ข่าว

ว่าด้วยเรื่องเสื้อแดงเป็นใคร?

ว่าด้วยเรื่องเสื้อแดงเป็นใคร?

27 ก.ค. 2553

เรื่องที่กำลังจะเป็นแนวโน้มสำคัญประการหนึ่งก็คืออุตสาหกรรมงานวิจัยว่าด้วยใครคือคนเสื้อแดง

 เรื่องนี้แตกต่างจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา 2 ประการ ประการแรก ในช่วงที่แล้วเราได้พบการแสดงตัวของคนเสื้อแดงบนท้องถนน และในสื่ออย่างมากมาย คือเราเห็นตัวตนจริงๆ ของเขา

 และในขณะเดียวกันเราก็เห็นข้อกล่าวหาที่มีต่อเขาจากสื่อ และจากคนสีเสื้ออื่นๆ

 อีกทั้งเราก็ได้รับทราบข้อมูลในเชิงการคาดการณ์จำนวนของคนเสื้อแดงจากหน่วยงาน (ข่าว) ของรัฐ

 เรื่องราวที่หลงเหลืออยู่และกำลังนำเราไปสู่ปริมณฑลใหม่ในการต่อสู้ทางการเมืองนั้นกลับกลายไปอยู่ในพื้นที่ของ "การเมืองเรื่องความรู้" ที่ว่าด้วยเรื่อง ใครคือคนเสื้อแดง

 อาทิ เขาเป็นใคร เขาอยู่ที่ไหน และเขา "ข้ามพ้น" ไปจากทักษิณหรือไม่

 ว่ากันว่า อุตสาหกรรมวิจัยเรื่องคนเสื้อแดงนั้นกำลังจะกลายเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในระดับหนึ่ง โดยอาจจะมีเงื่อนไขในแง่ของนักวิชาการที่ต้องการจะชี้ให้เห็นว่าคนเสื้อแดงไม่ใช่แค่คนชนบทที่ถูกระดมเข้ามาเคลื่อนไหวทางการเมืองในเมืองอย่างไร้เหตุไร้ผล คำถามจึงเกี่ยวข้องกับว่า เขาจนหรือรวย เขาเป็นคนชนบทหรือในเมือง เขาก้าวพ้นทักษิณไปหรือยัง หรือพูดง่ายๆ ว่าคนเสื้อแดงเป็นคนเดียวกับคนรักทักษิณเท่านั้นหรือไม่

 งานวิจัยแบบนี้มีผลดีหลายประการ เพราะอย่างน้อยก็จะเปิดเผยภาพจริงและทำให้กระบวนการปรองดองนั้นมีเหตุมีผล และมีความเป็นธรรมมากขึ้น และอย่างน้อยอาจจะมีไว้เพื่อคัดง้างกับอคติ/มายาคติของสังคมที่มีต่อคนเสื้อแดง และคัดง้างกับกระบวนการปรองดองข้างเดียวของรัฐบาลที่ไม่ได้มีตัวแทนเสื้อแดงเข้าร่วมอย่างเป็นระบบ

 แต่เรื่องนี้ไม่ได้จบแค่ว่าเราจะพบได้จริงว่าคนเสื้อแดงเป็นใคร เพราะการจะรู้ว่าคนเสื้อแดงเป็นใครนั้นเกี่ยวพันกับเรื่องใหญ่อย่างน้อยสองเรื่อง นั่นก็คือ เรื่องของอภิทฤษฎี (meta-theory) ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการดำรงอยู่ และการได้มาซึ่งความรู้ และเรื่องของทฤษฎีว่าเสื้อแดงมีความสัมพันธ์กับการเมืองอย่างไร โดยเฉพาะเรื่องของรูปการณ์จิตสำนึกและปฏิบัติการทางการเมือง

 มาว่าด้วยเรื่องของอภิทฤษฎีก่อน ประเด็นสำคัญก็คือ เราจะศึกษาเสื้อแดงได้อย่างไร หมายถึง เราจะศึกษาจำนวน เราจะศึกษาพฤติกรรม โดยเฉพาะพฤติกรรมการตัดสินใจเคลื่อนไหว การไม่ตัดสินใจเคลื่อนไหว และการถูกครอบงำ เราจะศึกษาความหมายที่เขาให้กับการเคลื่อนไหว หรือเราจะศึกษาเรื่องของ "เงื่อนไข" ที่ทำให้เขาตัดสินใจเคลื่อนไหว หรือไม่เคลื่อนไหว

 เรื่องนี้สำคัญในแง่ที่ว่า การใช้กรณีศึกษาต่างๆ จะให้ภาพเสื้อแดงได้อย่างรอบด้านหรือไม่ ประเด็นเสื้อแดงเป็นเพียงเรื่องของชนบทหรือการเปลี่ยนแปลงในชนบทหรือไม่? หรือต่อให้ชนบทเปลี่ยน อะไรคือ "เงื่อนไข" ที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงนั้นนำไปสู่การแสดงออกซึ่งความเป็นคนเสื้อแดงบนท้องถนน

 หรือคนเสื้อแดงอยู่ในชนบท หรือคนเสื้อแดงมีเครือข่ายทั่วประเทศ เพราะประเด็นไม่ได้อยู่ที่ชนบท แต่อยู่ที่การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ ที่เวลาและพื้นที่มันกระชับตัวเองเสียจนพื้นที่เมืองกับชนบทมันโพรงอยู่อย่างซับซ้อน เช่นในเมืองมี (คน/ความเป็น) ชนบท และในชนบทมีความเป็นเมือง-ชาติ-ความทันสมัย

 ในประเด็นทฤษฎีก็เช่นกัน การวิจัยว่าใครเป็นเสื้อแดงนั้นคงไม่ใช่เรื่องของการนับหัวเสื้อแดง และอธิบายว่าความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจทำให้คนเสื้อแดงนั้นลุกขึ้นมาต่อสู้ทางการเมือง "อย่างฉบับพลันทันที" หรือ "ธรรมชาติของคนเสื้อแดง" จะเคลื่อนไหวเมื่อเขาถูกกระทบในระดับไหน รวมทั้งเรื่องว่าเรามีทฤษฎีอะไรที่จะสร้าง พิสูจน์ หรือรื้อสร้าง? อาทิ เสื้อแดงกับเศรษฐกิจ และการเมือง

 เรื่องที่สลับซับซ้อนเหล่านี้ความจริงเป็นเรื่องที่เขาถกเถียงกันมานานแล้วในสมัยที่พูดกันเรื่องการปฏิวัติชนชั้น อาทิ คนเหล่านี้ต้องการแกน/การนำไหม หรือเคลื่อนไหวด้วยตัวเองได้ หรืออะไรคือต้นทุนของการเคลื่อนไหว หรือจะลองนำมาอภิปรายกับบรรดาทฤษฎีว่าด้วยการเคลื่อนไหวของขบวนการทางสังคมรูปแบบใหม่ที่สนใจเรื่องขององค์กร โครงสร้างโอกาส หรือการสร้างประเด็นเคลื่อนไหว และช่วงชิงความหมาย

 ผมว่างานวิจัยเรื่องใครคือคนเสื้อแดงน่ะควรจะมีมากๆ แต่การอภิปรายงานวิจัยเหล่านั้นกับเรื่องราวระดับอภิทฤษฎีและทฤษฎี รวมทั้งต้องตั้งหลักทางการเมืองให้ชัด เพื่อคัดง้างกับกระบวนการปรองดองฝ่ายเดียว ซึ่งคงจะออกมาในรูปของการเขียนรายงานขนาดยาวที่จะมีผลต่อการปรับเปลี่ยนนโยบาย และ/หรือสืบสานอำนาจรัฐ คล้ายๆ กับเรื่องของภาคใต้นั่นแหละครับ