ข่าว

อุปทูตยันยานเกราะยูเครนผลิตเองกว่า 80 ปี-ท้า สตง.บุกพิสูจน์!

อุปทูตยันยานเกราะยูเครนผลิตเองกว่า 80 ปี-ท้า สตง.บุกพิสูจน์!

23 ก.ค. 2553

การจัดซื้อรถหุ้มเกราะล้อยางจากประเทศยูเครนของกองทัพบก ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่ในขณะนี้ จนทำให้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ขอให้กระทรวงกลาโหมทำเรื่องขอลงพื้นที่ตรวจสอบบริษัทรถหุ้มเกราะล้อยางประเทศยูเครน

ตามโครงการจัดซื้อรถหุ้มเกราะล้อยางรุ่น BTR3-E1 จากประเทศยูเครน จำนวน 96 คัน งบประมาณเกือบ 4,000 ล้านบาท ของกองทัพบก (ทบ.) เพื่อนำมาประจำการในกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.2 รอ.) จ.ปราจีนบุรี ในขณะเดียวกัน ทบ.กำลังจะเสนอแผนจัดซื้อรถหุ้มเกราะรุ่นดังกล่าวเพิ่มเติมอีก 121 คัน งบประมาณ 5,000 ล้านบาท

 ทำให้ นายอังดรีย์ เบชตา อุปทูตสาธารณรัฐยูเครน ยืนยันถึงความคุ้มค่าของรถหุ้มเกราะล้อยางรุ่น BTR-3E1 ของประเทศตนว่า ข้อสังเกตเรื่องที่ว่ายูเครนไม่มีเทคโนโลยีในการพัฒนาเครื่องยนต์ เป็นเพียงแค่ผู้ประกอบรถเท่านั้นเอง

 ประเด็นนี้นับว่า "ผิดจากความจริง" อย่างมาก เพราะสมัยที่ยูเครนเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตก็เคยร่วมกันวิจัยและพัฒนารถหุ้มเกราะมาด้วยกัน โดยมีสถาบันที่ออกแบบ และพัฒนาที่มีอายุยาวนานมากกว่า 80 ปี

 ส่วนปัจจุบัน สถาบันดังกล่าวก็ยังอยู่ในยูเครน โดยมีหน้าที่ออกแบบพัฒนารถเกราะทั้งหมด รวมถึงรถเกราะล้อยางรุ่นดังกล่าวด้วย และยังได้พัฒนาออกแบบอาวุธชนิดต่างๆ ทั้งรถถัง เรื่อยไปจนถึงเครื่องบินรบ

 สำหรับรถหุ้มเกราะล้อยางรุ่น BTR-3E1 ซึ่งกองทัพบกไทยคัดเลือกในปี ค.ศ.2007 เป็นรุ่นล่าสุดของการออกแบบ และพัฒนาของทางยูเครน

 "การอ้างว่ารถรุ่นนี้เป็นการเอารถยานเกราะเก่าของรัสเซีย คือรถยานเกราะล้อยางรุ่น BTR-80 มาปรับปรุงพัฒนาใหม่ ไม่มีพื้นฐานความเป็นจริงเลย รัฐบาลยูเครนได้แจ้งให้อดีตผู้นำ และอดีต รมว.กลาโหม ของไทยทราบแล้วว่ารถยานเกราะล้อยางรุ่น BTR-3E1 ไม่ใช่ของเก่า แต่เป็นของที่ทำขึ้นมาใหม่ทั้งหมด ไม่ใช่เอาของเก่ามาย้อมแมวขาย" อูปทูตยูเครน กล่าวย้ำ

 อุปทูตยูเครน กล่าวอีกว่า ตามสัญญาที่ได้ลงนามกันไว้แบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ก็ระบุชัดเจนว่ายูเครนจะผลิตอุปกรณ์ทั้งหมดหลังจากเซ็นสัญญากันแล้ว และยูเครนก็เคารพในข้อสัญญาทุกอย่างว่า การผลิตต้องเป็นของใหม่ทั้งหมด

 ทั้งนี้หลักฐานที่แสดงว่ารถหุ้มเกราะล้อยางรุ่น BTR-3E1 เป็นของที่ทำขึ้นมาใหม่ทั้งหมด ไม่ได้พัฒนามาจาก BTR-80 ของรัสเซีย คือตัวรถของ BTR-3E1 มีความยาว และสูงกว่า BTR-80 ของรัสเซีย จึงไม่สามารถใช้อุปกรณ์ร่วมกับของรัสเซียได้

 นอกจากนี้ เราก็ได้ชี้แจงไปยังสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เมื่อ 2-3 ปีที่แล้วว่า BTR-3E1 ไม่ใช่ของเก่า แต่เป็นของใหม่ทั้งหมด กระนั้นก็ยังมีข้อกล่าวหาในทางลบอยู่เรื่อยๆ ซึ่งมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

 "ที่น่าแปลกใจคือ ทำไม สตง.ถึงไม่เคยติดต่อมาที่สถานทูตยูเครนเพื่อขอข้อมูล ซึ่งเราก็ไม่เข้าใจว่าข้อมูลที่ สตง.ไปรับมาจากที่ไหน ถึงมีแต่ข้อมูลทางลบอยู่ตลอดเวลา" อุปทูตยูเครน กล่าวขอความเห็นใจ

 ส่วนข้อกังขาที่ว่ายูเครนส่งมอบรถช้า จากคำให้สัมภาษณ์ของ พล.ท.เอกชัย วัชรประทีป เจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก ก็ได้ชี้แจงแล้วว่า เหตุผลที่ส่งช้า หลังจากประเทศเยอรมนีที่ผลิตเครื่องยนต์ไม่สามารถส่งออกเครื่องยนต์ให้ไทยได้ เพราะไทยมีปัญหาทางการเมือง

 "ความผิดเรื่องนี้ไม่ได้ผิดที่ประเทศยูเครน เพราะยูเครนก็ซื้อเครื่องยนต์ชนิดดังกล่าวให้แก่ประเทศอื่นด้วย" อุปทูตยูเครน กล่าวชี้แจง

 อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น ยูเครนก็ร่วมกันแก้ปัญหากับฝ่ายไทย โดยมีการตกลงกันว่าจะคัดเลือกเครื่องยนต์มา 3 แบบ คือ 1.แคทเตอร์พิลลา 2.คัมบินสไตรเออร์ และ 3.เอ็มทียูของเบนซ์

 "จากการหารือกันแล้วคิดว่าเครื่องเอ็มทียูน่าจะดีกว่า เพราะเหมือนกับเครื่องดอยช์ โดยเฉพาะในเรื่องของกำลัง และเมื่อประกอบกันแล้วความสามารถของยานเกราะก็จะดีขึ้นในบางเรื่อง" อุปทูตยูเครน การันตีสมรรถนะของเครื่องตระกูลเบนซ์

 เขาชี้ว่าขั้นตอนในการหารือเพื่อคัดเลือกเครื่องยนต์ใหม่ทำให้ต้องเสียเวลาส่งมอบไปนานเกือบ 1 ปี ซึ่งเมื่อเปลี่ยนเครื่องยนต์ก็จะต้องมีการแก้ไขสัญญา

 "ถ้ารัฐบาลไทยแก้ไขสัญญาได้เร็ว รัฐบาลยูเครนก็จะสามารถส่งของให้ครบถ้วนได้ในปี 2554" อุปทูตยูเครน กล่าวยืนยัน

 เมื่อถามว่ารัฐบาลยูเครนเจ็บปวดหรือไม่ที่ถูกกล่าวหาว่าเอาของเก่ามาย้อมแมวขาย เขาตอบว่า การจัดซื้อครั้งนี้ถือเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศ ประเทศยูเครนคงไม่เสี่ยงเอาชื่อเสียงของรัฐบาลมาทำธุรกิจแบบนี้

 "ข้อแรกในสัญญาความร่วมมือทางทหารระหว่างไทยกับยูเครน คือจะไม่หลอกลวงกัน ซึ่งยูเครนจะพยายามดำเนินการให้ตรงตามสัญญา เพราะยูเครนเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่มีชื่อเสียงทั่วโลกเรื่องการส่งออกอาวุธ ซึ่งเรื่องของชื่อเสียงในธุรกิจนี้มีความสำคัญมาก โดยเกือบทั้งหมดของอุตสาหกรรมนี้จะอยู่ภายใต้การควบคุม และเป็นเจ้าของโดยกระทรวงกลาโหมยูเครน และการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์จะต้องผ่านการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบคุณภาพของกระทรวงกลาโหมยูเครน"

 อุปทูตยูเครน ชี้แจงด้วยว่า เมื่อปี 2007 มีผู้แทนกองทัพบก กองทัพเรือ และผู้แทนกระทรวงกลาโหม เดินทางไปดูโรงงานผลิตมาแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการเชิญ สตง.ไปดูโรงงานที่ยูเครน ซึ่งเป็นโอกาสดีที่จะได้ต่อสู้กับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องที่ปรากฏอยู่ในเวลานี้

 ส่วนเหตุผลที่กองทัพบกเตรียมจัดซื้อยานเกราะล้อยางลอตที่ 2 อีก 121 คัน อุปทูตยูเครน เชื่อว่า ทบ.ไทยน่าจะเห็นว่ายานเกราะจะสะดวกต่อการใช้งานถ้าเป็นรถจากประเทศเดียวกัน เพราะเรื่องการส่งกำลังบำรุงรักษาแบบเดียวกันถือว่ามีความเหมาะสม

 "เราหวังว่าลอตที่ 2 คงจะได้เซ็นสัญญากันในเร็วๆ นี้ หรือก่อนสิ้นเดือนกันยายน โดยการจัดซื้อลอตที่ 2 เป็นการจัดซื้อโดยตรง โดยที่ไม่ผ่านการซื้อแบบรัฐต่อรัฐ และยืนยันว่าไม่มีเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน" อุปทูตยูเครน กล่าว

 อุปทูตยูเครน กล่าวด้วยว่า หลังจากไปนี้หวังว่าโครงการความร่วมมือทางด้านการทหารระหว่างไทยกับยูเครนจะดำเนินการต่อไป โดยยูเครนยังมีอาวุธที่ขึ้นชื่ออีกมากมาย เช่น รถยานเกราะล้อยาง เครื่องบินขนส่งทางทหาร เครื่องมือสื่อสาร ฯลฯ

 ส่วนการที่ได้รับการคัดเลือกก็เนื่องจากยานเกราะล้อยางของยูเครนมีจุดเด่นที่ "อำนาจการยิง" และ "ระบบทางเทคนิค" ที่มีเทคโนโลยีอันทันสมัย จึงหวังว่าหลังจากการเชิญ สตง.ไปพิสูจน์ในครั้งนี้คำถามในเชิงลบต่างๆ คงไม่เกิดขึ้นมาอีก

ปัญญา ทิ้วสังวาลย์