
ดึง ปชช.แฝงเข้าทะเบียนบ้าน
ทน.มหาสารคาม หวังยกระดับเมือง-เพิ่มงบพัฒนา
มหาสารคาม - ทม.หาสารคาม เดินหน้าเร่งเครื่องดึงประชากรแฝงย้ายทะเบียนบ้าน หวังยกระดับสู่เทศบาลนคร และเพิ่มงบประมาณในการพัฒนาเมือง
นพ.กิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ นายกเทศบาลเมืองมหาสารคาม เปิดเผยว่า เมืองตักสิลา หรือเทศบาลเมืองมหาสารคาม มีประชากรกว่า 4 หมื่นคน แต่มีประชากรแฝงที่เป็นนักเรียน นิสิต นักศึกษาประมาณ 6 หมื่นคน จึงมีปัญหาหลายอย่างตามมา โดยเฉพาะเรื่องระบบสาธารณูปโภคที่ยังไม่ทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็นถนน ท่อระบายน้ำริมฟุตบาท ภูมิทัศน์ยังไม่สวยงามเท่าที่ควร สวนสาธารณะต่างๆ เพราะไม่มีงบประมาณปรับปรุง ทางเทศบาลอยากจะให้เมืองมหาสารคามเป็นเมืองที่สวยงามและสะอาด มีคลองสมถวิลและฟุตบาทที่สวยงาม ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำท่วมขัง น้ำเสีย มีถนนคอนกรีตเสริมเหล็กและท่อระบายน้ำทุกเส้นทาง บ้านเมืองมีระเบียบ เป็นสังคมที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้รับการดูแลตั้งแต่เกิดถึงตาย ผู้ด้อยโอกาส คนชรา ผู้พิการ ต้องได้รับการดูแลอย่างสมศักดิ์ศรี แต่ในแต่ละปีเทศบาลมีงบประมาณ 10-20 ล้านบาทเท่านั้น ไม่พอต่อการพัฒนาทุกอย่าง
"เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรให้ดีขึ้น ประชากรแฝงที่อาศัยอยู่ในเมืองมหาสารคาม 6 หมื่นคนจะต้องย้ายสำเนาทะเบียนบ้านเข้ามาอยู่ในเขตเทศบาล เพราะประชากร 1 คน จะมีเงินสนับสนุนหัวละ 1,000 บาท หากคิดเป็นงบต่อหัวต่อปี เมืองมหาสารคามจะมีงบปีละ 50-60 ล้านบาท แต่งบประมาณดังกล่าวกลับไม่ได้รับการสนับสนุน เนื่องจากประชากรแฝงเกือบร้อยละ 80 อีกทั้งยังมีภูมิลำเนาอยู่นอกเขตเทศบาล ทำให้ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ที่เมืองมหาสารคามเริ่มมีประชากรแฝงเข้ามาพักอาศัย ต้องสูญเสียโอกาสที่จะได้รับงบประมาณมาพัฒนากว่า 500-600 ล้านบาท"
นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า กว่า 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้ไม่สามารถดูแลทุกปัญหาได้ และไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็วทันใจ เนื่องจากงบประมาณมีจำกัด ถ้าจะพัฒนามหาสารคามไปสู่เมืองน่าอยู่หรือเมืองในฝัน ต้องเร่งสร้างจิตสำนึกให้คนที่มาอาศัยอยู่ในเมืองมหาสารคามรู้สึกว่า ปัญหาที่เกิดนั้นมาจากประชากรแฝงที่มีจำนวนมาก โดยเฉพาะปัญหาขยะและน้ำเสีย
"ดังนั้นนักเรียน นิสิต นักศึกษารวมถึงพ่อค้าแม่ค้าจากต่างถิ่น จะต้องเป็นเจ้าของเมืองมหาสารคามร่วมกัน ไม่ใช่แค่ผู้อาศัย โดยการย้ายทะเบียนบ้านเข้ามาเป็นประชากรเมืองมหาสารคาม เพราะหากมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นก็จะมีงบประมาณมาพัฒนาเมืองมหาสารคามเพิ่มขึ้นตามไปด้วย"
นพ.กิตติศักดิ์กล่าวว่า สำหรับการย้ายทะเบียนบ้านนั้น ในส่วนของเทศบาลจะใช้วิธีแบบเคาะประตูบ้านบริการถึงที่ทุกสถาบัน โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นนิสิต นักศึกษา ซึ่งหากได้รับความร่วมมือเพียงร้อยละ 50 เทศบาลเมืองมหาสารคาม จะมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นกว่า 6.5 หมื่นคน และจะมีงบประมาณที่เหมาะสมในการพัฒนา ที่สำคัญอนาคตอันใกล้จะสามารถยกฐานะจากเทศบาลเมืองเป็นเทศบาลนครมหาสารคามได้