
คำเตือนถึง เจน วาย
ดิฉันเพิ่งตัดสินใจซื้อโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่ หลังจากที่เครื่องเก่าเกิดอาการโยเย ปุ่มกดมีปัญหาโทรออกไม่ได้ รับสายก็ลำบาก คงเหมือนกับใครอีกหลายคนที่พอจะเปลี่ยนอุปกรณ์สื่อสาร ก็นึกถึงแต่ บีบี กับ ไอโฟน จนสุดท้ายดิฉันก็พ่ายกระแส ต้องควักเงินซื้อ บีบี
ที่ขึ้นต้นด้วยเรื่องส่วนตัว ก็เพราะเพิ่งได้รับเมลจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งจัดมหกรรม “แฮปปี้ เวิร์คเพลส ฟอรั่ม 2010” หรือประมาณมหกรรมสร้างสุขในที่ทำงานแล้วอยากนำมาฝากค่ะ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนทำงานยุคนี้สมัยนี้ที่น่าสนใจทีเดียว
ในงานนี้ มีการจัดสัมมนาในหัวข้อ “มุ่งสู่องค์กรแห่งอนาคต รับมืออย่างไรกับเจเนอเรชั่น แก๊ป (Generation Gap) ภายในองค์กร” ซึ่งอาจจะไม่เกี่ยวกับเรื่องเงินๆ ทองๆ ทางตรง แต่ลองติดตามไปเรื่อยๆ เพราะอย่างน้อย “ช่องว่างในองค์กร” หรือเจเนอเรชั่น แก๊ป จะบอกได้ว่า ความต้องการโดยรวมในชีวิตเราอยู่ที่ไหน และเราจะเดินไปสู่จุดนั้นได้อย่างไร
คุณหมอชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะองค์กรภาคเอกชน สสส. นำผลการศึกษาของสำนักวิจัยเวิร์ลวัน ซึ่งวิจัยเกี่ยวกับช่องว่างระหว่างวัยกับการใช้เทคโนโลยีในสหรัฐอเมริกา จากกลุ่มตัวอย่าง 700 คน พบว่า 2 ใน 3 ของกลุ่มที่อยู่ในวัยผู้บริหาร ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป หรือที่เรียกว่า “เบบี้บูมเมอร์” หรือ “เจเนอเรชั่น เอ็กซ์” (เจน เอ็กซ์) รู้สึกว่า การใช้อุปกรณ์พกพา เช่น บีบี หรือไอโฟนในเวลาทำงาน ทำให้วินัยในการทำงานลดลง และการใช้คอมพิวเตอร์พกพาในขณะประชุมเป็นเรื่องรบกวนสมาธิ
ขณะที่กลุ่ม “เจเนอเรชั่น วาย” หรือ เจน วาย ที่มีอายุน้อยกว่า 30 ปี มีจำนวนมากกว่า 50% ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว
เพราะกว่า 62% ของกลุ่ม “เจน วาย” นิยมเล่นโซเชียล เน็ตเวิร์ก เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ในที่ทำงาน ขณะที่กลุ่มเบบี้บูมเมอร์ เข้าใช้งานเพียง 14% โดยกลุ่ม “เจน วาย” มักนิยมทำหลายๆ อย่างพร้อมกัน เช่น เปิดเว็บ ฟังเพลง และทำงาน
แนวคิดไม่ตรงกัน พฤติกรรมไม่เหมือนกัน อาจจะทำงานด้วยกันได้ แต่ปัญหาที่คุณหมอชาญวิทย์บอกก็คือ กลุ่ม “เจน เอ็กซ์” ที่มีอายุ 30-40 ปี เป็นระดับบริหารที่มีสิทธิตัดสินใจในองค์กร มักออกกฎหรือระเบียบที่ไม่สนองต่อความสามารถของกลุ่มเจน วาย ซึ่งทำให้ “รุ่นเด็ก” รู้สึกไม่ผูกพันกับองค์กร และมีการลาออกสูงขึ้น
แบบที่เราได้ยินชินหูว่า เด็กรุ่นใหม่ไม่อดทน ซึ่งจริงๆ แล้ว เด็กๆ อาจมีเหตุผลมากกว่าแค่คำว่า “ไม่อดทน”
ส่วนเป้าหมายในชีวิตของคนทำงานนั้น คุณบุญเกียรติ โชควัฒนา ประธานกรรมการ บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) เจ้าสัวสหพัฒน์ บอกว่ากลุ่มเอ็กซ์ คือ ต้องการความสุขที่ได้ทำงาน มีผลงาน มีความสำเร็จ มีรายได้ มีความเจริญก้าวหน้า มีลูกน้องที่ดี
ขณะที่กลุ่มวาย คือ ได้เพื่อนบีบีคนใหม่ รู้จักเพื่อนในเฟซบุ๊กใหม่ ความสุขของกลุ่มนี้คือความสนุกสนาน ซึ่งแม้จะมีเป้าหมายแตกต่างกัน แต่ถ้าเข้าใจความต้องการของกันและกัน คุณบุญเกียรติก็เชื่อว่า จะสามารถดึงศักยภาพของแต่ละคนออกมาได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจะทำให้เกิดผลสำเร็จของงาน
เพราะเป้าหมายต่างกัน และรูปแบบการใช้ชีวิตต่างกัน ทำให้พฤติกรรมการใช้จ่ายแตกต่างกันไปด้วย ดังนั้น จึงไม่แปลกที่จะเห็นสินค้าต่างๆ พุ่งเป้าทำโปรโมชั่นที่กลุ่ม “เจน วาย” เพราะตัดสินใจซื้อได้เร็วกว่า ไม่เว้นแม้แต่โปรโมชั่นของบัตรเครดิต ที่ว่ากันว่าครึ่งปีหลังที่เหลืออยู่นี้ จะกระตุ้นกันแบบระเบิดเถิดเทิง ชดเชยกับช่วงครึ่งแรกของปีที่กำลังซื้อหายไป
เป็นเรื่องที่ “เจน วาย” หรือหนุ่มสาววัยทำงานอายุไม่ถึง 30 ปี ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูง
มีข้อแนะนำจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยมาฝากคนใช้บัตรเครดิต (แต่ส่วนตัวดิฉันขอเน้นที่เจน วาย) ว่าหลังจากนี้การแข่งขันของผู้ให้บริการบัตรเครดิตจะรุนแรงมากขึ้น มีการนำเสนอส่วนลดและสิทธิประโยชน์ที่หลากหลาย ทั้งผ่อนสินค้า (รวมถึงบีบีและไอโฟน) ดังนั้น ต้องอย่าเพลินค่ะ
เพราะต้องไม่ลืมว่า การใช้บัตรเครดิตให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั้น จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อผู้ใช้บัตรเครดิตมีการวางแผนทางการเงินที่ดี โดยใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตไม่เกินกำลังความสามารถของตัวเองในการชำระคืนในเดือนถัดไป เช่น การกำหนดวงเงินในการใช้บัตรเครดิตในการชำระค่าสินค้าหรือบริการที่ไม่ควรเกิน 20% ของรายได้ต่อเดือน หมายถึงรายได้ 1 หมื่น ก็ใช้บัตรเครดิตได้ 2,000 บาทต่อเดือน ถ้ารายได้ 2 หมื่น ก็ใช้ไม่เกิน 4,000 บาท เป็นต้น
ที่สำคัญ ไม่ควรปล่อยให้ยอดสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิตสะสมเป็นวงเงินที่สูงเกินกว่ารายได้ต่อเดือน เพราะการชำระสินค้าหรือบริการผ่านบัตรเครดิตก็เหมือนกับการนำเงินในอนาคตมาใช้ ถ้าไม่เคลียร์ในแต่ละงวดให้สะอาดหมดจด ก็โดนคิดดอกเบี้ยสูงถึง 20% ต่อปี
เพราะไม่เช่นนั้น “เจน วาย” ที่กำลังก่อร่างสร้างตัว อาจจะกลายเป็นหมดเนื้อหมดตัว ตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่ม ถ้ามีโอกาสเริ่ม ก็เริ่มให้ถูกต้องดีกว่าค่ะชาวบีบีและเฟซบุ๊กทั้งหลาย
ขวัญชนก วุฒิกุล [email protected]