ข่าว

"พญาช้าง-นางผมหอม" ตำนานของชาวภูหลวง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ภูหลวง เป็นชื่อภูเขาและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งพื้นที่ครอบคลุม อ.ด่านซ้าย อ.วังสะพุง และ อ.ภูหลวง จ.เลย

  นามที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ภูหลวง” เพราะเป็นภูเขาสูงใหญ่ อุดมด้วยพรรณไม้ สัตว์ป่านานาชนิด เป็นต้นกำเนิดแม่น้ำเลย แม่น้ำป่าสัก

 อ.ภูหลวง ยังมีนิทานท้องถิ่น “พญาช้าง-นางผมหอม” ที่เล่าขานกันจนกลายเป็นงานประเพณีประจำปีถึงทุกวันนี้

 นิทานมีอยู่ว่า หญิงสาวหน้าตาสวยงาม เส้นผมมีกลิ่นหอมชื่อ “นางผมหอม” มีน้องสาวชื่อ “นางลุน” นางผมหอมเป็นลูกของพญาช้างที่อาศัยอยู่ในป่าภูหอ ส่วนนางลุนเป็นลูกของวัวป่า
 
 วันหนึ่งนางทั้งสองได้ไปตามหาพ่อ จนไปเจอกับพญาช้างเชือกหนึ่งจะเข้ามาทำร้าย ด้วยความกลัวทั้งสองจึงยกมือไหว้เพื่อขอชีวิต พญาช้างเห็นนางทั้งสองก็สังหรณ์ว่าจะเป็นลูกของตน จึงอธิษฐานว่าถ้าคนไหนเป็นลูกก็ขอให้ปีนงาขึ้นมาขี่หลังตนได้

 นางผมหอมขึ้นไปนั่งบนหลังของพญาช้างได้ แต่นางลุนตกลงมา เมื่อพญาช้างรู้ว่านางลุนไม่ใช่ลูก ก็โมโหเหยียบนางลุนตาย แล้วจึงพานางผมหอมเข้าไปอยู่ในป่าภูหอกับตนและสร้างปราสาทให้อยู่หนึ่งหลัง

 นางผมหอมชอบไปอาบน้ำที่ “หนองบัว” (คือบ้านหนองบัว ต.ภูหอ อ.ภูหลวง) และที่ “ลำธารห้วยหอม” (คือ ต.หนองคัน อ.ภูหลวง)

 วันหนึ่งนางผมหอมเอาเส้นผมของตน และสารรักใส่ในผอบลอยตามแม่น้ำเลย มาถึง “เมืองเซไล” (เชื่อว่าคือบ้านทรายขาว ต.ทรายขาว อ.วังสะพุง) ท้าววรจิตร เจ้าชายเมืองเซไลเก็บได้จึงเขียนสารรักตอบและลอยผอบลงน้ำ ผอบลอยทวนน้ำขึ้นไปยังต้นน้ำปากห้วยหอมที่ป่าภูหอ ท้าววรจิตรจึงตามไปพบนางผมหอม ทั้งคู่รักกัน เมื่อพญาช้างรู้เข้าก็โมโหใช้งางัดหินขึ้นจนเกลื่อนกลาดดังปรากฏที่ภูหอปัจจุบัน

 พญาช้างเสียใจร้องไห้ เป็นที่มาของ “หนองน้ำตาช้าง” พร้อมสั่งเสียนางผมหอมว่าให้เป็นภรรยาที่ดี และถ้าสิ้นใจให้เอางามาทำเป็นเรือเพื่อพาลูกและสามีกลับเมืองเซไล

 แล้วพญาช้างก็สิ้นใจที่ “เดิ่นช้างตาย” เมื่อเก็บศพพ่อเสร็จ นางผมหอมได้เอางาและกระดูกทำเรือตามที่พ่อสั่งเสียแล้วกลับเมืองเซไล

 นิทานท้องถิ่นนอกจากเป็นเสน่ห์ให้ท้องถิ่นนั้นๆ แล้ว ยังเป็นประวัติศาสตร์ชุมชนให้ได้ศึกษาความเป็นมาของบ้านเมือง ที่มีค่าไม่น้อยกว่าสิ่งใด

"เรือนอินทร์ หน้าพระลาน"

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ