจึงไม่เชื่อว่า ความปรองดองจะเกิดขึ้นจริงตามถ้อยแถลงของพรรคเพื่อไทย

 ขณะที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ก็ไม่เชื่อว่า จะเกิดความปรองดองเช่นกัน โดยกำลังจับตาการเคลื่อนไหวของ "คนเสื้อแดง" หลายๆ กลุ่มเป็นพิเศษ โดยเฉพาะช่วงวันครบรอบ 4 ปีการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้

 ศอฉ. จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ความมั่นคงเกาะติดกลุ่มใต้ดินใกล้ชิดเป็นพิเศษ โดยให้หน่วยข่าว ทั้งสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (สขช.) สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และตำรวจสันติบาล ส่งหน่วยเฉพาะกิจลงพื้นที่ “หาข่าว” เป็นการด่วน โดยจับตามอง 3 กลุ่มหลักเป็นพิเศษ

 1.กลุ่มเคลื่อนไหวในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ได้แก่ กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย กลุ่มไทยแลนด์มิเรอร์ และกลุ่มแดงเชียงใหม่ ที่กำลังจะรวมตัวจัดกิจกรรมรำลึก 4 ปีรัฐประหาร

 2.กลุ่มเคลื่อนไหวในพื้นที่ภาคอีสาน ประกอบด้วย กลุ่มคนรักอุดร กลุ่มคนเสื้อแดงโคราช และ กลุ่มคนเสื้อแดงภาคอีสาน โดยมี "กลุ่มแดงสยาม" ที่มี นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ เป็นหัวหอกสำคัญ

 3.กลุ่มการเมืองที่เป็นอดีต ส.ส. และส.ส.ปัจจุบัน ที่เป็นเครือข่ายของขั้วอำนาจเก่าที่ยังคงตระเวนทำกิจกรรมในหลายพื้นที่

 อย่างไรก็ตาม ฝ่ายความมั่นคงมองว่าอย่างน้อยการส่งสัญญาณของพรรคเพื่อไทยก็ยังมีสัญญาณที่ดีอยู่บ้าง โดยเฉพาะการมอบให้ พล.อ.ชวลิต มาเป็นตัวแทนเจรจา

  โดยมีข่าววงในรายงานว่า ในวันครบรอบวันเกิด 90 ปีของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ที่ผ่านมา

 พล.อ.ชวลิต ได้ "ต่อสาย" โทรหา พล.อ.เปรม เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ตัดสินใจเข้าชายคาพรรคเพื่อไทย ซึ่งถูก พล.อ.เปรม ออกมาเตือนดังๆ ว่า ระวังจะถูกกล่าวหาว่า "ทรยศชาติ" !!!

 เมื่อ "สองอาวุโสผู้ยิ่งใหญ่" ในแวดวงการทหาร และการเมืองส่งสัญญาณ "ปรองดอง" นำร่องมาก่อนเช่นนี้ทำให้การปรองดองดูท่าว่าจะมีลู่ทางสดใสยิ่งขึ้น

 จับปฏิกิริยาได้จากความเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ระยะหลังดูจะทำตัวโลว์โปรไฟล์ และสงบปากสงบคำขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก

 สอดรับกับข่าวลับๆ ที่ว่า ก่อนหน้านี้ พล.อ.ชวลิต ได้เข้าพบ "ผู้ใหญ่ในบ้านเมือง" เพื่อถกแผนปรองดองมาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งดูจะเป็นจิ๊กซอว์ที่ต่อกันติดพอดี

 ทั้งนี้ทั้งนั้น แม้การทอดสะพานปรองดองของพรรคเพื่อไทยจะเป็นไปด้วยสาเหตุใดก็ตาม แต่น่าสนใจว่า เป็นการยื่นเงื่อนไขปรองดองในภาวะที่เพื่อไทยตก "เป็นรอง" ประชาธิปัตย์และคณะแทบทุกด้าน

 โดยเฉพาะ "โผทหาร" และ "โผตำรวจ" เที่ยวล่าสุดที่จะยิ่งเป็นการกระชับอำนาจรัฐบาลให้มั่นคงแข็งแรงยิ่งขึ้น หลังจากเสร็จสิ้นปฏิบัติการกวาดล้างไร่แตงโม-มะเขือเทศ ในการแต่งตั้งโยกย้ายลอตใหญ่เมื่อเร็วๆ นี้

ทีมข่าวความมั่นคง