
ย้อนรอยจุดเชื่อมวัฒนธรรมปราสาทตาเมือนอโรคยาสมัยขอม
หลังจากที่คณะกรรมการมรดกโลก หรือยูเนสโก เลื่อนการพิจารณาแผนการปรับปรุงพื้นที่ปราสาทพระวิหาร ตามที่รัฐบาลกัมพูชาเสนอ ออกไปอีก 1 ปี เป็นปี 2554 ที่ประเทศบาห์เรน ทำให้หันกลับมาสำรวจดูว่า ปราสาทในยุคนั้นมีอะไรบ้างที่หล่อหลอมจิตใจให้ประชาชนรวมกันเป็นหนึ่งเดียว
ไล่เรียงจากกลุ่มปราสาทตาเมือน ตั้งอยู่ในช่องเขาตาเมือน (หรือช่องเขาตาเมียง) เทือกเขาพนมดงเร็ก ซึ่งใช้เป็นจุดพักระหว่างเส้นทางพิมายสู่นครวัด ในเขตบ้านหนองคันนาสามัคคี หมู่ 18 ต.บ้านตาเมียง อ.พนมดงรัก อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ ซึ่งประกอบด้วยปราสาทหินสามหลัง เรียงลำดับจากขนาดใหญ่ไปขนาดเล็กจากชายแดนไทย
ปราสาทตาเมือนธม จากคำว่า ธม ในภาษาเขมรแปลว่า ใหญ่ และในพื้นที่ เป็นสิ่งปลูกสร้างที่ใหญ่ที่สุดของกลุ่มปราสาทนี้ สร้างไว้เพื่อเป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนา ตัวปราสาทอยู่บนเนิน สร้างคร่อมโขดหินธรรมชาติที่ใช้เป็นแทน ศิวลึงค์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาพราหมณ์ แตกต่างจากโบราณสถานทางศาสนาที่โดยมากจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก แต่ที่นี่สร้างให้หันหน้าไปทางทิศใต้ เหมือนรอรับผู้คนจากประเทศเขมร ซึ่งอยู่ห่างกันเพียง 100 เมตรเท่านั้น
ปราสาทตาเมือนธมประกอบด้วยปราสาทประธาน มีปรางค์ก่อด้วยหินทรายสองหลัง อยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และตะวันตกเฉียงเหนือ มีบรรณาลัยศิลาแลงสองหลัง และนอกระเบียงคด
ปราสาทตาเมือนโต๊ด เป็นอโรคยาศาล ยังคงสภาพเกือบจะสมบูรณ์ ประกอบด้วยปรางค์ประธานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีมุขอยู่ด้านหน้า ก่อด้วยศิลาแลงและหินทราย มีบรรณาลัยอยู่ทางด้านหน้าเยื้องไปทางขวาขององค์ปรางค์ ล้อมรอบด้วยกำแพงก่อศิลาแลงเช่นเดียวกัน มีซุ้มประตูด้านทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว มีสระน้ำด้านนอกกำแพง
ปราสาทตาเมือน เป็นสิ่งก่อสร้างที่เชื่อว่าคือที่พักคนเดินทางแห่งหนึ่งใน 17 แห่ง ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มหาราชองค์สุดท้ายแห่งเมืองพระนครโปรดให้สร้างขึ้น มีลักษณะเป็นปรางค์องค์เดียวเชื่อมต่อมาทางด้านหน้า ผนังด้านหนึ่งปิดทึบ แต่สลักเป็นหน้าต่างหลอก ส่วนอีกด้านมีหน้าต่างเรียงกันโดยตลอด
ช่องทางนี้หน้าตัวปราสาทนี้ยังเปิดให้ประชาชนทั้งสองประเทศใช้เป็นเส้นทางไปมาหาสู่กันได้ก่อนที่จะมีเหตุตึงเครียดจนต้องเพิ่มความเข้มงวด และการไปเที่ยวชมก็ไม่ควรข้ามแนวลวดหนามออกไปเพราะยังมีกับระเบิดที่ยังไม่ได้กู้อีกจำนวนมาก
ประเด็นการครอบครองตามแผนที่ที่ยึดถือต่างกัน ทำให้ยังไม่มีท่าทีจะจบลงง่ายๆ เป็นเรื่องที่ต้องว่ากันไปตามหลักฐานและข้อตกลงร่วมกัน ซึ่งไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นได้เมื่อใด แต่ศิลปะความสวยงามยังคงเหลืออยู่ให้ศึกษา แต่ก่อนวางแผนการเดินทางควรติดตามข่าวสารให้แน่ใจถึงความปลอดภัย จะได้ไม่ผิดหวัง
"กิตตินันท์ รอดสุพรรณ"
[email protected] <mailto:[email protected]>