
ท่องแม่สอด เมืองหน้าด่าน ย่านอัญมณี
สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีโอกาสไปเยือนเมืองแม่สอด จ.ตาก เมืองหน้าด่านติดกับพม่า ด้วยแนวเขตแดนที่ยาวเหยียดไปตามลำน้ำเมย จึงไม่แปลกใจเลยที่จะมีชาวพม่าลักลอบเข้าเมือง เพื่อมุ่งมาค้าแรงงานในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก
จุดมุ่งหมายสำคัญของการดั้นด้น ลัดเลาะข้ามป่า ข้ามเขามาครั้งนี้ คือ การเยี่ยมชมการค้าชายแดน โดยเฉพาะ การค้าอัญมณี ที่ถือเป็นธุรกิจหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัด และของประเทศไทย
ทันทีที่เหยียบย่างถึง สำนักงานหอการค้าแม่สอด (จังหวัดตากจะมีคณะกรรมการหอการค้า 2 ชุด คือ หอการค้าจังหวัดตาก และหอการค้าแม่สอด) คณะของเราก็ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากเจ้าของพื้นที่อย่าง พัชรี พงษ์พิทักษ์ พาณิชย์จังหวัดตาก บรรพต ก่อเกียรติเจริญ ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดตาก และปณิธิ ตั้งผาติ ที่ปรึกษาหอการค้าฯ
ข้อมูลข่าวสารแรกที่ผู้มาเยือนได้รับฟังจากเจ้าของบ้านคือ ปัญหาไทย-พม่าที่เพิ่งเกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ เนื่องจากพม่าอ้างว่าไทยสร้างเขื่อนกันตลิ่งแม่น้ำเมย ทำให้แม่น้ำเมยไหลเปลี่ยนทิศ จนกระแสน้ำเซาะตลิ่งฝั่งพม่าได้รับความเสียหาย จึงตอบโต้ด้วยการสั่งเปิด-ปิดด่านการค้าชายแดนแม่สอด-เมียวดี บริเวณเชิงสะพานมิตรภาพไทย-พม่า อ.แม่สอด เป็นเวลา พร้อมกับตรวจสินค้าอย่างเข้มงวด
ยังถือว่าโชคดี เพราะในวันที่ชาวคณะเดินทางไป ยังสามารถข้ามฝั่งเข้าไปดู เขตเศรษฐกิจพิเศษเมียวดี ห่างจากด่านเมียวดีเข้าไปประมาณ 10 กม. ได้ด้วยการประสานงานของ ปณิธิ ที่ปรึกษาหอการค้าฯ กับประธานหอการค้าเมียวดี และซึ่งหลังจากนั้นเพียงวันเดียว พม่าก็สั่งปิดด่านถาวร โดยไม่ยอมให้ทั้งรถทั้งคนผ่านด่าน ส่งผลให้สินค้า ทั้งของไทย และพม่า ไม่สามารถข้ามมาขายได้
ศักยภาพของแม่สอดในวันนี้ บรรพต ก่อเกียรติเจริญ ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดตาก ยืนยันแน่นหนักว่า วันนี้ไม่ใช่เป็นเพียงเมืองหน้าด่านค้าขายชายแดนเท่านั้น เพราะเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2552 ครม.มีมติอนุมัติหลักการโครงการก่อสร้าง สะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 2 หลังจากสะพานแห่งแรกมีปัญหาคอสะพานเคลื่อน ทำให้รถบรรทุกขนาดใหญ่ไม่อาจผ่านไปได้ ขณะเดียวกัน ครม.ยังอนุมัติให้กันพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม เพื่อสร้างคลังสินค้า เขตเศรษฐกิจพิเศษ ขึ้นในฝั่งไทย ยังไม่นับรวมถึงการยกระดับแม่สอด ขึ้นเป็นรูปแบบการปกครองพิเศษ "นครแม่สอด" ลักษณะเดียวกับกรุงเทพฯ และพัทยา
และเนื่องจากตั้งอยู่ติดชายแดนประเทศพม่า ฉะนั้นสินค้าที่สร้างชื่อเสียงให้แก่แม่สอดย่อมหนีไม่พ้น อัญมณี ที่ส่งมาจากฝั่งพม่า อันเนื่องมาจากพม่าเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยอัญมณีที่มีคุณภาพ แม่สอดจึงกลายเป็นตลาดอัญมณีที่ใหญ่ในลำดับต้นๆ ของประเทศ โดยใน อ.แม่สอด จะมีแหล่งค้าอัญมณีสำคัญอยู่ 2 แห่ง คือ ตลาดการค้าริมเมย ใกล้กับสะพานมิตรภาพไทย-พม่า และตลาดพลอยย่านโรงแรมสยาม หรือปัจจุบันคือ "ย่านการค้าจังหวัดสยามอัญมณีแม่สอด" ตั้งอยู่บน ถ.ประสาทวิถี ใจกลางเมืองแม่สอด
"สุรีรัตน์ เครือวงษ์" ประธานชมรมอัญมณีและเครื่องประดับแม่สอด เล่าถึงที่มาของย่านการค้าจังหวัดสยามอัญมณีแม่สอดว่า เมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว วิถีชีวิตของประชาชนไทย-พม่า จากการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกัน จนพัฒนาสู่การค้าอัญมณี จนถึงทุกวันนี้ ตลาดพลอย-อัญมณีแม่สอด มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนในรูปแบบของวัฒนธรรมคนท้องถิ่นยาวนานเกือบครึ่งศตวรรษ
แต่ที่ผ่านมา ย่านการค้าจังหวัดสยามอัญมณีแม่สอด ยังไม่เป็นที่รู้จักสำหรับนักท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่จะรู้จักกันเฉพาะกลุ่มผู้ค้าอัญมณีเท่านั้น ฉะนั้น สุรีรัตน์ ในฐานะประธานชมรมอัญมณีและเครื่องประดับแม่สอด จึงอาสานำพาคณะเราเดินชมย่านการค้าจังหวัดสยามฯ ด้วยตัวเอง
จากการที่ได้สัมผัสตลาดค้าอัญมณีในครั้งนี้ จะพบว่าร้านค้าจำนวนมาก ได้รับใบรับรองมาตรฐานร้านค้าอัญมณีอำเภอแม่สอด จากผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เป็นเครื่องการันตีคุณภาพ และสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ซื้อ พร้อมกับคำยืนยันจากประธานชมรมว่า หากผู้ซื้อตรวจพบว่าอัญมณีที่ซื้อไป ไม่ว่าจะเป็นพลอย ทับทิม หยก ฯลฯ เป็นของปลอม หรือถูกหลอกลวงขายโก่งราคา สามารถร้องขอเปลี่ยนสินค้าได้ทันที
แน่นอนว่าการจะตัดสินใจซื้อพลอยสักเม็ด อาจต้องคิดหนัก ด้วยปัจจัยของราคา คุณภาพ และที่สำคัญหากเจอของปลอมก็ยิ่งทำให้ต้องช้ำใจหนัก แต่วันนี้ ย่านการค้าจังหวัดสยามอัญมณีแม่สอด ได้ยกระดับขึ้นมาอีกขั้น นอกเหนือจากเรื่องคุณภาพแล้ว การรับรองมาตรฐานร้านค้า จึงถือเป็นการการันตีความพอใจให้แก่ผู้ซื้อได้เป็นอย่างดี...
"สด็จ บุนนาค"