
เรียก5ผู้เกี่ยวข้องสอบตึกม.บูรพาถล่ม
พนักงานสอบสวนออกหมายเรียก 5 ผู้เกี่ยวข้องตึกม.บูรพาสอบสาเหตุตึกถล่ม เตรียมตั้งข้อหาประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้รับเหมาแจงก่อนอาคารถล่มมีเสียลั่นของตัวอาคาร
(16ส.ค.) พล.ต.ต.สุวิระ ทรงเมตตา รองผบช.ภ.2 เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินคดีผู้ที่เกี่ยวข้องการสร้างอาคารคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ต.แสนสุข อ.เมือง จ.ชลบุรี ว่า ออกหมายเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องในการสร้างอาคารแล้ว 5 คน เบื้องต้นจะดำเนินคดีข้อหากระทำการโดยประมาท ทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตาย ประกอบด้วย นายกฤษฎา ปฏิญัติโยธิน ผู้ควบคุมงานก่อสร้าง นายทวีชัย สำราญวานิช หัวหน้าควบคุมการก่อสร้างของมหาวิทยาลัยบูรพา นายวัลลภ รุ่งเรือง วิศวกรออกแบบ นายสุรพล งามเลิศ ผู้อำนวยการโครง การก่อสร้างของบริษัท บิลเลียน เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด และนายประทวน ฤทธิ์ดำรงค์ ผู้จัดการ บริษัท บิลเลียน เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เพื่อมาสอบสวนหาข้อเท็จจริงถึงสาเหตุที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ล่าสุดได้ควบคุมตัว นายสำเรียง โพธิ์ศรีทัศน์ หัวหน้าผู้รับเหมาก่อสร้าง มาที่จุดเกิดเหตุแล้ว เพื่อให้ชี้สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุในครั้งนี้
ส่วนความคืบหน้าการช่วยเหลือคนงานที่สูญหาย 2 รายนั้น ขณะนี้หน่วยบัญชาการทหารพัฒนาภาคที่ 1 ได้ส่งกำลังสนับสนุน พร้อมด้วยชุดขุดเจาะพื้นปูนชนิดพิเศษ เครื่องปั่นไฟ มาขุดเจาะบริเวณที่คาดว่ามีคนงานก่อสร้างติดอยู่ ขณะนี้ยังคงยืนยันผู้เสียชีวิต 1 ราย ทราบชื่ว่านายรุ่ง แพสา อายุ 49 ปี คนงานก่อสร้างชา จ.เพชรบูรณ์ และบาดเจ็บสาหัสอีก 2 ราย คือ นางเรือน อายุ 39 และ นายนะ อายุ 26 ปี ยังนอนรักษาตัวที่ ร.พ.มหาวิทยาลัยบูรพา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 02.00 น. นายเสนีย์ จิตตเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่มูลนิธิหยุดค้นหาผู้เสียชีวิตชั่วคราว พร้อมเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางในการค้นหาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะหลังเกิดเหตุปรากฏว่าแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการทำงานลักษณะต่างคนต่างทำ จึงต้องการให้ทำงานไปในแนวทางเดียวกัน
จากนั้นนายไชยยศ จิรเมธากร รมช.ศึกษาฯ,นายเสนีย์ จิตตเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี พล.ต.ต.ธเนศ พิณเมืองงาม ผุ้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรี พร้อมด้วย รศ.ดร.นพ.สมพล พงศ์ไทย อธิการบดีม.บูรพา ร่วมแถลงข่าวกรณีตึกถล่มว่า เช้าวันนี้กระทรวงศึกษาธิ การ จะออกหนังสือเวียนไปทุกมหาวิทยาลัย ให้ตรวจสอบทุกมหาวิทยาลัยที่มีการก่อสร้างเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์กรณีนี้ ในเบื้องต้นสรุปว่า มีคนหายไป 2 รายเท่านั้น และมีคนเจ็บรักษาตัวที่โรงพยาบาลม.บูรพา 3 คน,โรงพยาบาลชลบุรี 1 ราย และบางคนสามารถกลับบ้านได้แล้ว
"อยากให้ทำความเข้าใจกับสื่อมวลชนที่เสนอข่าวคนเสียชีวิตและคนติดอยู่ภายในตึกจำนวนมากนั้นไม่เป็นความจริง คนเสียชีวิตหรือคนบาดเจ็บไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนต่างด้าว ถือว่าเป็นคนเหมือนกัน ซึ่งก็ต้องให้ความสำคัญด้วยกันทั้งนั้น การช่วยเหลือต้องระมัดระวัง ว่าไม่ให้เกิดผลกระทบกัน ทางเราจะมีการตรวจสอบการดำเนินงานของผู้รับเหมา และขบวนการของการผสมปูนถูกต้องหรือไม่ เบื้องต้นจะต้องให้ผู้ตรวจสอบ ใช้เวลาในการตรวจสอบตัวอาคารเท่าที่อธิบการบดีชี้แจงพบว่ามีการประมูลอย่างถูกต้อง ตามกฎเกณฑ์ทั้งเรื่องประกวดราคา จะต้องมีการตรวจสอบตามขั้นตอน เป็นหน้าที่ของตำรวจและของมหาวิทยาลัยด้วย" นายไชยยศกล่าว
ด้านพล.ต.ต.ธเนศ กล่าวว่า เบื้องต้นได้กั้นที่เกิดเหตุไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าไป พร้อมกับจะมีการสืบสวนสอบสวนเบื้องต้นว่ามีผู้เสียชีวิต ที่แท้จริงกี่ราย สำหรับผู้บาดเจ็บ 4 คน รอดตายมา 3 คน ก่อนเกิดเหตุการก่อสร้างนั้นต่อเนื่องมาตลอด มีการเทปูน 2 ชั้นเป็นเหตุให้พื้นถล่มลงมา ตอนเกิดเหตุมีคนงานประมาณ 7 คน ขณะนี้ตำรวจรวบรวมพยานหลักฐานในซากอาคารเก็บรวบรวมสถานที่เกิดเหตุ และสอบสวนผู้กระทำความผิดที่ทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต คาดว่าใช้เวลาประมาณ 7 วันในการจัดการทุกอย่าง ส่วนทางด้านโยธาและผังเมือง การก่อสร้างปกติต้องมีการขออนุญาต แต่สถานที่ราชการไม่จำเป็นต้องขออนุญาต แต่ต้องแจ้งเรื่องก่อสร้างทั้งหมดให้ผังเมืองทราบ ตอนนี้พบอุปสรรคในการตัดเหล็กทำยาก เบื้องต้นมีการจ่ายเงินให้ผู้บาดเจ็บ 5,000 บาทต่อราย ส่วนผู้เสียชีวิตมีการชดใช้ค่าใช้จ่ายให้ทายาท 60 เปอร์เซ็นต์
"ตอนนี้มีผู้เสียชีวิตเพียง 1 คนคือ นายรุ่ง แพสา ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บทราบชื่อ นางเรือน อายุ 39 ปี ชาวกัมพูชาและนายนะ อายุ 26 ปี ทั้งสองรายไม่ได้รับบาดเจ็บมากนัก" พล.ต.ต.ธเนศกล่าว
รศ.ดร.นพ.สมพล กล่าวว่า อาคารทั้งหมดเป็นอาคารหลายอย่างที่เกิดเหตุเป็นอาคารหอประชุมคณะศึกษาศาสตร์ เริ่มก่อสร้างตั้งแต่เดือนกันยายน 2552 ตามสัญญาจะแล้วเสร็จภายกันยายน 2554 มีบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างผ่านการประมูลเรียบร้อย ซึ่งทางมหาวิทยาลัยจะใช้เวลาในตอนนี้ในการตรวจสอบถึงผู้รับผิดชอบของบริษัท
"ส่วนการช่วยเหลือยังคงให้การช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง จะทำการไปประมาณ 7 วัน ด้านความช่วยเหลือเจ้าหน้าที่กู้ภัยได้ใช้เครื่องมือสแกนหาผู้รอดชีวิต สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ให้การช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องมาตลอด" รศ.ดร.นพ.สมพลกล่าว
ก่อนหน้านั้นเวลา 20.50 น.วันที่ 15 ส.ค. พ.ต.ท.สมคิด เฮียงเสถียร สารวัตรเวร สภ.แสนสุข อ.เมือง จ.ชลบุรี รับแจ้งว่า อาคารคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ตรงข้ามกับหอสมุดของมหาวิทยาลัยบูรพา ต.แสนสุข อ.เมือง จ.ชลบุรี ซึ่งกำลังก่อสร้างเกิดการทรุดตัวทำให้มีผู้เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บหลายคน จึงรุดไปที่เกิดเหตุพร้อมด้วย พ.ต.อ.สมชาย ชื่อต่อตระกูล ผกก.สภ.แสนสุข พร้อมทั้งขอกำลังจากเจ้าหน้าที่มูลนิธิในพื้นที่ จ.ชลบุรีลงมาช่วยเหลือ หลังจากนั้นได้รายงานให้ทางจังหวัดชลบุรีทราบ ทำให้นายทรงพล จำปาพันธุ์ รองผู้ว่าฯชลบุรี รุดไปที่เกิดเหตุด้วยเช่นกัน รวมทั้งยังมีนายประมวล เอมเปีย นายมานิตย์ ภาวสุทธิ์ ส.ส.ชลบุรี นายสุชาติ ชมกลิ่น เลขานุการสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ชลบุรี ลงมาดูพื้นที่เกิดเหตุด้วย
จากการเดินทางไปที่เกิดเหตุพบว่าชั้น 2 ของอาคารคณะศึกษาศาสตร์ ซึ่งกำลังเทปูนชั้นที่ 2 ทรุดตัวลง ทำให้พื้นปูนชั้น 2 ไม่น้อยกว่า 80 ตารางเมตร ทรุดตัวลงมา โดยมีผู้ได้รับบาดเจ็บเบื้องต้นคือ นายสำเรียง โพธิ์ศรีทัศ ผู้รับเหมาช่วงในการเทปูนตัวอาคาร นางเรียน นายนะ ชาวกัมพูชา ได้รับบาดเจ็บ จึงมีผู้นำส่งโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพา อาการปลอดภัยทุกคน นอกจากนี้ยังมีชายเสียชีวิต 1 คน จากการที่ถูกคานปูนทับเสียชีวิต
นายสำเรียง โพธิ์ศรีทัศ ผู้รับเหมากล่าวว่า ตนรับเหมาช่วงในการเทปูนตัวอาคารชั้น 2 ครั้งนี้ มีคนงานอยู่ 10 คน แต่การเทปูนในครั้งนี้ใช้คนมาก จึงไปขอแรงงานจากพรรคพวกมาอีก 25 คน รวมทั้งสิ้น 35 คน และได้เทปูนมาตลอดทั้งวัน กระทั่งก่อนจะเกิดเหตุได้เทปูนบริเวณชั้น 2 ของตัวอาคาร ได้ยินเสียงตัวอาคารลั่น จึงนำคนงาน 10 คนลงไปชั้นที่ 1 เพื่อดูว่าเกิดจากอะไร ช่วงที่ลงไปดูพบว่ามืดแล้ว จึงกลับมาที่รถยนต์เพื่อเอาไฟฉาย พอกลับไปยังไม่ทันไรตัวอาคารถล่มลงมาทันที ตัวเองได้รับบาดเจ็บ หันไปมองเห็นว่าคนงานที่ลงไปด้วยกันวิ่งหนีมาได้ 4 คน คาดว่าคงจะติดภายในประมาณ 2-3 คน ส่วนคนงานที่อยู่บนชั้น 2 ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง
จากการสอบถามคนงานที่อยู่บริเวณสถานที่ก่อสร้างกล่าวว่า ได้มีการเริ่มเทปูนมาตั้งแต่ช่วงกลางวัน ซึ่งตามปกติจะมีสลิงดึงหลังจากนั้นจะเทปูนลงไป หากนับขอบจะสูงประมาณ 45 เซ็นติเมตร พื้นจะสูงประมาณ 23 เซ็นติเมตร คาดว่าคงจะมีการเร่งเทปูนอย่างเร็ว โดยไม่รอให้แห้งปกติจะต้องใช้เวลาประมาณ 3-5 วัน แต่การเทปูนในครั้งนี้ คาดว่ายังไม่แห้งดีจึงทำให้ปูนเกิดการทรุดตัว และทำให้พื้นปูนบางส่วนไหลมารวมกัน ทำให้รับน้ำหนักมากจึงทำให้เกิดการทรุดตัวดังกล่าว
ทางด้านนายทรงพล จำปาพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า ช่วงนี้ต้องหาทางช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่ในตัวอาคารให้รอดเสียก่อน และยังไม่ทราบว่ามีจำนวนเท่าใด
ขณะที่ นายเสนีย์ จิตตเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า การเกิดเหตุในครั้งนี้อาจจะมาจากการเร่งงานเกินไป ทำให้ปูนไม่แห้งสนิท น้ำหนักปูนจึงไหลเทลงมารวมกัน ประกอบแรงกระแทกของปูนที่เทลงไป จึงทำให้พื้นมีการทรุดตัวและทำให้เกิดการถล่มลงมาดังกล่าว
สำหรับผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการกลุ่มอาคารคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพาในครั้งนี้คือ บริษัท บิลเลียน เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เลขที่ 53/9 หมู่ 2 แขวงบางพรหม เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ โดยทำสัญญาเลขที่ 8/2552 เริ่มสัญญา 11 ก.ย.52 สิ้นสุดสัญญา 17 ก.ย.54 รวมระยะเวลา 675 มูลค่าการก่อสร้าง 237 ล้านบาท