
"ครูทหารสอนน้อง"ท่องตำรานักรบถือปากกา...ร้อย.ร.1542
ภาพทหารชุดลายพรางพร้อมอาวุธประจำกายเต็มอัตราศึก เดินหรือใช้ยานพาหนะลาดตระเวนเพื่อคุ้มครองชีวิตครู และประชาชนผู้บริสุทธิ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดูจะเป็นเรื่องที่คุ้นชินเสียแล้วสำหรับคนในพื้นที่ หรือกระทั่งคนที่เสพข่าวอยู่ ณ พื้นที่ที่ไกลออกมา
แต่การที่ทหารยืนถือชอล์กอยู่หน้ากระดานดำเพื่อประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ให้แก่เด็กๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ น่าจะเป็นภาพที่แปลกตาอย่างมาก เพราะปกติหน้าที่นี้ต้องเป็นของ "ครู" มากกว่า "ทหาร" ที่ควรจะถือปืน แทนที่จะเป็นปากกา !?
สำหรับพื้นที่อื่นอาจจะเป็นเรื่องที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน แต่สำหรับเด็กๆ ในโรงเรียนสมบูรณ์ศาสน์ ต.ปะแต อ.ยะหา จ.ยะลา ที่มีเด็กนักเรียนตั้งแต่ชั้น ม.1-6 มากถึง 523 คน กลับเป็นเรื่องธรรมดาสามัญในชีวิตประจำวันที่จะมี "ครูทหาร" เข้าไปช่วยสอนเป็นประจำ
ร.อ.อุดม พุฒนุ้ย ผบ.ร้อย.ร.1542 ซึ่งตั้งฐานปฏิบัติการอยู่ใกล้กับโรงเรียนดังกล่าว เป็นเจ้าของความคิดริเริ่มของโครงการที่ชื่อว่า "ครูทหารสอนน้อง" ที่เขาได้เข้าไปสอนวิชาในสายวิทยาศาสตร์ ทั้งฟิสิกส์ เคมี และคณิตศาสตร์ ที่โรงเรียนสมบูรณ์ศาสน์มานานถึงปีเศษๆ แล้ว
ร.อ.อุดม หรือที่เด็กๆ ม.6 ที่เขาไปช่วยเป็นติวเตอร์เรียกอย่างสนิทสนมว่า "ครูบอย" บอกว่า โครงการนี้เริ่มต้นขึ้นมาปีกว่าๆ เมื่อประมาณปี 2552 ซึ่งเขาเพิ่งเข้าไปในพื้นที่ และต้องการที่จะพัฒนาศักยภาพของเด็กและเยาวชนควบคู่ไปกับการทำงานด้านความมั่นคง
เขาจึงเล็งเห็นว่า น่าจะใช้วิชาความรู้ของเขา โดยเฉพาะวิชาสายวิทยาศาสตร์ที่เรียนมาอย่างเข้มข้นตั้งแต่เป็นนักเรียนเตรียมทหาร และนักเรียนนายร้อยจปร. มาใช้ให้เป็นประโยชน์
ประกอบกับเป็นนโยบายของกองบัญชาการผสมพลเรือนตำรวจทหาร(พตท.) อยู่แล้วที่ต้องการให้หน่วยงานในพื้นที่ทำงานด้านการพัฒนาเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับประชาชน เขาจึงปิ๊งไอเดียที่จะเข้าไปเป็น "ติวเตอร์" ให้แก่เด็กๆ ชั้นม.ปลายที่กำลังจะเข้ามหาวิทยาลัย
ร.อ.อุดม กล่าวว่า เดิมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา หรือปอเนาะ เป็นจุดที่เจ้าหน้าที่ยังเข้าไปไม่ถึง และยังเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจถูกชักจูงไปในทางที่ผิดได้ง่าย จึงเข้าไปบอกกับ ผอ.โรงเรียนว่า อยากเข้าไปเป็นติวเตอร์ให้แก่เด็กๆ ซึ่ง ผอ.ก็ยินดี จึงได้เข้าไปสอนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
แรกๆ เขาได้เข้าไปช่วยสอนวิชาฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ หรือเคมี เป็นครั้งคราว แต่นานวันเข้า เมื่อ ผอ.โรงเรียนเห็นความตั้งใจจริง ประกอบกับมีเสียงเรียกร้องจากเด็กๆ เขาจึงได้เข้ามาสอนประจำทุกวันพุธ ครั้งละ 2 ชั่วโมง
ที่น่าภาคภูมิใจก็คือ มีชื่อและรูปของ "ครูบอย" อยู่ในบอร์ดรายชื่อครูในโรงเรียนด้วย ซึ่งถือเป็นการให้เกียรติอย่างที่สุด
เขาบอกว่า แรกๆ ที่เข้าไปก็ไม่คิดอะไร และไม่คิดว่าจะได้รับการตอบรับดีขนาดนี้ คิดแค่ว่าเราอาจจะเข้าไปช่วยให้ความรู้แก่เด็กๆ ได้บ้างเท่านั้น แต่พอได้เข้ามาทำจริงๆ ก็รู้สึกดีใจมากที่ได้ถ่ายทอดความรู้ และทำให้ความสัมพันธ์กับคนในพื้นที่ดีขึ้นด้วย
"ตอนแรกเด็กๆ จะเงียบๆ ไม่กล้าพูดคุยกับเรา แต่พอนานวันเข้าเขาก็กล้าพูดมากขึ้น บางครั้งก็โทรมาปรึกษาเรื่องเรียน บางครั้งก็แจ้งเหตุผิดปกติ ทำให้สถานการณ์ในพื้นที่วันนี้ดีกว่าตอนแรกมาก" ร.อ.อุดม กล่าวด้วยความภาคภูมิใจ
อย่างไรก็ตาม ครูบอยก็เป็นห่วงว่า หลังจากเขาพ้นวงรอบการปฏิบัติภารกิจใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ในเดือนตุลาคมนี้ จะไม่มีผู้สืบสานปณิธานต่อ จึงได้ชักชวน ร.ท.อิสระพงษ์ บุญมา รองผบ.ร้อย.ร.1542 เข้ามาช่วยสอนหนังสือด้วยอีกแรง
"หลังจากผมเข้ามาช่วยสอนผลการเรียนก็ดีขึ้นพอสมควร มีเด็กๆ สอบติดมหาวิทยาลัยมากขึ้น จึงรู้สึกดีใจมากที่เราได้เข้ามาช่วยตรงจุดนี้ แต่ก็กลัวว่าจะไม่มีคนสานต่อ จึงชวน ร.ท.อิสระพงษ์ เข้ามาช่วยสอนคณิตศาสตร์ ซึ่งเขาก็ยินดีช่วยอย่างเต็มที่"
ครูบอย กล่าวด้วยน้ำเสียงปลื้มปีติที่ปณิธานของเขาจะได้รับการสานต่อและเชื่อว่า ผบ.ร้อย.คนต่อไปจะช่วยสืบสานปณิธานนี้เช่นกัน
อ.อับดุลเลาะห์ อาบูบากา ผู้จัดการโรงเรียนสมบูรณ์ศาสน์ เล่าว่า จุดเริ่มต้นของโครงการเริ่มจากงานกีฬาสีของโรงเรียนเมื่อปีก่อน ซึ่ง ร.อ.อุดม พูดขึ้นมาว่า ถ้าอยากมาเป็นติวเตอร์ที่นี่จะได้ไหม เมื่อได้ฟังอย่างนั้นก็รู้สึกดีใจ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าเขาจะพูดจริงๆ หรือเปล่า
เพื่อทดสอบว่า ร.อ.อุดม พูดจริงแค่ไหน เขาจึงทำหนังสือถึงหน่วยเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อขอตัวมาช่วยเป็น "อาจารย์พิเศษ" ซึ่ง ร.อ.อุดม ก็แสดงให้เห็นทั้งความรู้ความสามารถ และความตั้งใจจริงในการสอน หลังจากนั้นจึงขอให้มาช่วยสอนเป็นประจำทุกสัปดาห์
เมื่อถามว่า ไม่กลัวทหารเข้ามาจับผิดโรงเรียนหรือ อ.อับดุลเลาะห์ กล่าวอย่างจริงจังว่า "เราไม่กลัว เพราะเราบริสุทธิ์ใจทุกอย่าง แต่กลัวว่าเขาจะไม่จริงใจมาสอนมากกว่า เพราะมีบางคนที่เข้ามาเพื่อมาถ่ายรูปเอาผลงานเฉยๆ แต่ไม่ได้ตั้งใจสอนจริงๆ"
แต่สำหรับ ร.อ.อุดม หรือครูบอย เขาบอกว่า "สอบผ่าน" ทั้งความรู้ความสามารถ และความตั้งใจจริง ส่วนถ้าจะมีเจ้าหน้าที่หน่วยอื่น เช่น ตำรวจ หรือฝ่ายปกครอง จะเข้ามาช่วยสอนด้วย เขาก็ยินดีเช่นกัน
"เรายินดีต้อนรับเจ้าหน้าที่ทุกหน่วย แต่เราต้องขอคัดกรองตัวบุคคลด้วยว่ามีความรู้ความสามารถหรือไม่ มีบุคลิกอย่างไร ตั้งใจแค่ไหน และในการสอนต้องเคารพหลักศาสนาด้วย เช่น สอนภาษาอังกฤษด้วยภาพยนตร์ที่ไม่เหมาะสม เราคงไม่เอา"
นี่คือ "กติกาเบื้องต้น" ที่ถ้าใครสอบผ่าน ทางโรงเรียนก็ยินดีต้อนรับ และสำหรับครูทหารที่เข้ามาช่วยสอนก็สอบผ่านแล้วทุกข้อ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขารู้สึกดีใจที่เจ้าหน้าที่รัฐในปัจจุบันยึดถือพระบรมราโชวาท "เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา" เมื่อเข้ามาทำงานในพื้นที่อย่างเคร่งครัด
ทีมข่าวความมั่นคง