ข่าว

ชี้ข่าวบันเทิงฟรีทีวีโฆษณาแฝงอื้อพบเนื้อหาเน้นการโปรโมท-แนะรัฐควบคุมมาตรฐาน

ชี้ข่าวบันเทิงฟรีทีวีโฆษณาแฝงอื้อพบเนื้อหาเน้นการโปรโมท-แนะรัฐควบคุมมาตรฐาน

17 มิ.ย. 2553

มีเดีย มอนิเตอร์ระบุพบโฆษณาแฝงในรายการข่าวบันเทิงฟรีทีวีถึง 70% ทั้งผ่านเบื้องหลังการถ่ายทำ-ในละคร อีเวนท์ต่างๆ ชี้เนื้อหาเน้นประเด็นความรักและการโปรโมท นักวิชาการแนะรัฐดูแลมาตรฐานจัดระดับความเหมาะสม ด้านผู้ผลิตยอมรับการแข่งขันและต้นทุนสูงเลี่ยงเรื่องการ

 โครงการศึกษาเฝ้าระวังสื่อและพัฒนาการรู้เท่าทันสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม (มีเดีย มอนิเตอร์) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำรวจเรื่อง "รายการข่าวบันเทิงในฟรีทีวี" ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2552 พบว่ามีทั้งสิ้น 30 รายการ รวมเวลาออกอากาศ 2,315 นาทีต่อสัปดาห์ โดยช่อง 3 ออกอากาศมากที่สุด ตามมาด้วย ช่อง 5, ช่อง 7, ช่อง 9, ช่อง 11 และทีวีไทย ตามลำดับ

 นายธาม เชื้อสถาปนศิริ ผู้จัดการกลุ่มงานวิชาการ มีเดีย มอนิเตอร์ กล่าวว่า จากการติดตามพบว่า รายข่าวบันเทิงในฟรีทีวีส่วนใหญ่มีโฆษณาทางตรงและแฝง โดยพบ 10 รายการโฆษณาตรงเกินกำหนดของ พ.ร.บ.ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ที่กำหนดไว้ไม่เกิน 12.5 นาทีต่อรายการ 1 ชั่วโมง และมีโฆษณาแฝง 70% ผ่านรูปแบบเบื้องหลังการถ่ายทำละคร ภาพยนตร์ แฝงในกิจกรรมการดำเนินชีวิตของดารา นักร้อง แฝงในกิจกรรมสังคมและอีเวนท์ แฝงในรูปแบบการเปิดตัวสินค้า และธุรกิจของดารา นักร้อง

 ส่วนเนื้อหาที่นำเสนอมากที่สุด คือ ข่าวคนดัง ดารา นักร้อง 56% เน้นประเด็นความรัก รองลงมาเป็นข่าวโปรโมทละคร กิจกรรม และสินค้า 31% และข่าวศิลปวัฒนธรรม 12% และพบว่ามีเนื้อหามีผลกระทบต่อสังคม 5.23% ในประเด็นเกี่ยวกับเรื่องลามก อนาจาร เพศ ความรุนแรง การหมิ่นประมาท ข่าวละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ใช้ภาษาแบบแซวจิกกัด แบบขำขัน หวือหวา และภาษาสองแง่สองง่าม ที่สื่อความหมายเกี่ยวกับเรื่องเพศ

 "มีเดีย มอนิเตอร์ มีข้อเสนอแนะให้รายการข่าวบันเทิงเพิ่มสัดส่วนเนื้อหาประเภทศิลปวัฒนธรรม สารคดีข่าวบันเทิง ที่นำเสนอคนทำงานเบื้องหลัง ระวังการใช้คำสแลง และลดข่าวที่ส่งผลกระทบต่อสังคม" นายธามกล่าว

 ผศ.ดร.ชวนะ ภวกานันท์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและการวางแผน คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า รายการข่าวบันเทิงไทยมีการแข่งขันสูง โดยเฉพาะการทำตลาด การสร้างแบรนด์ จึงเลือกนำเสนอประเด็นที่ประชาชนให้ความสนใจ และใช้ภาษาไม่สุภาพ จึงต้องการให้ภาครัฐดูแลมาตรฐานและจัดระดับความเหมาะสมของสื่อ

 ด้านนายธิติพร จุติมานนท์ โปรดิวเซอร์รายการไนน์ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ ทางช่อง 9 กล่าวว่า ข่าวบันเทิงมีการแข่งขันและต้นทุนการผลิตสูง บางครั้งต้องดำเนินการตามแผนการตลาดที่แยบยลของนักการตลาด และเอเยนซี ที่ต้องการวางสินค้า แสดงโลโก้ ซึ่งอาจเข้าข่ายโฆษณาแฝง ขณะที่การติดตามทำข่าวดารา นักร้องในงานอีเวนท์ จะถูกเจ้าของงานกำหนดจุดให้สัมภาษณ์ที่มีภาพเบื้องหลังเป็นชื่อสินค้าและโลโก้ ซึ่งบางครั้งเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก