
"ตระการพืชผล"เมืองดินน้ำอุดม
ชื่ออำเภอ ตระการพืชผล มีความหมายถึง เมืองที่มีพืชพันธุ์ธัญญาหารต่างๆ อุดมสมบูรณ์
อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี เดิมคือ “บ้านสะพือ” เมื่อ พ.ศ.2406 พระพรหมราชวงศา (กุทอง) เจ้าเมืองอุบลราชธานี คนที่ 3 (พ.ศ.2383-2406) เห็นว่าบ้านสะพือเป็นหมู่บ้านเก่าแก่และเป็นชุมชนใหญ่ เหมาะสมที่จะตั้งขึ้นเป็นเมือง จึงกราบเรียนเจ้าพระยากำแหงสงคราม เจ้าเมืองนครราชสีมา เพื่อนำความกราบบังคมทูลขอตั้งบ้านสะพือขึ้นเป็นเมือง
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้ยก “บ้านสะพือ” เป็น “เมืองตระการพืชผล” ขึ้นตรงต่อเมืองอุบลราชธานี เมื่อวันอาทิตย์ แรม 11 ค่ำ เดือน 12 จ.ศ.1225 (พ.ศ.2406) และโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ท้าวสุริยวงศ์ (อ้ม) เป็นพระอมรดลใจเจ้าเมือง ให้ท้าวพรหม (บุตร) เป็นอุปฮาด ท้าวสีหาจักร (ฉิม) เป็นราชวงศ์ ท้าวกุลบุตร (ท้าว) เป็นราชบุตร
อ.ตระการพืชผล มีดินน้ำทรัพยากรที่พรั่งพร้อมสมชื่อ จึงเป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิชั้นดีและแหล่งผลิตเกลือสินเธาว์ขึ้นชื่อของเมืองอุบล รวมทั้งยังมีประวัติศาสตร์วัฒนธรรมที่สืบเนื่องมาตั้งเมืองเก่าแก่ เมื่อราว พ.ศ.1000-1600 ที่เรียกกันว่าสมัยทวารวดี
ดังมีร่องรอยเป็นใบเสมาสมัยทวารวดีวางกระจัดกระจายอยู่ตามวัดในท้องถิ่น และเป็นที่น่าเชื่อว่าบ้านเมืองที่จะพัฒนามาสู่ยุคสมัยนี้ อาจพัฒนามาจากชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์เมื่อหลายพันปีก่อน ที่ตั้งหลักแหล่งใกล้เคียงและเคลื่อนย้ายมารวมกลุ่มสร้างบ้านเมืองรับพุทธศาสนาแปลงกับวัฒนธรรมดั้งเดิมให้เจริญขึ้น
บ้านเมืองมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ ถือเป็นสมบัติล้ำค่าของคนในท้องถิ่น และสร้างผลผลิตรายได้ให้ประเทศ
ประวัติศาสตร์ความเป็นมาก็เป็นสมบัติควรค่าค้นหามาไว้เป็นต้นตอตัวตนของบ้านเมือง ให้สืบสาวเล่าสู่ได้ว่าเรามีบรรพชนภูมิหลังเป็นมาเช่นกัน !
"เรือนอินทร์ หน้าพระลาน"