
นก"อ้ายงั่วเผือก"ตัวแรกของโลก
เมื่อเกือบ 3 ปีที่แล้ว ได้สร้างความฮือฮาต่อวงการนักอนุรักษ์สัตว์และนักดูนกทั่วโลกก็ว่าได้ วันนี้ตรงกับเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2549 โดยทีมของหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์โดย คุณบัณฑิต น้อยยาโน ที่ผู้เขียนเป็นหัวหน้าทีม
ได้พบนก "อ้ายงั่ว" เผือกตัวแรกของประเทศไทย และดูตามสถิติแล้วทราบว่าเป็นนกอ้ายงั่วเผือกตัวแรกของโลกด้วย ซึ่งพบบริเวณวัดห้วยจันทร์ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ต.โคกตูม อ.เมือง จ.ลพบุรี หลังจากนั้นอีกไม่นาน ไม่มีใครพบเจ้าอ้ายงั่วเผือกซึ่งมีหนึ่งเดียวในโลกอีกเลย
นกอ้ายงั่วเผือก ไม่มีใครทันได้ศึกษาว่าเกิดมาจากอะไร แต่เท่าที่เห็นจากการส่องกล้องแล้ว มีรูปร่างและหน้าตาเหมือนกับนกอ้ายงั่วทั่วไป เพียงแต่ทั้งตัวเป็นสีขาว สวยงามอย่างน่ามหัศจรรย์ และคนทั่วไปมักจะเชื่อกันว่าสัตว์ที่สีผิดแผกไปจากเดิมถือเป็นสัตว์มงคล
ปัจจุบันกอ้ายงั่วนับเป็นนกที่หายากขึ้นมาทุกปี เพราะปริมาณประชากรนกชนิดนี้ในแหล่งธรรมชาติได้ลดน้อยลงอย่างน่าใจหาย ถือเป็นนกน้ำขนาดค่อนข้างใหญ่ ลักษณะจะคล้ายกับนกกาน้ำมาก ลำตัวยาวขนาดประมาณ 81-97 ซม. จัดจากปลายปากถึงปลายหาง หัวขนาดเล็กมากเล็กเกือบเท่าคอ
ลักษณะพิเศษของนกอ้ายงั่วที่ต่างจากนกทั่วไปคือ กระดูกคอชิ้นที่ 8 และชิ้นที่ 9 จะมีการปรับให้หดคอเป็นรูปตัว S ได้ กล้ามเนื้อคอที่แข็งแรง ช่วยให้การพุ่งปากเข้าหาเหยื่อเหมือนลูกดอก นกอ้ายงั่วทั่วไป สีดำ ขนคลุมปีกด้านบนสีขาว สีเงิน หรือเป็นเส้น ทำให้เห็นเป็นแถบสีจางหรือสีเงินบนปีก เพศเมียจะมีสีจางกว่าเพศผู้ ส่วนนกวัยอ่อนจะมีสีที่จางกว่านกเพศเมียหรืออาจมีสีน้ำตาลอ่อน
จากการค้นพบปัจจุบันนกอ้ายงั่วมีอยู่ 4 สายพันธุ์ทั่วโลก คือ นกอ้ายงั่วอเมริกา นกอ้ายงั่วแอฟริกา นกอ้ายงั่วออสเตรเลีย และนกอ้ายงั่วเอเชีย หรือนกอ้ายงั่วตะวันออก คือสายพันธุ์ที่พบในประเทศไทย ปัจจุบันมักไม่ค่อยพบเห็นนกอ้ายงั่วในธรรมชาติมากนัก อาจเนื่องจากถูกล่า รวมทั้งแหล่งที่อยู่อาศัยถูกทำลายหรือถูกรบกวน เนื่องจากนกอ้ายงั่วจะเป็นนกที่ขี้ระแวงและตกใจง่าย
สำหรับประเทศไทยพบนกอ้ายงั่วทำรังวางไข่ที่บ้านลุงสน สรจันทร์แดง บ้านคลองมะละกอใต้ อ.เมือง จ.สระแก้ว นอกจากพบที่ทำรังที่วัดห้วยจันทร์ ต.โคกตูม อ.เมือง จ.ลพบุรี ยังพบที่บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ และที่บ้านวังเป็ด อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก
ดร.ขจรศักดิ์ จัยวัฒน์