
ผลกระทบ...สัตว์และพันธุ์พืชถนนทะลวงป่าเขาใหญ่
เสียงโค่นป่าระเบิดเนินหินดังกึกก้องตลอดเส้นทางมุ่งหน้าสู่ผืนป่ามรดกโลก ดงพญาเย็น หรือดงพญาไฟ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เพียงเพื่อนำความเจริญเข้าไป ทางกลับกันกลับรุกรานผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ ย่ำยีวิถีธรรมชาติอย่างยากทำใจ !?!
ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ โดยคณะกรรมการมรดกโลกแห่งองค์การยูเนสโก เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2548 นับเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งที่ 2 ของไทย ต่อจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง
มรดกโลกแห่งนี้ตั้งอยู่บนเทือกเขารอยต่อที่ราบลุ่มภาคกลางกับที่ราบสูงโคราช ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติปางสีดา อุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ จ.นครราชสีมา สระบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว และบุรีรัมย์ เป็นถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าหายากมากมาย เช่น ช้าง เสือโคร่ง กระทิง วัวแดง นกเงือก รวมถึงสิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธุ์อีกหลากหลายชนิด
กระทั่งโครงการไทยเข้มแข็งที่กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ใช้งบประมาณ 69 ล้านบาท ขยายถนนสาย 2090 หรือถนนธนะรัชต์ จาก ต.หนองน้ำแดง เรื่อยไปจนถึง ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ไปจนสุดหน้าด่านอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จาก 2 ช่องเป็น 4 ช่องจราจร เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ 1 มีนาคม 2553 กำหนดแล้วเสร็จตุลาคม 2553 ขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว 9 กิโลเมตร อยู่ระหว่างดำเนินการต่ออีก 10 กิโลเมตร เพื่อแก้ปัญหารถติดในช่วงเทศกาล
การขยายถนนมีการระเบิดเนินเขา โค่น และตัดต้นไม้ใหญ่จำนวนมากตลอดสองข้างทาง โดยเฉพาะต้นตะแบกอายุกว่า 50 ปี รวมทั้งไม้เล็กไม้ใหญ่นานาพันธุ์ ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์อยู่คู่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ แลกกับถนนที่กว้างใหญ่ขึ้นและผู้ได้รับประโยชน์โดยตรง คือ ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท และสนามกอล์ฟที่ผุดขึ้นมากมาย
"วิจารณ์ อมรวิจิตร" นายกสมาคมสถาบันเกษตรกรไทย บอกว่า การขยายช่องจราจรนี้ไม่ได้ทำประชาคมเลย เป็นการปรึกษาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและนักธุรกิจเท่านั้น ไม่มีการเรียกประชุมผู้ที่ได้รับผลกระทบ ขณะนี้ได้มอบหมายให้ทนายความเข้าไปตรวจสอบ เพื่อยื่นเรื่องร้องศาลปกครองให้ระงับการก่อสร้างแล้ว
โครงการขยายถนนเพื่อมุ่งเข้าสู่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ส่งผลกระทบต่อพืชพันธุ์ ไม้ยืนต้นอายุ 40-60 ปี ที่ชาวบ้านรักษาเอาไว้ตั้งแต่การต่อสู้เมื่อครั้งตัดถนนเข้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ครั้งแรก พอมาถึงการขยายช่องทางการจราจรครั้งนี้กลับถูกตัดทำลาย แล้วปลูกต้นไม้เล็กๆ ทดแทน 50 ปีก็ไม่รู้ว่าต้นไม้จะเติบโตหรือเปล่า
"ทวิสันต์ โลณานุรักษ์" ประธานสมัชชาสิ่งแวดล้อมนครราชสีมา ให้ความคิดเห็นว่า การที่รัฐบาลจะนำความสะดวกสบายเข้าไปสู่แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติติดอันดับโลก ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติสิ่งแวดล้อมเสียหาย ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และปกป้องผืนป่าที่ยังหลงเหลืออยู่ใน จ.นครราชสีมา เพียง 9 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด
ขณะที่ ศิลปินเพลงเพื่อชีวิตอย่าง "พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ" กลับเห็นต่างออกไป เขาให้ความสำคัญกับเรื่องที่กรมป่าไม้ตัดถนนรอบอุทยานเขาใหญ่ อ้างเป็นพื้นที่ป้องกันไฟป่ามูลค่ากว่า 300 ล้านบาทมากกว่า เพราะมีการตัดต้นไม้ไปหลายพันต้น ถนนก็ไม่ได้ใช้ ชาวบ้านประท้วงกลับไม่ฟัง มาครั้งนี้การตัดถนนของกรมทางหลวงไม่เกี่ยวข้องกับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เลย
"การขยายถนนเป็น 4 เลน ต้องไปถามชาวบ้านว่าเขาต้องการหรือเปล่า และการตัดถนนครั้งนี้ต้องอธิบายให้ได้ว่า กระทบเรื่องอะไร ตรงไหนบ้าง เพราะพื้นที่ที่มีการขยายถนนไม่เกี่ยวกับอุทยาน มีแต่สถานบันเทิง โรงแรม รีสอร์ท ดังนั้น จึงไม่มีสัตว์ป่าออกมาเดินถนนบริเวณนี้" ศิลปินเพลงเพื่อชีวิตให้ความเห็น
ด้าน "มาโนชย์ การพนักงาน" หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มองว่า การขยายถนนผลกระทบโดยตรงต่ออุทยานไม่มี เพราะตัดตามเส้นทางของกรมทางหลวง มีการขออนุญาตกรมป่าไม้แล้ว แต่จะส่งผลกระทบทางอ้อมต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการตัดต้นไม้ใหญ่ ภูมิทัศน์เสียหาย ขาดความร่มรื่น รวมทั้งกระทบต่อสัตว์ป่า ไม่ว่าจะเป็นนก กระรอก กระแต ที่เดินทางโดยใช้ยอดไม้เชื่อมโยงระหว่างป่า ที่สำคัญ คือ อุโมงค์ต้นไม้หลัก กม.9-10 ทั้งสองฝั่งถนนเป็นหุบเขาป่าสงวน สัตว์จะใช้ต้นไม้ข้ามถนน เมื่อตัดต้นไม้จะทำให้สัตว์ไม่ปลอดภัย เสี่ยงต่อการถูกรถชน เพราะต้องวิ่งข้ามถนนแทน
อย่างไรก็ดี การที่กรมทางหลวงขยายถนนโดยอ้างว่าแก้ปัญหาจราจรคงช่วยได้ระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะช่วงที่รถติดมากๆ เป็นช่วงเทศกาลวันหยุดติดต่อกัน ช่วงที่มีประชาชนมาเที่ยวมากที่สุดคือหน้าเทศกาลเท่านั้น แต่เมื่อมีการขยายถนนให้กว้างขึ้น เกิดความสะดวกสบายมากขึ้น แต่อุทยานก็จำกัดจำนวนคนที่จะมาท่องเที่ยวและเข้าพัก จุดกางเต็นท์ไม่เกิน 2,000 คน รวมในพื้นที่เขตอุทยานแล้วไม่เกิน 5,000 คน ขณะนี้ ได้ย้ายเจ้าหน้าที่ที่พักอยู่ด้านบนอุทยานเขาใหญ่ให้ลงมาพักอยู่ด้านล่าง เพื่อลดจำนวนผู้ที่พักอาศัยอยู่บนอุทยานแล้ว 16 ครอบครัว
ชยานนท์ ปราณีต