ข่าว

รู้ทันกฎหมาย  -  ล้อเล่น

รู้ทันกฎหมาย - ล้อเล่น

26 มี.ค. 2552

เรื่องล้อเล่นก็แปลว่าไม่เป็นเรื่องจริง แต่เป็นเรื่องที่ทำจริงจนเกิดเป็นเรื่องล้อเล่นขึ้นมา

 คนที่ถูกล้อก็ไม่ค่อยจะชอบนักหรอก หายากที่ดีใจจังเขาล้อเล่นเรา ถ้ามันเกิดความเสียหายอับอายขึ้นมา

เรื่องล้อเล่นจะไม่เป็นการล้อเล่นอีกต่อไป หากทำแบบไร้ขอบเขต เป็นเหตุแห่งความสนุกอย่างเดียว  ดังนั้นจึงไม่ทำเป็นเล่นได้ หากนึกสนุกของเราแต่เขาไม่สนุกด้วย

 ในความเข้าใจเราอาจตั้งใจเพียง "ล้อเล่น" แต่เล่นกับคนที่เขาไม่ได้อยากเล่นด้วย ก็อาจให้ความรู้สึกแก่คนผู้นั้นว่าเขาถูก "กลั่นแกล้ง" เข้าแล้ว

 คิดจะเล่นแรงๆ จึงต้องระมัดระวัง เพราะมันยังผลให้ต้องผิดใจและผิดกฎหมายทางอาญาได้ ไม่ว่าใจจริงจะไม่ได้ตั้งใจจะทำร้ายเขาเลยก็ตาม

 การสร้างสถานการณ์จำลองขึ้นมาเพื่อดูว่าเพื่อนจะมีปฏิกิริยาอย่างไร ไม่ว่าจะซ่อนกล้องออกอากาศหรืออยากขำ อยากให้เขาทำอะไรตลกๆ กลับไป เขาเกิดความตกใจหรือหวาดกลัวขึ้นมาก็เรียกว่าหาเรื่องเข้าตัว

 กฎหมายเอาเรื่องกับคนที่ไปข่มเหงรังแก แม้จะไม่มีการบาดเจ็บอะไร แต่ถ้าเขาอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญล่ะก็ อาจถูกจำคุกได้ โทษฐานทำให้อับอายคือจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 แต่จะรับข้อหานี้ได้จะต้องมีเงื่อนไขเพิ่มเติม ไม่เช่นนั้นชีวิตมันคงแห้งแล้ง จะแกล้งใครไม่ได้เอาเสียเลย ถ้าหยอกกันเล็กน้อยก็แล้วไป

 แต่ถ้าทำในที่สาธารณะหรือต่อหน้าผู้คน จนถึงขนาดเป็นการรังแกหรือข่มเหงผู้อื่น จนเขาเกิดความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ นั่นแหละจึงเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมาย 

 ถ้าไม่ได้ถึงกับอับอาย แต่ตกใจปัสสาวะแทบราด ก็คาดได้ว่าน่าจะถือเป็นการได้รับความเดือดร้อนรำคาญ อันสมควรที่จะถูกกล่าวหาว่ากระทำการรังแกข่มเหงเขาได้

 ล้อเล่นไม่เป็นการข่มเหงในความเข้าใจของคนทำ แต่กฎหมายจะถือเป็นการข่มเหงได้หากทำไปโดยขัดกับความพอใจของเขาและเห็นได้ว่าผลของมันจะทำให้เขาเดือดร้อนรำคาญ

 การล้อเล่นในลักษณะที่ทำให้เขาเสียหายต่อชื่อเสียงเมื่อไหร่ โทษก็จะหนักขึ้นมาในข้อหา ดูหมิ่นซึ่งหน้า หรือว่าหมิ่นประมาท

การดูหมิ่นเป็นการดูถูกเหยียดหยาม ทำให้อับอายขายหน้า เป็นการลดคุณค่า ไม่ว่าจะเป็นการใช้คำพูดหรือไม่ก็ตาม

 การใช้กิริยาท่าทางหรือกระทำการบางอย่างต่อเขา ก็เอาโทษได้หากดูแล้วทำให้เขารู้สึกได้รับความอับอายเพราะถูกกระทำเช่นนั้น

ชีวิตคนเราจะเครียดกันเกินไปหากจะจริงจังอะไรไปเสียหมด มันจะต้องมีบทสนุกสนานกลั่นแกล้งกันบ้างพอหอมปากหอมคอ ก็จะถือสาเอาความไปเสียหมดไม่ได้

 แต่ต้องคำนึงถึงกาละและเทศะว่าควรทำเมื่อไหร่ ทำแค่ไหน และทำที่ใด ไม่เช่นนั้น งานสนุกก็จะกร่อยได้ และกลายเป็นผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย ไม่สนุกทั้งผู้ให้และผู้รับ แต่กลับเป็นข่าวให้ขายหน้าพร้อมหน้าพร้อมตากัน 

ล้อใครต่อใครกันหลายครั้ง ควรจำเป็นบทเรียนเสียที การขอโทษอาจเป็นเพียงตัวช่วยเท่านั้นอาจไม่สามารถสานสัมพันธ์ดีๆ คืนมาได้เลย

"ศรัณยา ไชยสุต"