
อาวุธทางความคิด
เพื่อนจากอีสานฝากหนังสือมาให้เล่มหนึ่งเมื่อวันก่อน แรกที่เห็นหน้าปก ก็นึกว่าเป็นหนังสือเก่า พอพลิกเข้าไปอ่านหน้าคำนำ จึงทราบว่าเป็นงานแปลชุดความคิดจากแผ่นดินมังกรยุคทุนแดง
"เพราะเหตุใด 6 ประการ...ศึกษาแนวความคิดประเทศจีน" คือชื่อหนังสือเล่มดังกล่าว แปลโดย สมาน ประชามิตร
พอเห็นงานทฤษฎีการเมืองชุดนี้ พลอยนึกถึงกระแสธารสังคมนิยมไหลบ่าท่วมขบวนการนักศึกษา หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516
จำได้ว่า ต้นปี 2517 มีการจัดนิทรรศการจีนแดง ที่หอใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอนนั้นมีหนังสือเกี่ยวกับเมืองจีนออกมาเผยแพร่มากมาย
อาทิ การปฏิวัติของจีน ,15 ปีในสาธารณรัฐประชาชนจีน, จีน-แผ่นดินแห่งการปฏิวัติตลอดกาล, จดหมายจากเมืองจีน, เหมาเจ๋อตง-เหมาผู้สร้างเหมา, จีนคอมมิวนิสต์-เรื่องของการต่อสู้บนผืนแผ่นดินใหญ่, ปรัชญานิพนธ์ประธานเหมาเจ๋อตง ฯลฯ
ย่างเข้าปี 2519 ยิ่งหนักเข้าไปอีก เมื่อหนังสือเล่มเล็ก โดยสำนักพิมพ์ชื่อแปลกๆ วางขายเกลื่อนตลาด
ส่วนมากเป็นงานแปลจากจีน หรือไม่ก็ย่อยทฤษฎีการปฏิวัติไทย มาไว้ในหนังสือเล่มเล็ก ศัพท์แสงฝ่ายซ้าย พ.ศ.นั้นเรียกมันว่า "อาวุธทางความคิด"
ผมลองไปสำรวจตรวจสอบดู พบว่า "นอร์แมน เบทูน นายแพทย์นักรบจิตใจสากลนิยมผู้ยิ่งใหญ่" แปลโดย ศรีนรา สำนักพิมพ์ประชาชน ราคา 5 บาท
"หนทางการปฏิวัติไทย เอกราช ประชาธิปไตยที่แท้จริง มิใช่จะได้มาด้วยลัทธิปฏิรูป หากด้วยการปฏิวัติ" สำนักพิมพ์ปฏิวัติ ราคา 2 บาท เล่มนี้สีแดงจัด
มินับ "ใต้ธงปฏิวัติ" ราคา 4 บาท, "การปฏิวัติประเทศไทย" ราคา 3 บาท และ "สงครามปฏิวัติ" ราคา 4 บาท
ส่วนที่ว่าด้วยชีวทรรศน์ ต้องเล่มนี้ "รักความเป็นธรรมสู่การเป็นนักปฏิวัติโดยสมบูรณ์" ราคา 1 บาท
อาวุธทางความคิดสมัยโน้นราคาถูกมาก เพราะผู้จัดพิมพ์เจตนาจะแจกฟรีเสียมากกว่า เพื่อให้คนได้อ่านกันมากๆ
ส่วนชุดความคิดธงแดงกลางกระแสทุน "เพราะเหตุใด 6 ประการ" ขายเล่มละ 100 บาท อาจหาซื้อยากสักนิด
"หนังสือนี้แปลจากบทความที่เผยแพร่โดย กรมทฤษฎี กระทรวงโฆษณาการ ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งต้องถือว่าเป็นเอกสารทางการ บทความนี้จึงเป็นการสะท้อนแนวความคิดของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่มีต่อประเด็นปัญหาต่างๆ อย่างละเอียดลึกซึ้ง"
ผู้แปลได้แนะนำไว้สั้นๆ ซึ่งต้นฉบับภาษาจีน ได้รับการเผยแพร่เมื่อปลายปีที่แล้ว จึงมีความน่าสนใจว่า เหตุใดจีนจึงต้องศึกษาลัทธิมาร์กซ์? ลัทธิสังคมนิยม?
ผมเข้าใจว่า สมาน ประชามิตร ต้องเป็นสหายอาวุโส ที่ผ่านการร่ำเรียนบนแผ่นดินใหญ่ จึงร้อยเรียงทฤษฎี "ลัทธิสังคมนิยมแบบอัตลักษณ์จีน" ได้น่าอ่านยิ่ง
ในตอนที่ 1 "ธงที่ชักนำให้เรารุดไปข้างหน้า" มีข้อความตอนหนึ่งที่ตอกย้ำว่า
"ลัทธิมาร์กซ์เป็นศิลาจารึกทางความคิดอันสูงใหญ่ ที่เป็นอมตะของประวัติศาสตร์อารยธรรมของมนุษยชาติ นักวิชาการชาวฝรั่งเศสผู้หนึ่งกล่าวไว้ว่า ไม่มีมาร์กซ์ ไม่มีความทรงจำต่อมาร์กซ์ก็จะไม่มีอนาคต ไม่ไปอ่านแล้วทบทวนซ้ำแล้วซ้ำอีก และไม่ไปอภิปรายเกี่ยวกับมาร์กซ์ ก็จะเป็นความผิดพลาดไปตลอดกาล"
เชื่อว่าหลายคนคงสงสัยว่า จีนเป็นทุนนิยมอยู่ทนโท่ ไฉนเลยยังมีคนมาเขียนเรื่องลัทธิสังคมแบบอัตลักษณ์จีนอยู่อีกเล่า?
ลองอ่านดูก็ได้ ไม่เสียหาย อย่างน้อยได้รู้จักจีนใหม่ในอีกด้านหนึ่ง ซึ่งใช่มีแต่เรื่องเงินหยวนที่ไม่หยวน!
แคน สาริกา