ข่าว

“เป้ยตาดี”เรื่องเล่าฝั่งไทย-กัมพูชา

“เป้ยตาดี”เรื่องเล่าฝั่งไทย-กัมพูชา

06 ส.ค. 2553

ประเด็นเรื่องปราสาทพระวิหารยังคงร้อนอยู่จนทุกวันนี้ แม้ว่าศาลโลกจะพิพากษาตัดสินคดีไปแล้วตั้งแต่ พ.ศ.2505 ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ แต่ประเด็นอื่นๆ ก็ยังคงเกิดขึ้นตามมาอีกเรื่อยๆ

  เพราะสิ่งที่หลายคนลืมไปก็คือประวัติศาสตร์ หรือนิทานท้องถิ่นที่ยังคงเหลืออยู่เพื่อบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของพื้นที่นั้นๆ 

 อย่างบริเวณผา “เป้ยตาดี” ส่วนหนึ่งของเทือกเขาพนมดงรัก อันเป็นภูมิสถานที่เขาพระวิหารตั้งอยู่ก็มีนิทานเล่าเรื่องประวัติของตนเองเช่นกัน

 เรื่องตำนานผาเป้ยตาดีในหนังสือการเมืองเรื่องเขาพระวิหารของ ประหยัด ศ.นาคะนาท และคณะ เล่าว่า
 มีพระภิกษุชรารูปหนึ่งชื่อ “ดี” เดินทางมาจาริกแสวงบุญ แล้วปลูกเพิงพำนักอยู่บริเวณลานหินแห่งนี้จนมรณภาพไป จากนั้นมาชาวบ้านจึงเรียกผาแห่งนั้นว่า เป้ยตาดี นิทานเรื่องนี้ไม่ได้เล่ากันเฉพาะชาวไทย ในฝั่งชาวกัมพูชาก็มีเรื่องเล่าทำนองนี้เช่นกัน ว่า

 ตาดีที่ว่านี้ไม่ใช่ภิกษุชรา แต่เป็นถึง แม่ทัพที่เก่งกล้าชื่อตาดี สามารถขับไล่ข้าศึกที่มารุกรานบริเวณปราสาทพระวิหารออกไปได้ จากนั้นชาวบ้านจึงเรียกผาแห่งนั้นว่าเป้ยตาดีเพื่อเป็นการยกย่อง

 เมื่อหาที่มาของ “ตาดี” ได้แล้วจากนิทานท้องถิ่น ส่วนที่เหลือ คำว่า “เป้ย” ผู้รู้ภาษาเขมรบอกว่ามาจากคำว่า “โพย” ออกเสียงว่า โปย ในภาษาเขมร หมายถึง หนุ่ย, โหนก หรือส่วนที่ยื่นออกมา ในบริบทนี้ก็คือ ชะง่อนผา นั่นเอง!

 นิทานของท้องถิ่นต่างๆ เป็นเรื่องเล่าที่บรรพบุรุษเล่าสืบต่อกันมาถึงลูกถึงหลานเพื่อต้องการจะสืบทอดที่มาของตัวเอง คนรุ่นหลังจะได้ไม่ลืมว่าเราคือใครมาจากไหน? เพื่อนบ้านเราเป็นใคร?

 ไม่ใช่ยุให้ทะเลาะกัน!

ภาพ : ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ลิทธิชาตินิยมไทย/สยามกับกัมพูชา : และกรณีศึกษาปราสาทเขาพระวิหาร, มูลนิธิโครงการตำราฯ : กรุงเทพฯ (พ.ย.2552),หน้า 44.

"เรือนอินทร์ หน้าพระลาน"