
เสธ.หนั่นชี้ยุบปชป.รัฐบาลล้มบัญญัติแจงทีมกม.ปชป.
"เสธ.หนั่น" ชี้หาก ปชป. โดนยุบ รบ. ก็อยู่ไม่ได้ ป้อง "มาร์ค" ไม่มีนิสัยชิง ยุบสภา ก่อน ศาลรธน. ตัดสินแน่ เชื่อไม่ใช่คนหนีปัญหา บัญญัติ เข้าชี้แจงทีมกฎหมายสู้คดียุบ ปชป. จาตุรนต์ บอกปชป.รอดยุบพรรคชี้ชัดสองมาตรฐาน เสี่ยงบ้านเมืองลุกเป็นไฟ
(14ก.ค.) พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทย กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเตรียมพิจารณาตัดสินคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ว่า ตนไม่ทราบเรื่องนี้ เพราะออกมาจากพรรคประชาธิปัตย์แล้ว ส่วนเรื่องนี้จะกระเทือนต่อเสถียรภาพของรัฐบาลหรือไม่นั้น เห็นว่าหากมีการยุบพรรคจริง รัฐบาลก็คงต้องไปด้วยและรัฐบาลจะแน่นเเหนียวอยู่หรือไม่ ตนก็ไม่ทราบ ตนเป็นเพียงตัวเล็ก ๆ เป็นเพียงเฟืองตัวเล็ก ไม่ใช่เฟืองตัวใหญ่เหมือนสมัยก่อน
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ มีข่าวว่าแกนนำรัฐบาลไปทาบทามพรรคเพื่อไทย เพื่อให้ร่วมรัฐบาล เพราะกลัวว่าหากถูกยุบแล้วเสียงจะหายไป จึงจำเป็นต้องให้มีเสถียรภาพ พล.ต.สนั่น กล่าวว่า ไม่ทราบ เราไม่ได้เป็นคนจัดการ
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ เตรียมทาบทามนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคแทน พล.ต.สนั่น กล่าวว่า เรื่องนี้ตนไม่ทราบ ส่วนจะมีการชิงยุบสภาก่อนการตัดสินยุบพรรคหรือไม่นั้น ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทย กล่าวว่า โดยนิสัยของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นคนไม่หนีปัญหา จึงเชื่อว่าคงไม่ชิงยุบสภาก่อนแแน่ รวมทั้งคงไม่ทำอะไรที่ทำให้ด่างพร้อยกับตัวเอง
“บัญญัติ” เข้าชี้แจงทีมกฎหมายสู้คดียุบ ปชป.
เมื่อเวลา 13.00 น. ที่พรรคประชาธิปัตย์ ได้มีการประชุมคณะทำงานฝ่ายกฎหมายเพื่อต่อสู้คดียุบพรรคประชาธิปัตย์ โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ซึ่งได้มีการเชิญบุคคลสำคัญที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีมาชี้แจงกับคณะทำงาน อาทิ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ปี 2545
นายบัญญัติ ให้สัมภาษณ์ว่า การมาในวันนี้เป็นการมาทบทวนเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ตนเป็นหัวหน้าพรรค เพราะฝ่ายค้านได้หยิบยกเรื่องนี้มาเป็นประเด็นอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งถือเป็นการทบทวนเรื่องเดิม เพราะพรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยรับเงินบริจาคจากนายประชัย เลี่ยวไพรัช ผู้บริหารบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ที่กล่าวหาว่ามีการทำนิติกรรมอำพรางคงจะเป็นความเข้าใจที่สับสน เพราะเรื่องเกิดขึ้นเมื่อปี 2548 ก็ต้องใช้กฎหมายพรรคการเมืองปี 2541 ที่ระบุไว้ว่าไม่ได้ห้ามพรรคการเมืองรับเงินบริจาคเกิน10 ล้านบาท จึงไม่จำเป็นต้องทำนิติกรรมอำพราง นอกจากนี้ กกต.ได้ยื่นสำนวนต่ออัยการสูงสุด ซึ่งทางอัยการสูงสุดได้ชี้แจงกลับมาว่าหลักฐานไม่แน่ชัดจึงต้องกลับไปดูกันใหม่ ตนเชื่อว่าคงไม่มีปัญหาเราก็สู้คดีกัน ทั้งนี้ ตนได้หารือกับนายชวนแล้วว่า ควรใช้คณะทำงานฝ่ายกฎหมายชุดเก่า ส่วนจะมีใครมาเสริมก็ต้องว่ากันอีกที เนื่องจากทีมกฎหมายคนเก่าได้ออกไปเป็นรัฐมนตรี
ผู้สื่อข่าวถามว่ามั่นใจในการต่อสู้คดีมากน้อยเพียงใด นายบัญญัติ กล่าวว่า การขึ้นศาลจะบอกว่ามั่นใจ 100 เปอร์เซ็นต์คงไม่ได้ เพราะหากคิดเช่นนั้นจะอยู่ในความประมาทมากเกินไป ซึ่งเราเมื่อมั่นใจว่าไม่ได้กระทำผิด มั่นใจในความยุติธรรมของศาล แต่ก็ประมาทไม่ได้ ต้องระมัดระวัง และรอบคอบ
เมื่อถามว่าประเด็นที่ต้องทบทวนความหลังคือประเด็นใด นายบัญญัติ กล่าวว่า คาดว่าเป็นเรื่องข้อเท็จจริง เพราะทั้ง 2 คดี ถือว่าคาบเกี่ยวกัน ซึ่งในคดีแรกระบุว่าได้รับเงินจาก กกต.มาทำป้ายหาเสียง แต่ไม่ทำ และถูกกล่าวหาว่าได้นำเงินของนายประชัยมาทำแทน และทำเป็นนิติกรรมอำพราง ซึ่งเราขอยืนยันว่าไม่เคยได้รับเงินสนับสนุนจากนายประชัย เพราะถ้ารับจริงคงไม่ต้องทำเป็นนิติกรรมอำพราง ทั้งนี้ ตนไม่แน่ใจว่า กกต.จะลืมไปหรือไม่ว่าตอนที่มีการเลือกตั้ง มีกฎหมายบังคับไว้ว่าพรรคการเมืองต้องเปิดบัญชีเพื่อการเลือกตั้ง ซึ่งเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองของ กกต. 29 ล้านบาท ก็ต้องอยู่ในบัญชีนั้นด้วย และมีการเช็คบัญชีทุกฉบับ เพราะต้องมีการสั่งจ่ายบัญชีดังกล่าวนี้ เพื่อใช้ในการท้ายหาเสียง ดังนั้น จึงอยากถามว่าเราไปเอาเงินของนายประชัยมาทำได้อย่างไร ส่วนเงินที่จ่ายให้กับคนทำป้ายหาเสียงไปแล้ว คนทำป้ายหาเสียงจะนำเงินไปใช้จ่ายอะไรก็เป็นเรื่องของเขา ไม่เกี่ยวกับเรา ซึ่งภารกิจแรกคือต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าเรานำเงิน 29 ล้านบาทมาทำป้ายจริง เพราะการเลือกตั้งไม่มีป้ายหาเสียงคงเป็นไปไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่าต้องสู้คดีอย่างตรงไปตรงมา อยู่ที่ข้อเท็จจริง
เมื่อถามว่าตามข้อกล่าวหาระบุว่ามีการโอนเงิน 258 ล้านบาท เข้าบัญชีบุคคลอื่นที่มีความใกล้ชิดกับกรรมการบริหารพรรคในขณะนั้น นายบัญญัติ กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องของบริษัทที่รับจ้างจากนายประชัย ซึ่งพรรคไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ความจริงต้องรอคำร้องขอยุบพรรคที่ศาลจะส่งมาให้แก้
เมื่อถามว่าที่ผ่านมา กกต.หรือคณะอนุกรรมการฯ เคยได้เรียกนายบัญญัติ ผู้เกี่ยวข้องไปชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ตามขั้นตอนกระบวนการที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ นายบัญญัติ กล่าวว่า หลังจากที่สมาชิกพรรคเพื่อไทยไปยื่นเรื่องกับ กกต. เพื่อให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งตนได้เดินตามแนวทางประวัติศาสตร์เก่า ตอนสมัยที่มีการร้องให้ยุบพรรคไทยรักไทย แต่บังเอิญขณะนั้นศาลเข้าใจพรรคประชาธิปัตย์จึงไม่ถูกยุบ และกลายเป็นการจองเวรกันต่อ ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาของพรรคการเมืองที่พร้อมจะให้มีการตรวจสอบ หากกระทำผิดก็ต้องว่าไปตามผิด ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ของกกต. ได้เชิญตน นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ เข้าไปชี้แจง จากนั้นคณะอนุกรรมการฯ ก็มีความเห็นว่าไม่ผิด เพราะพยานหลักฐานไม่เพียงพอ จะมีเพียงอนุบางคนเห็นว่าผิดเท่านั้น ก็ถือว่าจบไป จากนั้นก็มีการร้องให้ตรวจสอบใหม่ โดยมีการตั้งคณะอนุกรรมการฯ ขึ้นมาเป็นชุดที่2 ซึ่งตนคิดว่าการตั้งคณะอนุกรรมการฯ ขึ้นมา2 ครั้ง 2 หน เพราะพยานหลักฐานไม่พอหรืออย่างไร ทั้งนี้ ก็เห็นใจเพราะช่วงหลังมีสงครามนอกแบบเข้ามากดดันองค์กรอิสระต่างๆ มากขึ้น ทั้งนี้ เมื่อมีการตั้งคณะอนุกรรมการฯ ขึ้นมาชุดที่ 2 ก็ไม่ได้มีการเชิญตนหรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องไปชี้แจงอีก เขาคงไปดูพยาน หลักฐานเก่าที่มีอยู่ เพราะเมื่อมีคดีก็ต้องสู้คดีกันไป ผิดถูกอย่างไรอยู่ที่ใจ อยู่ที่ตัวของเรา ซึ่งรู้ดีกันอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ตนมั่นใจว่าศาลจะให้ความยุติธรรมได้
ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่ามีการตั้งพรรคสำรองเพื่อรองรับการยุบพรรค นายบัญญัติ กล่าวปฏิเสธว่า ตนไม่ทราบว่าเรื่องราวเป็นมาอย่างไร
“จาตุรนต์”บอกปชป.รอดยุบพรรคชี้ชัดสองมาตรฐาน
นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ได้ตั้งข้อสังเกตถึงคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ผ่านทางเว็บบล็อกส่วนในเว็บไซต์ทวิตเตอร์ดอทคอม ว่า ก่อนหน้านี้มีแต่ข่าวว่าผู้ใหญ่ในดีเอสไอและกระทรวงยุติธรรมถูกเรียกไปขู่ พนักงานสอบสวนคดียุบพรรคลาออกเป็นแถว รถถูกทุบเพื่อขโมยข้อมูล นอกจากนี้ก็มีข่าวว่าเจ้าหน้าที่ที่ทำคดีถูกขู่และดีเอสไอบางคนถูกสะกดรอย โดยคนของนายตำรวจที่อาจเกี่ยวพันกับผู้ที่จะพิจารณาคดียุบพรรค ถ้าต้องการให้คดีเป็นไปด้วยความยุติธรรมจริง พรรคประชาธิปัตย์ควรจะเรียกร้องให้คุ้มกันไม่ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีใครมาวิ่งเต้น โดยเฉพาะจากคนใน ปชป.(ประชาธิปัตย์) เอง ผมกลัวว่าการที่เจ้าหน้าที่ศาลเอาเอกสารมาส่งให้คนของ ปชป.อาจเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ กลัวจะมีเรื่องใหญ่กว่านั้นที่เรายังไม่รู้ก็ได้
นายจาตุรนต์ ยังระบุอีกว่า ข่าวเรื่องการจ้างทนายเพิ่ม การเตรียมตั้งพรรคสำรอง แสดงว่าปชป.คงรู้ว่าคดีนี้หนักมากและคงไปไม่รอดจริงเพราะพยานหลักฐานและข้อกฎหมายชัดเจน งานนี้ผู้มีอำนาจทั้งหลายคงต้องชั่งน้ำหนักว่าจะปล่อยปชป.ถูกยุบไปแล้วเริ่มกันใหม่หรือจะช่วยปชป. แต่จะทำให้คนยิ่งเห็นความเป็น 2 มาตรฐาน ถ้าปชป.ถูกยุบ กรรมการบริหารชุดที่เกิดเรื่องจะถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด ลงโทษเป็นบางคนไม่ได้ นายกฯก็จะพ้นจากตำแหน่งด้วย เรื่องนี้มาจากการออกประกาศ คปค.ฉบับที่ 27 ซึ่งต่อมาได้ถูกนำเข้าไปใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ ถ้าพรรคถูกยุบ ศาลจึงไม่มีทางตัดสินเป็นอย่างอื่น นักการเมืองคนสำคัญจำนวนมากของปชป.จะถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี เป็นการสูญเสียบุคลากรและทั้งๆที่หลายคนอาจไม่รู้เรื่องอะไรด้วยเลย ระบบกฎหมายนี้จึงเป็นระบบที่ไม่ส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย ทำให้บ้านเมืองเสียหายและระบบพรรคการเมืองอ่อนแอและขัดหลักนิติธรรม แต่จะไม่ลงโทษโดยอ้างเหตุผลดังที่ยกมาก็ไม่ได้ เพราะกฎหมายเขียนไว้อย่างนั้นและทำเป็นบรรทัดฐานผิดๆมาแล้วในเรื่องกฎหมายย้อนหลัง จะเว้นเฉพาะปชป.ไม่ได้ โดยสรุป ระบบกฎหมายที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและขัดหลักนิติธรรมที่เดิมทีมุ่งทำลายคนกลุ่มเดียวกำลังออกฤทธิ์กับปชป.เข้าแล้ว
อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ระบุอีกว่า ที่มีข่าวว่าอาจชิงยุบสภาก็เป็นไปได้สูง เพราะเมื่อพรรคถูกยุบ นายกฯก็จะพ้นสภาพ รัฐบาลก็จะอยู่ในสภาพแพแตกทันที ปชป.ก็อาจแตกกระจัดกระจาย การยุบปชป.จึงเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับผู้มีอำนาจทั้งหลาย เพราะอาจจะทำให้ทุกอย่างเสียหายไปหมด แต่ถ้าไม่ยุบก็ถูกมองว่าช่วยปชป.อย่างน่าเกลียด ถ้าไม่ยุบปชป.จากทั้ง 2 คดี ผู้คนก็จะสรุปว่าบ้านเมืองนี้ไม่มีความยุติธรรมชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก จะส่งผลเสียต่อสังคมไทยในระยะยาวอย่างรุนแรง ผมเสนอว่าควรใช้กฎหมายว่าด้วยการยุบพรรคกับปชป.เป็นพรรคสุดท้าย แล้วแก้ระบบกฎหมายในเรื่องนี้เสียใหม่ให้ถูกต้องตามหลักประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม ในทางตรงข้ามถ้าช่วยปชป.ให้รอดจากการยุบพรรคแล้วคงระบบกฎหมายนี้ไว้เพื่อเล่นงานพรรคอื่นไปเรื่อยๆอย่างที่ผ่านมา วันข้างหน้าบ้านเมืองอาจลุกเป็นไฟ
นายจาตุรนต์ ระบุว่า นี่ไม่ใช่การกดดันศาลรัฐธรรมนูญ ผมไม่ได้มีอำนาจหน้าที่อะไร เพียงแต่เป็นห่วงบ้านเมืองในฐานะคนที่ตกเป็นเหยื่อของความป่าเถื่อนของระบบปัจจุบัน ถ้าจะมีอะไรแนะปชป.บ้างก็คือนอกจากคิดยุบสภาเร็วขึ้นก็อาจให้นายกฯลาออกเสียก่อนเพื่อตั้งรัฐบาลใหม่ก่อนที่ศาลฯจะตัดสิน ก็ยังพอเป็นทางรอด อย่างไรก็ตามยังทิ้งท้ายด้วยว่า “เรื่องยุบพรรคปชป.ขอไว้เท่านี้ก่อนละครับ แค่นี้ก็ไม่รู้ว่าหัวหน้าปชป.จะสั่งให้โฆษกส่วนตัวออกมาลุยหรือเปล่า หรือจะให้ศอฉ.ปิดทวิตเตอร์ผม”
“วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์”เตรียมถอนตัวจากคดียุบปชป.
นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่ อัยการสูงสุด(อสส.) ได้ส่งคำร้องคดียุบพรรคประชาธิปัตย์จากข้อกล่าวหาที่พรรคอาจรับเงิน 258 ล้านบาทจากบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ผ่านบริษัท เมซไซอะ บิสิเนส แอนด์ ครีเอชั่น จำกัด โดยทำสัญญาสื่อว่าจ้างทำสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ เป็นนิติกรรมอำพราง ซึ่งอาจขัดต่อพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองมาให้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมนั้นว่า ขณะนี้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีการนัดประชุมเพื่อพิจารณาคดีดังกล่าวที่เพิ่งเข้ามาในศาลและไม่ทราบว่าจะมีการเรียกประชุมคณะตุลาการเพื่อพิจารณาคดีนี้ได้เมื่อใด เพราะคำร้องดังกล่าวเพิ่งเข้ามายังศาลและเข้าใจว่ากำลังรวบรวมเอกสารคำร้องอยู่ในชั้นสำนักงานให้เรียบร้อยก่อน
ดังนั้นคงต้องรอให้ทางสำนักงานโดยทางเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้เสนอวาระเข้ามายังที่ประชุมคณะตุลาการก่อนถึงจะมีการประชุมเพื่อกำหนดกรอบการพิจารณาในคดีดังกล่าวได้ ซึ่งคาดว่าน่าจะดำเนินการเหมือนคดี 29 ล้านบาท ส่วนจะรวมคำร้องทั้ง 2 คดีไว้หรือไม่นั้นก็ต้องแล้วที่ประชุมตุลาการ
นายวสันต์ กล่าวว่า คดียุบพรรคประชาธิปัตย์ล่าสุดที่เข้ามายังศาลรัฐธรรมนูญในคดีที่สองนั้นขณะนี้ตนได้ทำหนังสือแจ้งไปยังรองเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญฝ่ายงานคดีแล้วว่าตนจะไม่ขอรับสำเนาคำร้องที่ทางอสส.ได้ส่งมายังศาลเพื่อให้คณะตุลาการได้พิจารณา เพราะทราบว่าคดียุบพรรคประชาธิปัตย์จากเงิน 258 ล้านบาทนี้เป็นคำร้องที่ถูกร้องโดยนายเกียรติอุดม เมนะสวัสดิ์ ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทยซึ่งเหมือนคำร้องเดียวกันกับคดียุบพรรคประชาธิปัตย์จากการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง 29 ล้านบาท ที่ตนได้ขอถอนตัวจากองค์คณะตุลาการในการพิจารณาคดีตามข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย
ทั้งนี้เพราะตนได้เป็นคู่กรณีในการฟ้องนายเกียรติอุดม ฐานหมิ่นประมาทโฆษณาให้ตนได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงต่อศาลอาญาแล้วจากกรณีที่นายเกียรติอุดมและนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทยได้กล่าวหาว่าตนพบส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ดังนั้นหากมีการเรียกประชุมคณะตุลาการตนขออนุญาตถอนตัวในการพิจารณานี้ เพราะตนได้เป็นคู่ความกับคู่กรณีแล้วซึ่งอาจทำให้มีส่วนได้เสียในการพิจารณาคดีได้